การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. A กู้เงิน B 100,000 บาท โดยนําโฉนดที่ดินมอบไว้ให้ B ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้ โดยมี C ทําหนังสือค้ำประกันไว้โดยระบุในสัญญาว่าขอค้ำประกันแต่เฉพาะเงินต้น 100,000 บาท เท่านั้น ไม่รวมดอกเบี้ย และค่าอุปกรณ์อื่น ๆ อีก ต่อมาเมื่อ A ผิดนัดชําระหนี้ B เจ้าหนี้ได้ทําหนังสือถึง C ผู้ค้ําประกันว่า ลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ C มาชําระหนี้แทน A

ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่า C ผู้ค้ําประกันจะเกี่ยงให้ A ชําระหนี้ก่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 “อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริง ก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จํานวนเงินสูงสุดที่ ค้ำประกัน…”

มาตรา 689 “ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้นั้นจะไม่เป็นการ ยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชําระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ A กู้เงิน B 100,000 บาท ต่อมาเมื่อ A ผิดนัดชําระหนี้ B เจ้าหนี้ ได้ทําหนังสือถึง C ผู้ค้ําประกันว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้วให้ C มาชําระหนี้แทน A และ C ผู้ค้ำประกันจะเกี่ยงให้ A ชําระหนี้ก่อน (เกี่ยงให้ B เจ้าหนี้บังคับชําระหนี้เอาจาก A ก่อน) ได้หรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีแรก การที่ A กู้เงิน 8 แล้วนําโฉนดที่ดินมอบไว้ให้ B ยึดถือไว้เป็นประกันหนี้นั้น ไม่ถือว่า เป็นการจํานองตามมาตรา 702 และไม่ถือว่าเป็นการจํานําตามมาตรา 747 แต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่ถือว่า B เป็น เจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 690 กล่าวคือ B เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ดังนั้น C ผู้ค้ำประกันจะเกี่ยงโดยการร้องขอให้เจ้าหนี้ไปเรียกชําระหนี้เอาจากลูกหนี้ก่อนตามมาตรา 690 ไม่ได้

 

กรณีที่ 2 ในการที่ A กู้เงิน 8 ครั้งนี้ C ได้ทําหนังสือค้ําประกันไว้โดยระบุไว้ในสัญญาว่า ขอค้ำประกันแต่เฉพาะเงินต้น 100,000 บาทเท่านั้น ไม่รวมดอกเบี้ยและค่าอุปกรณ์อื่น ๆ อีก ซึ่งเป็นการค้ําประกัน อย่างจํากัดความรับผิด และถูกต้องตามมาตรา 680 และ 681 ดังนั้น C ผู้ค้ำประกันจึงมีสิทธิเกี่ยงให้ B เจ้าหนี้ ไปเรียกบังคับชําระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนได้ตามมาตรา 689 แต่ C ผู้ค้ำประกันจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้นั้นไม่เป็นการยาก กล่าวคือ พิสูจน์ให้เห็นว่าลูกหนี้ ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกที่เจ้าหนี้สามารถบังคับเพื่อชําระหนี้ได้และการบังคับเอาจากทรัพย์สินเหล่านั้นก็ไม่เป็นการยาก

สรุป

C ผู้ค้ำประกันสามารถเกี่ยงให้ B เจ้าหนี้ไปบังคับชําระหนี้เอาจากทรัพย์สินของ A ลูกหนี้ ก่อนได้ตามมาตรา 689 โดยพิสูจน์ให้ได้ว่า A ลูกหนี้มีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการบังคับให้ A ลูกหนี้ชําระหนี้นั้น ไม่เป็นการยาก

 

 

ข้อ 2. หากเจ้าหนี้จํานองต้องการบังคับจํานองโดยการขายทอดตลาดจะต้องส่งคําบอกกล่าวไปให้ใครบ้าง และหากเจ้าหนี้ไม่ส่งคําบอกกล่าวไปให้บุคคลที่กฎหมายระบุคนใดคนหนึ่งจะมีผลอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 728 “เมื่อจะบังคับจํานองนั้น ผู้รับจํานองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อน ว่าให้ชําระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและ ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่ง จํานองและให้ขายทอดตลาดก็ได้

ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นกรณีผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ อันบุคคลอื่นต้องชําระ ผู้รับจํานองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้ผู้จํานองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจํานองมิได้ดําเนินการภายในกําหนดเวลาสิบห้าวันนั้นให้ผู้จํานองเช่นว่านั้น หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็น อุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว

ตามบทบัญญัติมาตรา 728 ดังกล่าวข้างต้น เป็นบทบัญญัติที่กล่าวถึงวิธีการในการบังคับจํานอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ได้มีการแก้ไขใหม่ โดยหากเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจํานองต้องการบังคับจํานองโดยการขายทอดตลาด ทรัพย์สินที่จํานอง จะต้องส่งคําบอกกล่าวไปให้ใครบ้าง และหากเจ้าหนี้ไม่ส่งคําบอกกล่าวไปให้บุคคลที่กฎหมาย ระบุแล้วจะมีผลอย่างไรนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ

1 ถ้าลูกหนี้เป็นผู้จํานองทรัพย์สินของตนเองไว้เพื่อประกันหนี้ที่ตนต้องชําระ (มาตรา 728 วรรคหนึ่ง)

ในกรณีนี้ เจ้าหนี้ผู้รับจํานองจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ลูกหนี้ ชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคําบอกกล่าวนั้น ถ้าและ ลูกหนี้ละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งให้ยึด ทรัพย์สินซึ่งจํานองและให้นําออกขายทอดตลาดได้

 

แต่ถ้าหากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลทําให้เจ้าหนี้ ไม่มีอํานาจฟ้องบังคับจํานอง ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องบังคับจํานองศาลก็จะไม่รับฟ้อง แต่จะสั่งให้เจ้าหนี้ไปส่งคําบอกกล่าว แก่ลูกหนี้ใหม่

2 ถ้าผู้จํานองเป็นบุคคลอื่นซึ่งได้จํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ที่ลูกหนี้ จะต้องชําระ (มาตรา 728 วรรคสอง)

กรณีนี้ เจ้าหนี้ผู้รับจํานองจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวดังกล่าว (หนังสือบอกกล่าวแก่ ลูกหนี้ตามมาตรา 728 วรรคหนึ่ง) ให้ผู้จํานองทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าเจ้าหนี้มิได้ดําเนินการภายในกําหนดเวลา 15 วันนั้น ย่อมมีผลทําให้ผู้จํานองหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย และค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชําระหนี้ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้น นับแต่วันที่พ้นกําหนดเวลา 15 วันดังกล่าว

 

 

ข้อ 3. นายเพื่อนกู้เงินนายแพง 100,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง และเพื่อประกันการชําระหนี้ นายเพื่อนนํานาฬิกาข้อมือราคา 200,000 บาท มาส่งมอบให้นายแพง ต่อมาหนี้ถึงกําหนดชําระ ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 นายเพื่อนไม่ชําระหนี้ และนายแพงทราบจากนายพันบิดาของ นายเพื่อนว่า นายเพื่อนมีเจ้าหนี้หลายรายไม่มีเงินพอจะชําระหนี้ได้ จึงหลบหนีไปต่างประเทศ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 นายแพงจึงลงประกาศขายนาฬิกาเรือนนั้น ทาง Website ในราคา 200,000 บาท โดยมีนายพลตกลงซื้อและชําระเงินในวันที่ 1 มีนาคม 2560 เมื่อได้รับเงินนายแพงจึงหักเงิน 100,000 บาท ชําระหนี้ตน และนํา 100,000 บาท ส่งมอบให้นายพัน ดังนี้ การกระทําของนายแพงชอบด้วยกฎหมายลักษณะจํานําหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย ประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้ แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขาย ทอดตลาดด้วย”

มาตรา 765 “ถ้าไม่สามารถจะบอกกล่าวก่อนได้ ผู้รับจํานําจะเอาทรัพย์สินจํานําออกขาย ทอดตลาดเสียในเมื่อหนี้ค้างชําระมาล่วงเวลาเดือนหนึ่งแล้วก็ให้ทําได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายสัญญาจํานํานั้น เป็นสัญญาระหว่างผู้จํานําตกลงกับเจ้าหนี้ โดยส่งมอบ สังหาริมทรัพย์เพื่อประกันการชําระหนี้ไว้กับเจ้าหนี้ ซึ่งผู้จํานําจะเป็นตัวลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่บุคคล ผู้เข้าทําสัญญาจํานําต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และสัญญาจํานํานั้นกฎหมายมิได้บังคับว่าจะต้องทําเป็นหนังสือ ดังนั้นสัญญาจํานําเพียงแต่ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ที่จํานําก็เป็นสัญญาที่สมบูรณ์แล้ว (มาตรา 747)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเพื่อนกู้เงินนายแพง 100,000 บาท และได้นํานาฬิกาข้อมือราคา 200,000 บาท ส่งมอบให้แก่นายแพงเพื่อประกันการชําระหนี้นั้น ย่อมเป็นสัญญาจํานําและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้การจํานําจะไม่มีการทําสัญญาจํานําเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม (มาตรา 747)

และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระนายเพื่อนลูกหนี้ไม่ชําระ การที่นายแพงต้องการบังคับจํานําคือ ต้องการขายนาฬิกาเพื่อนําเงินมาชําระหนี้นั้น นายแพงผู้รับจํานําย่อมมีสิทธิบังคับจํานําได้แต่จะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 764 กล่าวคือ นายแพงจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชําระหนี้ ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ชําระหนี้ ตามคําบอกกล่าว นายแพงสามารถนําทรัพย์สินคือนาฬิกานั้นออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764 แต่ถ้าเป็น กรณีที่นายแพงไม่สามารถจะบอกกล่าวเช่นนั้นได้ นายแพงจะนําทรัพย์สินออกขายทอดตลาดได้ก็จะต้องรอให้ หนี้ค้างชําระมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้วตามมาตรา 765

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และนายเพื่อน ไม่ชําระหนี้นั้น แม้นายแพงจะมีสิทธิบังคับจํานําก็ตาม แต่เมื่อนายแพงไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 764 และมาตรา 765 กล่าวคือ เมื่อนายแพงไม่สามารถบอกกล่าวแก่นายเพื่อนให้ชําระหนี้ได้ เนื่องจากนายเพื่อนได้หลบหนีไปต่างประเทศ แล้วนั้น นายแพงไม่ได้รอให้หนี้ค้างชําระมาเป็นเวลา 1 เดือนก่อน แต่ได้เอานาฬิกาซึ่งเป็นทรัพย์สินจํานําออก ประกาศขายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 อีกทั้งนายแพงก็ประกาศขายนาฬิกาเรือนนั้นทาง website มิได้นํา ออกขายทอดตลาด ดังนั้น การกระทําของนายแพงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การบังคับจํานําของนายแพงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

Advertisement