การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ดอกดินยืมรถยนต์ของปลวกแดงไปใช้ ปลวกแดงก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปนานเท่าใดถึงเอามาคืนขณะที่ดอกดินใช้อยู่นั้นมีชะเมาน้องชายของดอกดินแอบมาขโมยเอารถยนต์คันดังกล่าวไปใช้งาน โดยที่ดอกดินไม่ทราบเรื่อง ดังนี้เมื่อปลวกแดงทราบเหตุ ปลวกแดงจะบอกเลิกสัญญาให้ดอกดิน นํารถมาคืนให้กับตนได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคล อีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอย เสร็จแล้ว”
มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืม จะเรียกของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมรถยนต์ระหว่างดอกดินกับปลวกแดงเป็นสัญญายืมใช้คงรูป ตามมาตรา 640 และเมื่อในสัญญาไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใด อีกทั้งไม่ได้ตกลงกันว่าจะคืนเมื่อใด ปลวกแดง ผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกคืนเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 646 วรรคสอง
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่ดอกดินใช้รถยนต์อยู่นั้น ชะเมาน้องชายของดอกดินแอบมา ขโมยเอารถยนต์คันดังกล่าวไปใช้งาน ดังนี้ เมื่อปลวกแดงทราบเหตุ ปลวกแดงย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาและ เรียกให้ดอกดินนํารถยนต์มาคืนให้กับตนได้ตามมาตรา 646 วรรคสอง แม้ว่าดอกดินจะมิได้ประพฤติผิดหน้าที่ ของผู้ยืมก็ตาม (ดอกดิน ม่ทราบเรื่องที่ชะเมาแอบมาขโมยรถยนต์ไปใช้งาน)
สรุป
เมื่อปลวกแดงทราบเหตุ ปลวกแดงจะบอกเลิกสัญญาและให้ดอกดินนํารถมาคืนให้กับตนได้
ข้อ 2 ทัพมาขอยืมข้าวสารจากสามย่านไปสองพันกิโลกรัมราคาตามท้องตลาดในวันที่ส่งมอบกันนั้นมีราคาทั้งสิ้นแปดหมื่นบาท กําหนดเวลายืมหนึ่งปี และตอนส่งคืนนั้นทัพมาต้องนําข้าวสารส่งคืนทั้งหมด สามพันกิโลกรัม เมื่อถึงกําหนดส่งคืนทัพมาไม่นําข้าวสารมาคืนให้กับสามย่าน ดังนี้เมื่อสามย่าน ฟ้องศาล เพื่อขอให้ศาลบังคับทัพมานําข้าวสารมาคืนจํานวนสามพันกิโลกรัม ทัพมาต่อสู้ว่าข้าวสาร ที่ยืมไปนั้นมีราคาเกินกว่าสองพันบาทไม่มีการทําหลักฐานการยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของทัพมา จึงไม่อาจบังคับคดีกันได้ และค่าตอบแทนที่กําหนดกันไว้นั้นสูงเกินร้อยสิบห้าต่อปีย่อมตกเป็นโมฆะ ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของทัพมารับฟังขึ้นหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”
มาตรา 653 วรรคแรก “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 650 สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาชนิดหนึ่งซึ่งต้องมีผู้ให้ยืม ผู้ยืม และทรัพย์สินที่ยืมโดยการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้ยืม ซึ่งทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินประเภทที่ใช้ สิ้นเปลืองไปโดยกําหนดเป็นปริมาณ จํานวน ชนิด เช่น เงิน ข้าวสาร เป็นต้น ดังนี้ ผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สิน ประเภทเดียวกันหรือชนิดเดียวกันแก่ผู้ให้ยืม และต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม สัญญาจึงจะบริบูรณ์
ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินจึงถือเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง แต่สัญญายืมใช้ สิ้นเปลืองหาใช่สัญญากู้ยืมเงินอย่างเดียวไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมข้าวสารระหว่างทัพมากับสามย่านเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ตามมาตรา 650 หาใช่สัญญากู้ยืมเงินที่จะต้องทําตามแบบที่กฎหมายกําหนดแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้มูลค่า ของข้าวสารที่ยืมกันจะมีราคาเกินกว่าสองพันบาทก็ตาม ก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคแรก ในอันจะต้อง มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทัพมาผู้ยืม อีกทั้งผลประโยชน์ที่เรียกกัน (ข้าวสารหนึ่งพันกิโลกรัม) ก็มิใช่ดอกเบี้ยแต่อย่างใด มิได้อยู่ในบังคับของมาตรา 654 เช่นกัน ข้อต่อสู้ของทัพมาที่ว่าข้าวสารที่ยืมไปนั้น มีราคาเกินกว่าสองพันบาทไม่มีหลักฐานการยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของทัพมา จึงไม่อาจบังคับคดีกันได้ และ ค่าตอบแทนที่กําหนดกันไว้นั้นสูงเกินร้อยละสิบห้าต่อปีย่อมตกเป็นโมฆะจึงรับฟังไม่ได้
สรุป
ข้อต่อสู้ของทัพมารับฟังไม่ได้
ข้อ 3 เจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดหรือไม่ อย่างไร ต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์ของคนเดินทางที่ถูกทําร้ายหรือถูกลักไปในโรงแรม
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวน สินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและ ได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ ต้อนรับ”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675
และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น นาฬิกา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝาก ไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)
แต่อย่างไรก็ตาม หากความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือ เพราะสภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือเพราะความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือ บุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ เจ้าสํานักย่อมไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด (มาตรา 675 วรรคสาม)
ดังนั้น จากหลักกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดแล้ว เจ้าสํานัก โรงแรมจะต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของคนเดินทางที่ถูกสักหรือสูญหายไปในโรงแรมเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดต่อคน เดินทางที่ถูกทําร้ายในโรงแรมแต่อย่างใด เพราะหามีกฎหมายใดบัญญัติให้เจ้าสํานักโรงแรมต้องรับผิดไม่