การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปมีอะไรบ้าง  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้  5  ประการ  คือ

 1       หน้าที่เสียค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา

มาตรา  642  ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี  ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดีย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย

ตามมาตรา  642  ค่าใช้จ่ายต่างๆนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ยืมแต่ฝ่ายเดียว  ทั้งนี้เพราะสัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ที่ได้รับประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวก็คือผู้ยืม  จึงสมเหตุสมผลดีแล้วที่ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสียแต่คู่กรณีอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้  เช่น  ให้ผู้ให้ยืมเป็นผู้เสีย  เพราะมาตรา  642  มิใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่อย่างใด  ยกตัวอย่างประกอบ

2       หน้าที่เกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

ตามมาตราดังกล่าว  ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมในการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยชอบไว้  4  ประการ 

 1)    ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสภาพแห่งทรัพย์  เช่น  ยืมใบมีดโกน  ก็ต้องเอาไปโกนหนวดโกนเครา  มิใช่เอาไปหั่นเนื้อหมู ฯลฯ

2)    ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญาที่ตกลงกัน  เช่น  ทำสัญญายืมรถยนต์ไปเพชรบุรี  ก็ต้องไปเพชรบุรีจะขับไปเชียงใหม่ไม่ได้ ฯลฯ

3)    ต้องไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย

4)    เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วต้องรีบคืนให้แก่ผู้ให้ยืมไม่ควรเก็บเอาไว้นาน

หากผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวแล้ว  เป็นเหตุให้ทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลาย  ผู้ยืมต้องรับผิดแม้เหตุนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  (ยกตัวอย่างประกอบ)

3       หน้าที่เกี่ยวกับการสงวนทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

เนื่องจากผู้ยืมเป็นผู้รับประโยชน์จากสัญญายืมแต่ฝ่ายเดียว  จึงต้องรับผิดชอบในการสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมเช่นวิญญูชนคือ  บุคคลธรรมดาทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถในระดับปานกลางในสังคม  หากผู้ยืมไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว  ผู้ให้ยืมย่อมบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าสินไหมทดแทนได้  (ยกตัวอย่างประกอบ)

4       หน้าที่เกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  646  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  ตามการอันปรากฏในสัญญา  แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้  เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้  ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

เรื่องการคืนทรัพย์สินที่ยืมถือว่าเป็นสาระสำคัญอีกประการหนึ่งของสัญญายืมที่ทำให้มีความแตกต่างจากสัญญาให้  หรือสัญญาซื้อขาย  ดังนั้นผู้ยืมจึงต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว  (ยกตัวอย่างประกอบ)

5       หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  647  ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย

กล่าวคือ  พิจารณาว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามปกติหรือไม่  ถ้าเป็นผู้ยืมก็ต้องจ่าย  เช่น  ก  ยืมรถ  ข  มาใช้  ถ้ารถเกิดเสียหายเล็กน้อย  เช่น  ยางแตก  หรือเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง  ฯลฯ  ผู้ยืม  คือ  ก  ต้องจ่ายเอง  แต่ถ้าเป็นกรณีที่เกินกว่าปกติ  เช่น  รถที่  ก  ยืมมาเสื่อมโทรมตามสภาพจำเป็นต้องยกเครื่องใหม่  เพราะขณะที่ยืมก็อยู่ในสภาพไม่ดีอยู่แล้ว  เช่นนี้  ผู้ให้ยืมเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่าย

 

ข้อ  2  นายเอกกู้ยืมเงินนายโท  10,000  บาท  ทำสัญญากู้กันไว้  นายเอกลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ยืม  นายตรีอายุ  17  ปีกับนายโทลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายเอกไว้ในขณะนั้น  แต่นายโทมิได้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ยืม  ต่อมานายเอกไม่ชำระเงินนายโทตามสัญญากู้  นายโทจึงนำสัญญากู้ฉบับนี้มาฟ้องศาล  ขอให้บังคับให้นายเอกชดใช้เงินที่ยืมไป  ดังนี้  นายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคหนึ่ง  วรรคสอง  เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ  บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง  แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ  แกงได  ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

วินิจฉัย

นายเอกกู้ยืมเงินนายโท  10,000  บาท  โดยนายเอกลงลายพิมพ์นิ้วมือในฐานะผู้ยืม  การกู้ยืมระหว่างนายเอกกับนายโทที่มีการลงลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้จะต้องมีการรับรองจากบุคคล  2  คนเสมอถึงจะถูกต้องตามมาตรา  9  วรรคสอง  ส่วนนายตรี  อายุ  17  ปี  แม้เป็นผู้เยาว์ก็สามารถที่จะเป็นพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนายเอกได้  เนื่องจากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าผู้รับรองลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ  ส่วนนายโทซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือร่วมกับนายตรี  แม้จะไม่ได้ลงลายมือชื่อผู้ให้กู้ในสัญญาก็ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย  เนื่องจากสัญญากู้ยืมทำเป็นหนังสือ  เพียงมีแต่ลายมือชื่อผู้กู้ฝ่ายเดียวก็เพียงพอแล้ว  หาจำต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ด้วยแต่อย่างไร  ดังนั้นลายมือชื่อของผู้ให้กู้จะมีหรือไม่มีก็ได้  อนึ่งกรณีที่นายโท  ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วยนั้น  ก็ไม่มีกฎหมายห้ามแต่อย่างใด  (ฎ. 595/2523)  เมื่อสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมาย  เพราะฉะนั้นนายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

สรุป  นายเอกต้องรับผิดตามสัญญากู้

 

ข้อ  3  ธนาคารเอเชียตะวันออก  เป็นธนาคารต่างประเทศที่จะมาขอเปิดดำเนินธุรกิจประเภทธนาคารในประเทศไทย  ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตและก่อสร้างอาคารสำนักงานเพื่อเป็นที่ทำการ  ธนาคารได้จ้างสำนักงานกฎหมายเอกสมบัติเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย  ต่อมาธนาคารได้มีข้อหารือมาที่สำนักงานกฎหมายถึงหน้าที่ของธนาคารที่จะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์สินเงินทองของลูกค้าที่นำมาฝากว่าตามหลักกฎหมายไทยธนาคารมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือใช้ความระมักระวังอย่างไรบ้างในการสงวนทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาฝาก  ถ้าท่านเป็นทนายความที่ปรึกษา  ขอให้ท่านให้คำแนะนำ  โดยอธิบายอย่างละเอียด  พร้อมยกตัวอย่างและหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

ธนาคารถือเป็นผู้รับฝากที่มีอาชีพในการรับฝากโดยเฉพาะตามนัยของมาตรา  659  วรรคสาม  ที่วางหลักเกณฑ์ให้บุคคลที่มีอาชีพรับฝากทรัพย์ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น  หมายความว่า  ธนาคารจะต้องเก็บรักษาทรัพย์สินไว้ในที่ที่ปลอดภัยที่สุดตามวิถีทางแห่งกิจการค้าของตน  คือเก็บไว้ในตู้นิรภัยที่มั่นคงให้ปลอดภัยจากอัคคีภัยและโจรผู้ร้าย  เป็นต้น  (ยกตัวอย่างประกอบ)

Advertisement