การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายแดง อายุ 50 ปี เกษียณอายุราชการแล้วมีเงินที่เก็บหอมรอมริบไว้เหลืออยู่ 500,000 บาท ต่อมานายหนึ่งหลานชายได้มาขอยืมเงินนายแดงไป 100,000 บาท เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมร้านอาหารโดยไม่ได้ทำหลักฐานหรือสัญญาใดต่อกันเลย มีแต่นางสองหลานอีกคนหนึ่งเท่านั้น ที่อยู่ด้วยในตนส่งมอบเงิน ต่อมานายแดงและนายหนึ่งทะเลาะเบาะแว้งมีปากเสียงกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นจะลงมือทำร้ายกันเพื่อนบ้านจึงไปแจ้งความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาระงับเหตุการณ์และนำตัวทั้งสองไปสถานีตำรวจ
หลังจากสอบสวนแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวันว่า “นายแดงได้พูดทวงเงินที่ให้นายหนึ่งยืมไปจำนวน 100,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 แต่นายหนึ่งพูดท้าทายว่า อยากได้ก็ให้ไปฟ้องเอา นายแดงโกรธจึงตั้งท่าจะทำร้ายร่างกายนายหนึ่งแต่ยังไม่ทันลงมือ หากนายหนึ่งสัญญาว่าจะทยอยใช้หนี้ นายแดงก็จะไม่คิดทำร้ายนายหนึ่งอีก” และให้นายแดงลงชื่อในบันทึกประจำวันนั้น จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากว่าต่อมานายแดงได้มาปรึกษาทนายความขอให้ฟ้องเรียกเงินกู้ 100,000 บาทจากนายหนึ่ง สมมุติว่านักศึกษาเป็นทนายความจงให้คำปรึกษาแก่นายแดง
ธงคำตอบ
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
การที่นายแดงให้นายหนึ่งกู้ยืมเงินโดยมิได้มีหลักฐานใดๆ แม้จะมีคนรู้เห็นขณะให้กู้ยืม (นางสอง) แต่เรื่องการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทนั้น มาตรา 653 มีหลักกฎหมายว่าต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ทำให้นายแดงไม่สามารถนำนางสองซึ่งเป็นพยานบุคคลเข้านำสืบแทนหลักฐานการกู้ยืมที่ทำเป็นหนังสือได้
การที่ข้อเท็จจริงได้มีการลงบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนมีใจความว่า นายหนึ่งกู้เงินนายแดงจำนวน 100,000 บาท และนายหนึ่งไม่ได้ปฏิเสธกลับท้าทายให้นายแดงไปฟ้องหากอยากได้คืน ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นหนี้จากการกู้ยืมจำนวน 100,000 บาทจริง แต่เฉพาะนายแดงผู้ให้กู้คนเดียวที่ลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน จึงไม่เป็นไปตามที่มาตรา 653 บัญญัติไว้ กล่าวคือ ขาดการลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมนั่นเอง
ถ้านักศึกษาเป็นทนายความต้องให้คำปรึกษานายแดงว่า ไม่สามารถฟ้องคดีเรียกเงินกู้รายนี้ได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืม
สรุป นายแดงไม่สามารถฟ้องเรียกเงินกู้จากนายหนึ่งได้
ข้อ 2 นายเด่นกู้เงินนายดอกรัก 500,000 บาท โดยทำสัญญากู้ยืมเงินลงลายมือชื่อของผู้กู้และผู้ให้กู้และต่างเก็บสัญญาไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ โดยในสัญญาระบุว่าถ้านายเด่นไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา นายเด่นจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งให้นายดอกรักแทน เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ นายเด่นไม่มีเงินมาชำระ นายดอกรักจึงทวงสัญญาที่นายเด่นจะโอนที่ดินแก่ตน แต่เนื่องจากในวันชำระหนี้ที่ดินแปลงที่ตกลงกันมีราคาสูงถึง 1,000,000 บาท นายดอกรักไม่สนใจราคาที่ดินว่าจะขึ้นไปเป็นราคาเท่าใด เร่งบอกให้นายเด่นโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้ ตั้งแต่วันทำสัญญากู้แล้วต้องปฏิบัติตาม ดังนี้ นายเด่นจะต้องปฏิบัติตามสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 656 ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทนจำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
วินิจฉัย
การที่นายเด่นกู้ยืมเงิน 500,000 บาท จากนายดอกรัก โดยทำสัญญากู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อผู้กู้และผู้ให้กู้ด้วย จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สมบูรณ์ตามมาตรา 653 วรรคแรกแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการทำข้อตกลงล่วงหน้าว่า ถ้านายเด่นไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหนึ่งให้นายดอกรักแทนหนี้เงินกู้ 500,000 บาท กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา 656 วรรคสอง กล่าวคือ ถ้าผู้ให้ยืมยอมตกลงรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินกู้ยืม กฎหมายให้ถือว่า การชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าราคาสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นนั้น โดยคิดราคาตามราคาท้องตลาดในวันเวลาและสถานที่ที่ชำระหนี้เป็นเกณฑ์ ซึ่งหากมีการตกลงกันผิดจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว ข้อตกลงนั้นให้ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 656 วรรคท้าย
ดังนั้นจากข้อเท็จจริงข้างต้น ที่ดินแปลงที่ตกลงกันในวันชำระหนี้มีราคาสูงถึง 1,000,000 บาท หากจะบังคับให้โอนที่ดินเป็นการชำระหนี้ก็ต้องถือตามราคาตลาด คือ 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าเงินกู้มาก ข้อตกลงระหว่างนายเด่นและนายดอกรักที่ให้ถือว่าที่ดินแปลงนี้เท่ากับเงินกู้ 500,000 บาท โดยมิได้คำนึงถึงราคาตามท้องตลาดในเวลาชำระหนี้ จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 656 วรรคสอง และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคท้าย นายดอกรักผู้ให้กู้จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขอให้บังคับนายเด่นผู้กู้โอนที่ดินให้แก่ตนตามข้อตกลงได้ เพราะหากมีการนำที่ดินแปลดังกล่าวชำระหนี้แทนแล้ว ก็นับว่านายดอกรักได้รับประโยชน์จากที่ดินส่วนที่เกินไปจากจำนวนที่กู้ยืมเงินกันจริงถึง 500,000 บาท นายเด่นจึงเป็นผู้เสียประโยชน์ต้องชำระหนี้มากกว่าที่เป็นหนี้ตามสัญญา กฎหมายจึงให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นโมฆะ นายเด่นไม่ต้องโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้แต่ยังถือว่าสัญญากู้ยืมเงินยังคงสมบูรณ์มีผลบังคับใช้อยู่เพราะยังไม่มีการชำระหนี้ หนี้ยังไม่ระงับ นายเด่นจึงต้องผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงินต่อไปจนกว่าจะชำระหนี้ (เทียบฎีกา 1683/2493)
สรุป นายเด่นไม่ต้องโอนที่ดินเป็นการชำระหนี้ แต่ต้องชำระหนี้เงินกู้ 500,000 บาท
ข้อ 3 เอกได้ฝากทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ไว้กับโท โดยให้โทมอบทองคำนี้แก่บุตรของเอกเมื่อเอกตายและขอให้โทอุปการะบุตรของเอก ดูแลอบรมสั่งสอนให้การศึกษาโดยฝากให้อาศัยอยู่กับโทที่บ้านของโท โทรับฝากทองรูปพรรณของเอกไว้และอุปการะบุตรของเอกมารวม 4 ปี จึงเรียนจบการศึกษาและขออนุญาตแต่งงานมีเหย้ามีเรือน ในวันแต่งงานโทบอกเอกว่าตนจะมอบทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ให้บุตรของเอกไปและเอกก็มิได้คัดค้าน ต่อมาบุตรของเอกแต่งงานไปแล้วไม่เคยกลับมาเยี่ยมเอกและโทอีกเลย เอกจึงโทษว่าเป็นเพราะโทมอบทองคำที่ตนฝากไว้ไปก่อนเวลาอันสมควรไม่ปฏิบัติตามที่สั่งไว้คือให้มอบแก่บุตรเมื่อตนถึงแก่ความตาย ขอให้โทนำทองคำมาคืนแก่เอก ดังนี้ ถ้าท่านเป็นโทท่านจะมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายย่างไร เพื่อไม่ต้องตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้ท่านอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 660 ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
วินิจฉัย
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นมีปัญหาว่า นายเอกผู้ฝากอนุญาตให้นายโทผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นให้บุตรของนายเอกซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเก็บรักษาไว้หรือไม่ ถ้าอนุญาตแล้วโดยผลแห่งบทบัญญัติดังกล่าว นายโทหาต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายแห่งทรัพย์สินซึ่งฝากไว้อย่างใดไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อบุตรของนายเอกเรียนจบการศึกษาและแต่งงานมีเหย้ามีเรือน ในวันแต่งงานโทได้มอบทองรูปพรรณแก้บุตรของเอก นายเอกรู้เห็นดีมิได้คัดค้านประการใด แสดงว่านายเอกอนุญาตโดยปริยายให้นายโทเอาทองรูปพรรณหนัก 10 บาท ซึ่งฝากนั้นให้บุตรของนายเอกเก็บรักษาไว้ ซึ่งตามมาตรา 660 นี้ ก็มิได้ระบุว่าการอนุญาตนั้นจะต้องอนุญาตโดยชัดแจ้งอย่างใด ย่อมหมายความว่าอนุญาตกันโดยปริยายก็ได้ และเมื่อผู้ฝากอนุญาตแล้ว นายโทผู้รับฝากจึงไม่ต้องรับผิดนำทรัพย์มาคืนนายเอก นายโทสามารถยกเป็นข้อต่อสู้นายเอกได้
สรุป นายโทไม่ต้องรับผิดนำทรัพย์มาคืนนายเอก เพราะถือว่านายเอกอนุญาตแล้ว