การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง…” คำว่า “การใช้เงิน” ในที่นี้หมายความว่าอย่างไร
ธงคำตอบ
คำว่า การใช้เงิน ตามมาตรา 653 วรรคสอง จะเกิดขึ้นต่อเมื่อการกู้ยืมเงินนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือตามบทบังคับของกฎหมายการใช้เงินจึงต้องมีหลักฐานการใช้เงิน จึงจะนำสืบต่อศาลว่าได้มีการใช้เงินกันแล้ว
ฉะนั้น การใช้เงินตามนัยมาตรา 653 วรรคสอง หมายความถึง การใช้เงินต้นเท่านั้นไม่รวมถึงดอกเบี้ย กล่าวคือ เป็นการนำเงินสดที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายมาชำระหนี้เงินต้นเท่านั้น หากเป็นการใช้เงินต้นด้วยวิธีอื่น เช่น ชำระหนี้ด้วยบัตรเครดิต เช็ค หรือชำระหนี้ด้วยสร้อยเพชร ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานการใช้เงิน สามารถนำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการใช้เงินต้นกันแล้วได้ เช่นเดียวกันหากการกู้ยืมเงินกันมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่การใช้เงินต้นคืนไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งผู้กู้ก็ได้ชำระคืนไปแล้ว เช่นนี้ ผู้กู้จำต้องชำระเงินคืนให้ผู้ให้กู้ อีกครั้งหนึ่ง จะนำพยานบุคคลมานำสืบการใช้เงินไม่ได้
อนึ่งการใช้ดอกเบี้ยคืน ก็หามีบทบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานการใช้คืนดอกเบี้ยแต่อย่างใด สามารถนำพยานบุคคลมาสืบการใช้คืนดอกเบี้ยได้ (ฎ. 243/2503, 1051/2503)
ข้อ 2 แดงกู้เงินดำจำนวนห้าหมื่นบาท โดยทำหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นสัญญาระบุรายละเอียดว่า “สัญญานี้ทำขึ้นระหว่างนายดำผู้ให้กู้และนายแดงผู้กู้ โดยนายดำให้นายแดงกู้ยืมเงินจำนวนห้าหมื่นบาทและไม่ต้องการคิดดอกเบี้ย หากผิดสัญญาจะนำหลักฐานฉบับนี้ไปฟ้องศาล” นายดำได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ให้กู้ ส่วนนายแดงบ่ายเบี่ยงไม่ยอมลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ โดยอ้างว่ากำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นทองแดง หากดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่เรียบร้อยแล้วจะมาลงชื่อในสัญญากู้ภายหลัง
นายดำเกรงว่านายแดงจะบิดพลิ้ว ผิดคำพูด จึงขอให้นายแดงประทับลายพิมพ์นิ้วมือลงไว้ในช่องผู้กู้ นายแดงปฏิเสธไม่ได้ จึงประทับลายพิมพ์นิ้วมือไว้ในสัญญาในฐานะเป็นผู้กู้ ต่อมานายแดงไม่ยอมชำระหนี้เงินกู้ นายดำจึงนำหลักฐานดังกล่าวมาฟ้องศาล ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะมีคำวินิจฉัยคดีเงินกู้รายนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง วรรคสอง เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
วินิจฉัย
หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามมาตรา 653 วรรคแรก ต้องลงลายมือชื่อผู้กู้เป็นสำคัญจึงจะนำมาฟ้องร้องบังคับคดีได้ จากกรณีตามปัญหา ข้อความในสัญญาแสดงถึงการกู้ยืมเงินระหว่างนายแดงและนายดำจำนวนห้าหมื่นบาทโดยไม่ต้องการคิดดอกเบี้ย นายดำผู้ให้กู้ได้ลงลายมือชื่อไส้ ส่วนนายแดงได้ประทับลายพิมพ์นิ้วมือลงไว้ในช่องผู้กู้ แต่การลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ในสัญญากู้ตามมาตรา 9 วรรคสอง มีหลักกฎหมายว่าต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมืออย่างน้อยสองคน แต่ในสัญญาฉบับนี้ไม่ปรากฏว่ามีพยานลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ จึงทำให้สัญญานี้ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 653 วรรคแรก ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย นายแดงจึงไม่ต้องชำระหนี้เงินกู้แก่นายดำ
สรุป ศาลจะไม่สามารถพิพากษาให้นายแดงชำระหนี้เงินกู้รายนี้ได้
ข้อ 3 นายเอกได้เดินทางไปพักแรมยังโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายโทเป็นผู้จัดการโรงแรมนายเอกได้จอดรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าสีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน พย 2465 ไว้ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรม ส่วนสิ่งของที่นำติดตัวมาด้วยนอกจากกระเป๋าเดินทาง เงินสดอีกจำนวนหนึ่งแล้วยังมีปืนพกอีกหนึ่งกระบอกราคา 4,000 บาท เมื่อพักแรมได้ 1 คืน ปรากฏว่าปืนพกที่เก็บไว้ใต้หมอนถูกขโมยไปและรถยนต์ถูกขโมยกระจกมองข้างและไฟสปอร์ตไลท์หน้ารถอีก 1 ดวง รวมค่าเสียหาย 3,000 บาท นายเอกไม่ได้แจ้งรายการสิ่งของที่ตนนำมาด้วยต่อทางโรงแรม แต่เมื่อพบว่าของหายได้รีบแจ้งให้นายโทผู้จัดการโรงแรมทราบทันที ดังนี้ โรงแรมต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายต่อนายเอกอย่างไรบ้าง จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 675 วรรคแรก เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหาย หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
วินิจฉัย
นายเอกได้พักแรมยังโรงแรม โดยมีนายโทเป็นผู้จัดการโรงแรม นายเอกได้จอดรถยนต์ของตนไว้ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรม ส่วนสิ่งของที่นำติดตัวเข้ามาพักนอกจากกระเป๋าเดินทางและเงินสด ยังมีปืนพกหนึ่งกระบอกราคา 4,000 บาท เมื่อพักแรมได้ 1 คืน ปรากฏว่าปืนพกถูกขโมยและรถยนต์ถูกขโมยชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เป็นค่าเสียหาย 3,000 บาท ดังนี้ ปืนพกราคา 4,000 บาท และค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท ที่มีคนถอดอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ไป ถือว่าเป็นทรัพย์ตามมาตรา 675 วรรคแรก ที่โรงแรมต้องชดใช้เต็มจำนวน หากมีการสูญหายหรือบุบสลายในระหว่างเข้าพักในโรงแรม โดยสิ่งของตามมาตรา 675 วรรคแรก นี้ ผู้เดินทางไม่ต้องแจ้งให้โรงแรมทราบว่าตนนำมาด้วยแต่อย่างใด
สรุป โรงแรมต้องชดใช้ต่อเอกในราคาปืนพก 4,000 บาท และค่าเสียหายที่รถถูกขโมยอะไหล่อีก 3,000 บาท รวมเป็น 7,000 บาท