การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายใหญ่ให้นายเล็กยืมใช้รถยนต์มีกำหนด  1  ปี  เมื่อนายเล็กใช้รถไปได้หกเดือน  ปรากฏว่ารถชำรุดทรุดโทรมมาก  เพราะนายเล็กปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษารถยนต์เหมือนคนทั่วไป  นายใหญ่เห็นว่า  ถ้าขืนปล่อยให้นายเล็กใช้ต่อไปจนครบกำหนด  1  ปี  รถยนต์อาจจะเสียหายมาก  นายใหญ่จึงมาปรึกษาท่าน  ให้ท่านแนะนำนายใหญ่ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร  จงอธิบายพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบคำตอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

นายใหญ่ให้นายเล็กยืมรถยนต์ใช้มีกำหนด  1  ปี  เมื่อนายเล็กใช้รถได้หกเดือน  ปรากฏว่ารถชำรุดทรุดโทรมมาก  เพราะนายเล็กปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษารถยนต์เหมือนคนทั่วไป  ดังนี้  นายเล็กทำผิดหน้าที่ผู้ยืมในการสงวนรักษาทรัพย์สิน  เนื่องจากปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษารถยนต์เหมือนวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง  ตามที่บัญญัติในมาตรา  644  ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะแนะนำนายใหญ่ให้เลือกวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้

 1       บอกเลิกสัญญา  และเรียกเอาทรัพย์สินนั้นคืนมา  โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลาในสัญญายืมตามมาตรา  645

 2       ให้นายเล็กทำการดูแลรักษารถยนต์ตามหน้าที่ที่บัญญัติในมาตรา  644  และหากการละเลยของนายเล็กก่อให้เกิดความเสียหายต่อรถยนต์ที่ยืมมาก็ไม่ตัดสิทธินายใหญ่ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  213  วรรคท้าย

 

ข้อ  2  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  653  วรรคสอง  บัญญัติว่า  ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง  คำว่า  การใช้เงิน  ในที่นี่หมายความว่าอย่างไร

นายเอกยืมเงินนายโทมา  10,000  บาท  ต่อมาโทฟ้องเอกขอเรียกเงินยืมคืน  ดังนี้  เอกจะต่อสู้ว่าได้โอนรถจักรยานยนต์ชำระหนี้แทนเงินไปแล้ว  โดยขอนำสืบพยานบุคคลคือนายตรี  ผู้อยู่ด้วยขณะที่นำรถจักรยานยนต์มามอบให้  จะได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

คำว่า  การใช้เงิน  ตามมาตรา  653  วรรคสอง  จะเกิดขึ้นต่อเมื่อการกู้ยืมเงินนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือตามบทบังคับของกฎหมายการใช้เงินจึงต้องมีหลักฐานการใช้เงิน  จึงจะนำสืบต่อศาลว่าได้มีการใช้เงินกันแล้ว

ฉะนั้น  การใช้เงินตามนัยมาตรา  653  วรรคสอง  หมายความถึง  การใช้เงินต้นเท่านั้นไม่รวมถึงดอกเบี้ย  กล่าวคือ  เป็นการนำเงินสดที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายมาชำระหนี้เงินต้นเท่านั้น  หากเป็นการใช้เงินต้นด้วยวิธีอื่น  เช่น  ชำระหนี้ด้วยบัตรเครดิต  เช็ค  หรือชำระหนี้ด้วยสร้อยเพชร  ก็ไม่จำต้องมีหลักฐานการใช้เงิน  สามารถนำสืบพยานบุคคลว่าได้มีการใช้เงินต้นกันแล้วได้  เช่นเดียวกันหากการกู้ยืมเงินกันมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่การใช้เงินต้นคืนไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ซึ่งผู้กู้ก็ได้ชำระคืนไปแล้ว  เช่นนี้  ผู้กู้จำต้องชำระเงินคืนให้ผู้ให้กู้ อีกครั้งหนึ่ง  จะนำพยานบุคคลมานำสืบการใช้เงินไม่ได้

อนึ่งการใช้ดอกเบี้ยคืน  ก็หามีบทบัญญัติให้ต้องมีหลักฐานการใช้คืนดอกเบี้ยแต่อย่างใด  สามารถนำพยานบุคคลมาสืบการใช้คืนดอกเบี้ยได้  (ฎ. 243/2503,  1051/2503)

วินิจฉัย

นายเอกยืมเงินนายโท  10,000  บาท  และถูกนายโทฟ้องเรียกเงินคืน  นายเอกต่อสู้ว่าได้โอนรถจักรยานยนต์ชำระหนี้แทนเงิน  โดยขอนำสืบพยานบุคคลผู้อยู่ด้วยขณะชำระหนี้คือนายตรี  กรณีนี้เอกสามารถขอนำสืบพยานบุคคลได้  เพราะเอกมิได้นำสืบการใช้เงินต้นจึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงต่อศาลตามมาตรา  653  วรรคสอง  แต่อย่างใด

สรุป  นายเอกนำพยานบุคคลมานำสืบได้

 

ข้อ  3  นายแดงฝากเงินไว้กับนายดำ  จำนวน  1  แสนบาท  มีกำหนดเวลา  2  ปี  ต่อมา  3  เดือน  นายแดงตาย  ดังนี้  เขียวซึ่งเป็นทายาทของนายแดงจะขอเรียกเงินคืนจากดำทันทีไม่รอให้ครบ  2  ปี  ดังนี้  เขียวมีสิทธิทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  665  ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก  หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใดคืนให้แก่ผู้นั้น  หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใดคืนให้แก่ผู้นั้น

แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย  ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

มาตรา  673  เมื่อใดควรรับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก  ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้  หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงกำหนดเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้วผู้รับฝากจะต้องคืนทรัพย์สินที่รับฝากไว้ให้แก่ผู้รับฝาก  ผู้รับฝากจะไม่คืนให้แก่ผู้รับฝากโดยตรงก็มีอยู่เพียง  3  กรณีเท่านั้น  คือ

 1       คืนให้แก่บุคคลที่ผู้ฝากได้ฝากทรัพย์สินแทน  เช่น  นาย  ก  เป็นบิดาของนาย  ข  ซึ่งนาย  ก  เอาทรัพย์สินมีค่าของนาย  ข  ไปฝากไว้กับนาย  ค  โดยฝากในนามของนาย  ข  (ฝากแทนนาย  ข)  ดังนี้  นาย  ค  ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่รับฝากไว้คืนให้แก่นาย  ข

2       คืนให้แก่บุคคลที่มีคำสั่งโดยชอบระบุให้คืน  เช่น  ผู้ฝากอาจจะมีคำสั่งมายังผู้รับฝากให้คืนทรัพย์สินแก่บุคคลใด  ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้บุคคลที่ระบุในคำสั่งนั้น

3       คืนให้กับทายาทของผู้ฝากในกรณีที่ผู้ฝากตาย

นายดำมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับฝากแก่ทายาทของนายแดงทันที  โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลา  ทั้งนี้ตามนัยมาตรา  665  วรรคท้ายกำหนดว่า  ในกรณีที่ผู้ฝากทรัพย์ตาย  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่รับฝากนั้นแก่ทายาทของผู้ฝาก

แม้บทบัญญัติมาตรา  673  จะกำหนดว่า  เมื่อใดรับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก  ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อนถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้  หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน  แต่ก็ไม่สามารถอ้างบทบัญญัติดังกล่าวมายันทายาทของนายแดงได้  ต้องตีความตามมาตรา  665  วรรคท้าย  โดยเคร่งครัด  (ฎ. 80/2511)

อย่างไรก็ตาม  การคืนเงินที่รับฝาก  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกับที่ฝากแต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

สรุป  เขียวทายาทของแดง  มีสิทธิขอคืนเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดเวลา

Advertisement