การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  เด่นขอยืมลูกหมูมาจากดวง  1  ตัว  เพื่อทำหมูหันในงานเลี้ยงที่บ้าน  ดวงตกลง  ระหว่างทางที่เด่นบรรทุกลูกหมูกลับบ้าน  ลูกหมูดิ้นหลุดวิ่งหนี  เด่นตามจับมาไม่ได้  เด่นจึงไปขอยืมลูกหมูอีกตัวหนึ่งจากดาวมาทำหมูหัน  หลังจากงานเลี้ยงผ่านไป  ดวงทวงถามลูกหมูคืนจากเด่น  แต่เด่นไม่ยอมคืน  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  สัญญายืมลูกหมูนี้เป็นสัญญายืมประเภทใด  และเด่นจะต้องรับผิดต่อดวงหรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

วินิจฉัย

ตามปัญหาข้อตกลงระหว่างเด่นกับดวงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา  650  ไม่ใช่สัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  เพราะเจตนาของเด่นต้องการนำลูกหมูมาใช้ทำหมูหันเป็นการใช้ในลักษณะทำให้ลูกหมูแปรสภาพเป็นอาหาร  จึงเป็นการใช้ไปสิ้นไป  ลูกหมูจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเด่นตั้งแต่ดวงส่งมอบลูกหมูให้เด่นแล้ว  เมื่อลูกหมูสูญหายไปผู้รับบาปเคราะห์คือเด่นซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  เมื่อถึงกำหนดส่งคืน  เด่นจึงต้องหาลูกหมูที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวที่ยืมมาจำนวน  1  ตัว  ไปใช้คืนให้กับดวง  และดวงมีสิทธิฟ้องบังคับให้เด่นคืนได้ตามสัญญา

สรุป  สัญญายืมลูกหมูเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เด่นจึงต้องหาลูกหมูที่มีน้ำหนักเท่ากับตัวที่ยืมไปใช้คืนให้กับดวง

 

ข้อ  2  พลอยเขียนจดหมายถึงมณีฝากไปกับทับทิมมีข้อความว่า  พักนี้เงินของฉันในธนาคารถอนออกมาใช้หมดแล้ว  ไม่มีเงินซื้อของ  ฉันจะยืมมณีมาทำทุนสักห้าพันบาท  ถ้ามีก็มอบให้มากับผู้ถือจดหมายฉบับนี้  ลงชื่อ  พลอย  มณีได้มอบเงินให้ทับทิมมาห้าพันบาท  ต่อมามณีทวงให้พลอยชำระหนี้คืน  พลอยไม่ยอมชำระ  มณีจึงฟ้องศาลโดยมีจดหมายฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐาน  พลอยต่อสู้ว่าไม่ได้กู้  ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะตัดสินอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

จดหมายที่พลอยเขียนถึงมณียังไม่อาจถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมตามมาตรา  653  วรรคแรก  เพราะเป็นเพียงหลักฐานการขอยืมเงินซึ่งยังไม่บ่งให้ทราบว่าได้มีการให้ยืมแล้วหรือยัง  เป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของพลอย  กล่าวคือ  มีการระบุจำนวนเงิน  แต่ไม่ได้ระบุว่ารับจะใช้หนี้ให้  ดังนั้น  ข้อความในจดหมายฉบับนี้จึงไม่อาจถือว่าการที่พลอยขอยืมเงินมณีนั้นพลอยจะได้รับเงินที่ยืมแล้ว  และในเรื่องกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาท  เมื่อมาตรา  653  วรรคแรก  กำหนดให้ต้องมีพยานหลักฐานเป็นหนังสือจึงต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลเข้ามาสืบหักล้างพยานเอกสาร

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยยกฟ้อง

 

ข้อ  3  แดงรับฝากรถยนต์ของดำไว้โดยตกลงจะให้ค่าฝากวันละ  10  บาท  เมื่อดำมารับรถยนต์ปรากฏว่าเบาะรถผุ  พรมในรถขึ้นรา  เพราะแดงปล่อยรถตากแดดตากฝน  ขอให้แดงใช้ค่าเสียหาย  แต่แดงต่อสู้ว่าแม้รถยนต์ของตนก็ปล่อยจอดตากแดดตากฝนเช่นนี้เหมือนกัน  ดังนี้  ข้อต่อสู้ของแดงฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

วินิจฉัย

เป็นเรื่องการฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จค่าฝากซึ่งมาตรา  659 วรรคสอง  กำหนดให้ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังดูแลทรัพย์สินที่รับฝากไว้เหมือนเช่นวิญญูชนพึงประพฤติปฏิบัติแต่จากข้อเท็จจริงการที่นายแดงละเลยไม่ดูแลทรัพย์กลับปล่อยรถตากแดดตากฝนจนเบาะรถผุ  พรมในรถขึ้นรา  โดยอ้างการปฏิบัติที่เคยทำต่อรถของตนเองเป็นข้อต่อสู้  จึงผิดหน้าที่ของผู้รับฝากทรัพย์ที่มีบำเหน็จ  ข้อต่อสู้ของแดงจึงฟังไม่ขึ้น  เพราะเรื่องนี้มิใช่การฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จ  หากจะใช้เกณฑ์ของตนเองในการปฏิบัติต่อทรัพย์ที่รับฝากนั่นย่อมหมายถึงการฝากทรัพย์ที่ไม่มีบำเหน็จตามมาตรา  659  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของแดงฟังไม่ขึ้น  แดงต้องรับผิดต่อดำ

Advertisement