การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สินไว้อย่างไรบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายด้วย
ธงคำตอบ
หน้าที่และความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป เกี่ยวกับการใช้สอยทรัพย์สิน เป็นไปตามหลักกฎหมาย
มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง คือ ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งคือผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า โยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ และผู้ยืมก็ตกลงว่าเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ก็จะนำทรัพย์สินนั้นมาคืนให้ ดังนี้จะเห็นว่าผู้ยืมเป็นผู้ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว กล่าวคือ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมและยังไม่ต้องเสียค่าตอบแทนอีกด้วย แต่การใช้ทรัพย์สินที่ยืมผู้อื่นเขามามิได้หมายความว่า จะใช้เอาประโยชน์ของตนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายอันจะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้ให้ยืมนั้น
จากบทบัญญัติตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดหน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูปไว้ 4 ประการ คือ ใช้ทรัพย์สินที่ยืมตามการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น ไม่เอาไปใช้นอกจากการอันปรากฏในสัญญา ไม่เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือไม่เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ และยังกำหนดอีกว่า ผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมเกิดความสูญหายหรือบุบสลาย ถึงแม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย ก็ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว หากความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากการที่ผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิด
สำหรับกรณีที่จะถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม ตามมาตรา 643 มีดังนี้คือ
1 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้น เช่น ขอยืมใบมีดโกนเขามาแทนที่จะโกนหนวดโกนเครา กลับเอาไปเหลาดินสอหรือหั่นเนื้อหั่นหมู หรือยืมม้าแทนที่จะเอาไปขี่กลับเอาไปลากรถ ลากซุง เป็นต้น
2 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้อย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา เช่น ขอยืมรถไปทำงานในกรุงเทพฯ แต่กลับขัยรถออกไปนอกเส้นทางไปเที่ยวชลบุรี เป็นต้น
3 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหาย เช่น ขอยืมวัวไปไถนา 2 เดือน ผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วภายใน 1 เดือน แต่ไม่ส่งคืน กลับเอาไปให้บุคคลใช้สอยจนเกิดความเสียหายขึ้น เช่นนี้ถือว่าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมแล้ว
4 เอาทรัพย์สินที่ยืมไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ กล่าวคือ เป็นการที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์ที่ยืมล่าช้า เช่น ขอยืมรถมาใช้ 3 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่เอามาคืน หรือในกรณีที่สัญญามิได้กำหนดเวลาส่งคืน แต่ไม่ปรากฏว่ายืมเพื่อการใด หากผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้ว หรือเวลาล่วงเลยไปพอแก่การใช้ทรัพย์สินนั้นแล้วก็ยังไม่ส่งคืน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้ยืมก็ต้องรับความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม
อนึ่งคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆอันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เช่น ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว น้ำท่วม ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ยืมรถยนต์นาย ข. ไปท่องเที่ยวพัทยา แต่นาย ก. กลับขับรถไปนครสวรรค์เพื่อไปรับเพื่อนก่อน ในระหว่างทางนั้นมีพายุฝนตกหนัก ฟ้าผ่ารถคันที่นาย ก. ยืมไปเสียหาย เช่นนี้ ถือว่านาย ก. ประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืม โดยเอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญาแล้ว เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแม้เป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม นาย ก. ก็ยังคงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่ นาย ข. ผู้ให้ยืมด้วย
สรุป ผู้ยืมใช้คงรูปมีหน้าที่และความรับผิด ในกรณีการใช้สอยทรัพย์สิน ตามมาตรา 643 ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2 นายเอ็กซ์ยืมเงินนายวายเป็นเงิน 2,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือความว่า “ข้าพเจ้าได้รับเงินยืมมาจากนายวายเป็นเงิน 2,000 บาท และข้าพเจ้าจะใช้ดอกเบี้ยให้เดือนละ 26 บาท ลงชื่อ นาย EX” โดยไม่มีผู้ใดรับรองการลงรายมือชื่อ ดังนี้ นายเอ็กซ์จะต้องรับผิดในการกู้ยืมเงินครั้งนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
วินิจฉัย
การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา 650 และตามมาตรา 653 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินไว้ดังนี้
1 ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ กล่าวคือ หากเป็นกรณีการกู้ยืมเงิน 2,000 บาทหรือน้อยกว่านั้น หากไม่มีการทำเป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้ แต่หากเป็นจำนวนเงินมากกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ และ
2 ต้องลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ หากมีการทำหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อผู้ยืม จะฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้เลย
จากอุทาหรณ์ดังกล่าว ผู้กู้และผู้ให้กู้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและผู้ลงลายมือชื่อท้ายสัญญานั้น ถือว่ามีความชัดเจนว่าเป็นสัญญาเงินกู้แล้ว ที่จริงแล้วหนังสือดังกล่าวที่ทำขึ้นเป็นการกู้ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท จึงไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย ศาลก็ต้องรับฟ้อง แต่ดอกเบี้ยตามอุทาหรณ์นั้น เป็นดอกเบี้ยซึ่งเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่สามารถที่จะเรียกร้องได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยถือเป็นโมฆะทั้งหมด เพราะนอกจากบทบัญญัติที่บัญญัติเอาไว้ตามาตรา 654 แล้ว ยังมี พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งมีผลให้ผู้เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นอาชญากร เพราะมีบทบัญญัติโทษจำคุกและปรับไว้มาตรา 654 จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งหมด ดอกเบี้ยที่เกินจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมดจึงต้องคืนแต่เงินต้นจำนวน 2.000 บาทเท่านั้น
สรุป นายเอ็กซ์จะต้องรับผิดเฉพาะเงินต้นจำนวน 2,000 เท่านั้น
ข้อ 3 นายเอกเป็นข้าราชการหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ถูกราชการมีคำสั่งให้ไปประจำที่ชายแดนภาคอีสานเกรงว่ารถที่ตนใช้อยู่เป็นประจำจะเสียหายไม่มีคนดูแล จึงนำไปฝากให้นายโทช่วยดูแล โดยขอฝากไว้มีกำหนดหกเดือน แต่เพื่อไม่ให้รถเสียและเพื่อตอบแทนที่นายโทช่วยดูแลรถ นายเอกจึงอนุญาตให้นายโทยืมรถออกขับขี่ใช้งานได้ตามที่นายโทมีความจำเป็น ปรากฏว่าผ่านไป 3 เดือน นายเอกได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับภูมิลำเนาเดิม จึงมาเรียกรถคืนจากนายโท ดังนี้ หากนายโทอ้างว่านายเอกตกลงให้ตนยืมใช้เป็นเวลาถึงหกเดือน และตนก็ยังมีความจำเป็นที่จะใช้รถอยู่จะขอส่งคืนในตอนที่ครบกำหนดหกเดือนตามที่เคยตกลงไว้ ข้อต่อสู้ของนายโทรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้
มาตรา 660 ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเองหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 663 ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตามถ้าว่าผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใดๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ แม้จะมีการอนุญาตให้นายโทใช้รถยนต์ได้ก็ตาม ก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่านิติสัมพันธ์ที่ทำกันระหว่างนายเอกกับนายโท เป็นนิติสัมพันธ์กันในสัญญายืม เพราะตามอุทาหรณ์ เจตนาของคู่สัญญาส่วนใหญ่ต้องการให้ดูแลอารักขาทรัพย์สินยิ่งกว่าที่จะให้ใช้ทรัพย์สิน เนื่องจากนายเอกเจ้าของทรัพย์สินมีความจำเป็นต้องไปประจำการต่างจังหวัดชายแดน ไม่อาจดูแลรักษาทรัพย์สินของตนได้ การรับทรัพย์สินไว้ดูแลจึงเป็นการทำไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์ จึงเป็นเรื่องของสัญญาฝากทรัพย์ แม้ผู้ฝากจะอนุญาตให้ผู้รับฝากใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ ก็มิได้หมายความว่า จะทำให้กลายเป็นสัญญายืมไป แต่ก็ยังคงเป็นสัญญาฝากทรัพย์ได้อยู่ สังเกตได้จากความในมาตรา 660 ก็ยอมให้ผู้ฝากอนุญาตให้ผู้รับฝากใช้สอยทรัพย์สินที่ฝากได้
เมื่อเรื่องนี้เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของเจ้าของทรัพย์ หรือผู้ที่ส่งมอบทรัพย์ และเป็นการมอบหมายให้อารักขาทรัพย์สินกัน อันนับได้ว่า เป็นเรื่องของสัญญาฝากทรัพย์ตามมาตรา 657 ไม่ใช่สัญญายืมอันจะถือว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ทรัพย์หรือผู้ยืม ดังนั้นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้นั้น จึงเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้สำหรับผู้ฝากทรัพย์ ซึ่งชอบที่จะสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นได้ ทั้งนี้เป็นตามมาตรา 663 ที่กำหนดว่า “ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะได้กำหนดเวลาไว้ว่าพึงจะคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตาม ถ้าว่าผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใดๆผู้รับฝากก็ต้องคืนให้”
เพราะฉะนั้น ตามอุทาหรณ์ แม้นายเอกจะทำสัญญาฝากรถยนต์ไว้กับนายโท เป็นเวลา 6 เดือน โดยนายโทใช้สอยรถยนต์นั้นได้ก็ตาม เมื่อนายเอกมาเรียกคืนก่อนกำหนด 6 เดือน กล่าวคือ เรียกคืนเมื่อได้ฝากกันไว้เพียง 3 เดือนเท่านั้น นายโทผู้รับฝากก็ต้องคืนให้ตามมาตรา 663 จะอ้างว่าขาดประโยชน์ในการที่จะใช้รถนั้นต่อไปอีก 3 เดือนไม่ได้ เพราะนายโทไม่ใช่ผู้ยืม หากแต่เป็นผู้รับฝากดังกล่าวแล้ว นายโทจึงไม่อาจอ้างเอาเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้นั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ข้อต่อสู้ของนายโทจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของนายโทรับฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นเรื่องสัญญาฝากทรัพย์ ผู้ฝากเรียกทรัพย์คืนก่อนกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้