การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2545
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 สัญญายืมใช้คงรูปกับสัญญาฝากทรัพย์โดยทั่วไปที่มิใช่สัญญาฝากเงิน มีข้อเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้
ส่วนที่เหมือนกัน
1 มีคู่สัญญาสองฝ่าย กล่าวคือ สัญญายืมใช้คงรูป มีผู้ยืมและผู้ให้ยืม ส่วนสัญญาฝากทรัพย์มีผู้ฝากและผู้รับฝาก
2 เป็นสัญญาที่บริบูรณ์โดยการส่งมอบทรัพย์ที่ยืมหรือฝาก
3 วัตถุแห่งสัญญานั้นเป็นทรัพย์สิน
4 มีการคืนทรัพย์สินเมื่อผู้ยืมใช้สอยเสร็จแล้วให้กับผู้ให้ยืมเช่นเดียวกับผู้รับฝากที่ต้องส่งคืนทรัพย์สินให้กับผู้ฝาก
5 เป็นสัญญาที่ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ผู้ยืมใช้คงรูปหรือผู้รับฝากคงมีเพียงสิทธิครอบครองทรัพย์สินที่ยืมหรือรับฝากไว้เท่านั้น (ยกตัวอย่างประกอบ)
ส่วนที่ต่างกัน
1 ค่าตอบแทน สัญญายืมใช้คงรูปนั้น ผู้ยืมใช้สอยได้เปล่า หากมีค่าตอบแทนแล้วจะไม่ใช่สัญญายืมใช้คงรูป อาจเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ได้ แต่สัญญาฝากทรัพย์จะมีค่าตอบแทน (บำเหน็จฝาก) หรือไม่ก็ได้ (ยกตัวอย่างประกอบ)
2 วัตถุประสงค์ของสัญญา สัญญายืมใช้คงรูปนั้นผู้ยืมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ แต่สัญญาฝากทรัพย์นั้นผู้รับฝากต้องเก็บทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาของตน ไม่มีสิทธินำทรัพย์ที่รับฝากไว้ไปใช้สอย (ยกตัวอย่างประกอบ)
ข้อ 2 นายจุ๊บกับนายจิ๊บเป็นฝาแฝดกัน นายจุ๊บแฝดผู้พี่ขอยืมเงินนายจิ๊บแฝดผู้น้อง เป็นจำนวนเงินสองพันบาท เพื่อนำไปจ่ายค่าสุราที่ตนยังค้างชำระที่ร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง โดยการยืมเงินครั้งนี้ได้ทำเป็นหนังสือไว้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมานายจุ๊บได้นำข้าวสารให้นายจิ๊บแทนการชำระหนี้ ดังนี้ นายจุ๊บจะต้องทำหลักฐานอย่างอื่นเพื่อให้การชำระหนี้บริบูรณ์ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ จงอธิบายโดยละเอียด
ธงคำตอบ
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
วินิจฉัย
การที่ฝาแฝดจุ๊บจีบกู้ยืมเงินกันไม่เกิน 2,000 บาท โดยธรรมดาแล้วไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็สามารถฟ้องร้องคดีกันได้ตามมาตรา 653 วรรคแรก และตามอุทาหรณ์การกู้ยืมเงินไปจ่ายค่าสุราไม่ถือเป็นการผิดกฎหมาย การกู้ยืมจึงถือเป็นการผูกพันต่อคู่สัญญา ในกรณีนี้การกู้ยืมเงินเป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท และได้ทำเป็นหนังสือด้วย โดยทั่วไปจึงมีผลทำให้การคืนเงินจะต้องมีหลักฐานในการคืนเงินอย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว มิฉะนั้นจะต้องชำระหนี้ใหม่ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้กู้ได้คืนสิ่งของแทนการคืนเงินสด ดังนั้น การคืนจึงไม่ต้องมีหลักฐานการใช้เงินกู้ตามที่มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดไว้แต่อย่างใด เพราะการใช้เงินตามนัยมาตรา 653 วรรคสองนั้น หมายถึง การนำเงินสดมาใช้ต้นเงินกู้เท่านั้นที่จะต้องมีหลักฐานการใช้เงินกู้ดังกล่าว กรณีไม่รวมถึงการใช้ดอกเบี้ย หรือนำสิ่งอื่นมาใช้ต้นเงินกู้ด้วย
สรุป นายจุ๊บไม่ต้องทำหลักฐานการใช้สิ่งของแทนการคืนเงินสดเพื่อให้การชำระหนี้บริบูรณ์แต่อย่างใด
ข้อ 3 นายเอกเดินทางไปธุระที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างทางได้พักแรมยังโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีนายโทเป็นเจ้าของและผู้จัดการโรงแรม ก่อนเข้าพักแรมนายโทได้ให้นายเอกกรอกประวัติลงในใบลงทะเบียนผู้เข้าพักและในเอกสารดังกล่าวมีข้อความพิมพ์ไว้ในตอนล่างว่า “ทางโรงแรมจะไม่รับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายใดๆที่เกิดแก่ทรัพย์สินของผู้พักแรม” นายเอกเมื่อกรอกประวัติแล้วได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เข้าพักแรม ต่อมาวันรุ่งขึ้น นายเอกพบว่ารถยนต์ของตนถูกคนร้ายลักไป จึงรีบแจ้งให้นายโทผู้จัดการโรงแรมทราบเพื่อให้รับผิดชอบต่อรถยนต์ที่สูญหาย นายโทปฏิเสธไม่ยอมรับผิดใดๆทั้งสิ้น โดยอ้างว่านายเอกได้ยอมตกลงกับตนในข้อความยกเว้นความรับผิดทั้งหลายแล้ว โดยลงชื่อในใบลงทะเบียนพักแรม นายเอกจึงมาปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องเรียกให้นายโทผู้จัดการโรงแรมรับผิดชอบต่อตน ถ้าท่านเป็นทนายความท่านจะให้คำปรึกษาว่านายเอกจะฟ้องให้นายโทรับผิดต่อตนได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 674 เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา
มาตรา 675 วรรคแรก เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหาย หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
มาตรา 676 ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้นคนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675
มาตรา 677 ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น
วินิจฉัย
ข้อความยกเว้นความรับผิดที่ปรากฏอยู่ในใบลงทะเบียนเข้าพักแรม และนายเอกลงชื่อในใบเข้าพักแรมดังกล่าวไม่ได้หมายความว่านายเอกผูกพันในข้อยกเว้นความรับผิดด้วย เพราะมาตรา 677 บัญญัติว่าข้อความยกเว้นความรับผิดจะผูกพันแขกพักแรมต่อเมื่อได้เข้าตกลงด้วยโดยชัดแจ้ง ดังนั้น โรงแรมจึงต้องรับผิดต่อทรัพย์สินทั้งหลายของนายเอก จะอ้างว่านายเอกยอมตกลงในข้อยกเว้นความรับผิดหาได้ไม่
ความรับผิดของโรงแรมเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 674 คือต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางที่เขานำติดตัวมาด้วย และตามมาตรา 675 เจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดแม้ความสูญหายจะเกิดเพราะผู้คนที่ไปมาเข้าออกยังโรงแรม ดังนั้น เมื่อรถยนต์ของนายเอกผู้เป็นแขกพักแรมถูกขโมยไป นายโทเจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดชดใช้ราคารถยนต์นั้น และนอกจากนั้น นายเอกก็ได้แจ้งให้นายโททราบทันทีที่พบว่ารถยนต์หายตามมาตรา 676 นายโทจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อนายเอกได้
สรุป นายเอกสามารถฟ้องให้นายโทรับผิดต่อตนได้