การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมาตั้งใจจะยืมรถยนต์ปิคอัพของบุญมีเพื่อไปใช้รับคนโดยสาร แต่ไม่ได้แจ้งให้บุญมีทราบว่าจะเอาไปใช้อย่างไร บุญมีเห็นว่าเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมกันก็ให้มาโดยไม่ได้ถามว่าจะเอาไปใช้อย่างไรและนานเท่าใด บุญมานำรถยนต์ที่ยืมมาไปต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวแล้วให้ชะเมาเช่ารับคนโดยสาร วันหนึ่งขณะที่ชะเมาขับหาผู้โดยสารนั้น ชมวงขี่มอเตอร์ไซค์มาชนท้ายทำให้เสียหาย      ถ้าจะซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมจะต้องใช้เงินห้าพันบาท ดังนี้บุญมาจะต้องรับผิดต่อบุญมีชดใช้     ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืมหรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  646  วรรคสอง  ถ้าเวลามิได้กำหนดกันไว้  ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่า  ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างบุญมากับบุญมีเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  ตามมาตรา  640  ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีการกำหนดเวลาคืนรถยนต์ปิคอัพทรัพย์สินที่ยืม ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใด  ผลทางกฎหมายตามมาตรา  646  วรรคสอง  คือ  บุญมีผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกให้บุญมาคืนรถยนต์ปิคอัพดังกล่าวเมื่อใดก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยคือ  บุญมาจะต้องรับผิดต่อบุญมีในการชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืมหรือไม่  เห็นว่า  การที่บุญมาผู้ยืมนำรถยนต์ปิคอัพไปใช้ผิดสภาพอันปกติกับทรัพย์สินที่ยืม  กล่าวคือ  ต่อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวและเอาไปให้ชะเมาเช่ารับคนโดยสาร  ถือได้ว่า  มีการเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ผู้ยืมจึงต้องรับผิดในความสุญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดกับทรัพย์สินที่ยืม  เพราะเหตุที่ตนประพฤติผิดหน้าที่  ตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา  643  แม้จะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ยังคงต้องรับผิด  ดังนั้นเมื่อบุญมาผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้วเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินนั้น  แม้ความเสียหายนั้นจะเกิดจากบุคคลภายนอก  บุญมาผู้ยืมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์ที่ยืม  ตามมาตรา  643

สรุป  บุญมาจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายแก่บุญมี

 

 ข้อ  2  พระภิกษุจำลองให้เงินนายพิภพยืมไปกินเหล้าและเที่ยวเตร่กับเพื่อนเป็นเงิน 2,100 บาท โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย  ต่อมาหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นหายไป  ดังนี้ พระภิกษุจำลองจะฟ้องนายพิภพเพื่อเรียกเงินคืนนั้นได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  150  การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  พระภิกษุจำลองสามารถให้กู้ยืมเงินได้ตามกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พระภิกษุเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมาย  จึงมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายเท่าเทียมกันกับบุคคลธรรมดาทั่วไป  ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามพระภิกษุนำเงินส่วนตัวของตนออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย  ดังนั้นพระภิกษุจำลองสามารถให้นายพิภพกู้ยืมเงินได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ  (ฎ. 3773/2538)

ส่วนประเด็นที่ให้ยืมเงินไปดื่มเหล้าและเที่ยวเตร่ถือเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  150  หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักนิติกรรมแล้วการใดๆ  ที่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  ผิดศีลธรรมอันดีหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  จะตกเป็นโมฆะ  แต่กรณีการให้ยืมเงินไปกินเหล้าและเที่ยวเตร่  ยังไม่ถือว่าเป็นการยืมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย  ทั้งยังไม่พอจะถือว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอันดีของประชาชน  การยืมเงินจึงมีผลสมบูรณ์และถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา  150

เมื่อเป็นการกู้ยืมเงินกว่า  2,000  บาทขึ้นไป   ตามมาตรา  653  วรรคแรกนั้นบังคับว่าถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย  จะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่  แต่กรณีนี้ได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามมาตรา  653  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่หลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นหายไป  พระภิกษุจำลองจะฟ้องนายพิภพเพื่อเรียกเงินคืนได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว  ก็ถือได้ว่า  การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ  ตามนัยมาตรา  653  วรรคแรกแล้ว  แม้จะทำสัญญากู้ยืมเงินหายไป  ก็สามารถนำพยานบุคคลมานำสืบว่าเคยมีหลักฐานอยู่จริงได้  (ฎ.  34/2476)

สรุป  พระภิกษุจำลองสามารถฟ้องนายพิภพเรียกเงินคืนได้

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์ได้ติดต่อโรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษกเพื่อขอใช้ห้องจัดเลี้ยงสัมมนา 1 วัน  ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกาถึง 17.00 นาฬิกา  โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา 100 คน  ทางโรงแรมได้คิดค่าใช้จ่ายการใช้ห้องจัดเลี้ยงรวมค่าอาหารกลางวันและอาหารว่างในราคา 500 บาท  ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา 1 คน  ในวันจัดเลี้ยง  ขณะที่นายหนึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจอดรถไว้ยังที่จอดรถของโรงแรมและเข้าไปร่วมสัมมนา  นายสองได้เข้ามารับประทานอาหารที่ห้องอาหารจีนของโรงแรมและขับรถเฉี่ยวชนรถของนายหนึ่งไฟท้ายรถของนายหนึ่งแตก  ท้ายรถบุบ คิดเป็นค่าเสียหาย 4,000 บาท  เมื่อนายหนึ่งรู้ได้รีบแจ้งนายอาทิตย์ผู้จัดสัมมนาและนายจันทร์ผู้จัดการโรงแรมทราบทันที  และขอให้โรงแรมรับชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 4,000 บาทแก่ตน  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าโรงแรมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อนายหนึ่งหรือไม่  โดยใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องเจ้าสำนักโรงแรม

ธงคำตอบ

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

วินิจฉัย

ตามมาตรา  674  นี้ได้กำหนดวางหลักทั่วไปว่าหากไม่มีผู้รับผิดโดยชัดแจ้งแล้ว  ให้เจ้าสำนักรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  ที่เกิดกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่เข้ามาพักในโรงแรม

สำหรับ  คนเดินทางหรือแขกอาศัย  หมายความถึง  ผู้ที่มาพักอาศัยในโรงแรมหรือสถานที่เช่นเดียวกัน  โดยประสงค์จะหาที่อยู่หรือที่พักเป็นการชั่วคราว  โดยเสียค่าพักอาศัย  ไม่หมายรวมถึงผู้เข้าพักโดยมิได้เสียค่าเช่าที่พัก  เช่น  ผู้จัดการโรงแรม  คนงาน  หรือบุคคลอื่นที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยมาพักอยู่ด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายหนึ่งเป็นผู้เข้าร่วมสัมมนาในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรม  ไม่ใช่ผู้เข้ามาพักแรมหรือพักอาศัยในโรงแรม  โรงแรมจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของนายหนึ่ง  ทั้งนี้  เพราะนายหนึ่งไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในความหมายของคำว่า  คนเดินทาง  หรือ  แขกอาศัย  ในมาตรา  674  ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวนั่นเอง

สรุป  โรงแรมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อนายหนึ่ง

Advertisement