การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  สัญญายืมใช้คงรูป  และยืมใช้สิ้นเปลืองนั้นเหมือนกันและต่างกันอย่างไร  อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  สัญญายืมใช้คงรูปกับยืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันดังนี้

ลักษณะที่เหมือนกัน

1       เป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่กรณี  2  ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  โดยแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายละคนเสมอไป  อาจจะมากกว่าหนึ่งคนก็ได้  และจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ได้  กฎหมายไม่ได้จำกัดไว้  เพียงแต่ต้องมีคู่กรณี  2  ฝ่ายจึงจะเกิดเป็นสัญญาได้

2       ผู้ให้ยืมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมได้ใช้สอย  จึงถือได้ว่า  การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมเป็นแบบแห่งความสมบูรณ์ของสัญญายืม  หากไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  สัญญายืมจึงไม่สมบูรณ์   ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด  เช่น  นาย  ก.  ยืมแจกันจาก  นาง  ข.  แต่นาง  ข.  ยังไม่ว่างจึงยังไม่หยิบให้  เช่นนี้ถือว่าสัญญายืมยังไม่สมบูรณ์  เพราะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

3       เมื่อผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว  ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้ให้ยืม  ซึ่งทำให้สัญญายืมมีลักษณะต่างจากสัญญาประเภทอื่น  เช่น  หากเป็นการให้เอาไปใช้สอยได้เปล่าโยไม่ต้องส่งคืนก็หาเป็นสัญญายืม  แต่อาจเป็นสัญญาให้  หรือหากเป็นการให้ใช้สอยทรัพย์สินโดยเสียค่าตอบแทนและไม่ต้องส่งคืนเช่นนี้  ก็อาจเป็นสัญญาซื้อขายได้

ลักษณะที่ต่างกัน

1       สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  เป็นสัญญาที่ผู้ยืมได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  กล่าวคือ  ได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วก็ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ดังนี้  กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมจึงไม่โอนไปยังผู้ยืม  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมโอนไปยังผู้ยืม  ตัวอย่างเช่น  นาย  ก.  ยืมน้ำปลาของนาย  ข.  ไปให้ภรรยาดูราคาข้างขวด  เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  กรรมสิทธิ์ในน้ำปลายังไม่โอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม  แต่หากนาย  ก.  ยืมน้ำปลา  1  ขวดเพื่อไปใช้ทำอาหาร  เช่นนี้ถือว่า  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  กรรมสิทธิ์น้ำปลาขวดที่ยืมจึงโอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม

2       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมใช้ทรัพย์สินที่ยืมได้เปล่า  ไม่เสียค่าตอบแทน  หากเสียค่าตอบแทนก็อาจเป็นสัญญาอื่น  เช่น  สัญญาเช่าทรัพย์ไป  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองผู้ยืมอาจได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมไปโดยเสียค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ก็ได้  เช่น  สัญญากู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยและหรือค่าธรรมเนียม

3       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  จะส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้นไม่ได้  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ผู้ยืมไม่ต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  แต่ต้องส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  เนื่องจากวัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เป็นทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปหรือหมดสภาพไปเพราะการใช้  จึงเป็นไปไม่ได้เองที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นเหมือนกับสัญญายืมใช้คงรูป

 

ข้อ  2  นางอินศรีแม่เลี้ยงนางเอิบสุรีย์ได้ให้เงินนางเอิบสุรีย์ยืมไปกินเหล้าดับความทุกข์ที่สามีนางเอิบสุรีย์จากไปแต่งงานใหม่กับหญิงอื่น  โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ  1.25  บาทต่อเดือน  และได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมาย  ต่อมานางเอิบสุรีย์ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสดทุกเดือนเป็นเวลา  1  ปี  และชำระดอกเบี้ยเป็นเช็คเงินสดทุกเดือนอีกในระยะ  1  ปีหลัง  โดยไม่มีหลักฐานการคืนเงินใดๆ  ดังนี้ หากนางอินศรีเจ้าหนี้ต้องการบังคับให้นางเอิบสุรีย์ใช้เงินดอกเบี้ยอีกครั้ง  พร้อมทั้งเงินต้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

วินิจฉัย

นางอินศรีได้ให้นางเอิบสุรีย์กู้ยืมเงิน  คิดดอกเบี้ยร้อยละ  1.25  บาทต่อเดือน  โยทำหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง  กรณีนี้ไม่ถือว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  150  เพราะยังไม่ถือว่าการกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อสุราผิดกฎหมายแต่อย่างใด  จึงถือว่าสัญญากู้ยืมเงินสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ต่อมานางเอิบสุรีย์ก็ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเงินสด  และเช็คเงินสดในทุกๆเดือน  แต่ไม่ได้มีหลักฐานในการคืนเงินใดๆ  ดังนี้  หากนางอินศรีต้องการให้นางเอิบสุรีย์ใช้เงินดอกเบี้ยอีก  นางเอิบสุรีย์ก็ปฏิเสธไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งได้ เพราะการที่จะมีหลักฐานการคืนเงินที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ตามมาตรา  653  วรรคสอง  นั้น  จะต้องเป็นการคืนเงินต้นเท่านั้น  ไม่มีบทบัญญัติให้การคืนดอกเยต้องมีหลักฐานการคืนเงินเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ฉะนั้นจึงสามารถนำสืบพยานบุคคลเพื่อให้เห็นถึงการคืนเงินดอกเบี้ยได้ ไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินในกรณีนี้  ส่วนเงินต้นเมื่อนางเอิบสุรีย์ยังมิได้ชำระนางเอิบสุรีย์ก็ต้องชำระแก่นางอินศรีตามกฎหมาย

สรุป  นางเอิบสุรีย์ไม่ต้องใช้เงินดอกเบี้ยแก่นางอินศรีอีกครั้ง  จำต้องชำระแต่เพียงเงินต้นเท่านั้น

 

ข้อ  3  นายกล้ารับราชดารเป็นทหาร  ได้รับคำสั่งให้ไปประจำการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  ตุลาคม  2548  เป็นต้นไป  นายกล้าได้จัดการนำรถยนต์ของตนไปฝากจอดไว้ที่บ้านนายเก่งที่อยู่ติดกัน  และให้นายเก่งดูแลรักษาโดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จเดือนละ  500  บาท  ต่อมาเมื่อครบกำหนด  1  ปี  นายกล้ากลับมาประจำการที่กรุงเทพมหานครตามเดิม  จึงมาขอรับรถยนต์คืน  โดยไม่เอ่ยถึงค่าบำเหน็จจำนวน  6,000  บาทเลย  เท่าค่าบำเหน็จที่นายกล้าต้องจ่ายให้นายเก่ง  นอกจากนั้นนายเก่งยังอ้างถึงสิทธิของตนในฐานะที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์  ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่ฝากไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินค่าบำเหน็จ  แต่ตนเห็นว่าหากจะยึดรถยนต์ที่ฝากไว้ก็จะมีราคาสูงกว่าค่าบำเหน็จ  จึงได้เพียงแค่ถอดโทรทัศน์ในรถยนต์ออกเก็บไว้  เพราะมีราคาใกล้เคียงกับค่าบำเหน็จที่ค้างชำระ  ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายเก่งมีสิทธิหน่วงทรัพย์ดังกล่าวจนกว่าจะได้รับค่าบำเหน็จหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  670  ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้างชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น

วินิจฉัย 

จากบทบัญญัติดังกล่าว  เป็นการให้สิทธิแก่ผู้รับฝากในการยึดหน่วงทรัพย์สินที่ฝากได้ในกรณีที่ผู้ฝากยังคงเป็นหนี้ผู้รับฝากเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้นอยู่  กล่าวคือ  มีสิทธิยึดหน่วงจนกว่าผู้ฝากจะชำระหนี้  กรณีตามอุทาหรณ์  นายกล้าได้ทำสัญญาฝากรถยนต์ของตนกับนายเก่ง  โดยตกลงให้ค่าบำเหน็จเดือนละ  500  บาท  จนกระทั่งผ่านไป  1  ปี    นายกล้าได้ขอรับรถยนต์คืนแต่มิได้เอ่ยถึงค่าบำเหน็จจำนวน  6,000  บาท  ที่นายกล้าต้องชำระแก่นายเก่ง  นายเก่งจึงคืนรถยนต์ไปแต่ได้ถอดเครื่องรับโทรทัศน์ที่ติดกับรถยนต์ของนายกล้าออกไว้  โดยอ้างว่าโทรทัศน์มีราคา  6,000  บาท  เท่ากับค่าบำเหน็จที่นายกล้าต้องจ่ายให้นายเก่ง  ทั้งยังอ้างสิทธิยึดหน่วงของผู้รับฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  อีกด้วย  กรณีเช่นนี้นายเก่งไม่สามารถอ้างได้  เพราะการใช้สิทธิขิงผู้รับฝากเพื่อยึดหน่วงทรัพย์ที่รับฝากจนกว่าจะได้รับเงินที่ค้างชำระเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  นั้น  ต้องเป็นการใช้สิทธิยึดตัวทรัพย์ที่นำมาฝาก  แต่โทรทัศน์ติดรถยนต์ไม่ใช่ตัวทรัพย์ที่รับฝาก  เป็นเพียงสิ่งที่ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่นั่งในรถยนต์ที่นำมาติดไว้ในรถยนต์  ทั้งยังมิใช่ส่วนควบของรถยนต์อีกด้วย  การใช้สิทธิยึดหน่วงทรัพย์ต่างๆ  ที่ติดมาในรถยนต์  จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้รับฝากทรัพย์ตามมาตรา  670  แต่อย่างใด

สรุป  นายเก่งจึงไม่มีสิทธิยึดโทรทัศน์ที่ติดอยู่ในรถยนต์เพื่อเรียกร้องค่าบำเหน็จด้วยเหตุผลข้างต้น

Advertisement