การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ให้อธิบายถึงลักษณะของสัญญายืมใช้คงรูปและสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  อนึ่งสัญญาทั้งสองนี้มีลักษณะเหมือนกันและต่างกันอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้นท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  สัญญายืมใช้คงรูปกับยืมใช้สิ้นเปลืองมีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันดังนี้

ลักษณะที่เหมือนกัน

 1       เป็นสัญญาซึ่งประกอบด้วยคู่กรณี  2  ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  โดยแต่ละฝ่ายไม่จำเป็นต้องมีฝ่ายละคนเสมอไป  อาจจะมากกว่าหนึ่งคนก็ได้  และจะเป็นบุคคลธรรมดา  หรือนิติบุคคลก็ได้  กฎหมายไม่ได้จำกัดไว้  เพียงแต่ต้องมีคู่กรณี  2  ฝ่ายจึงจะเกิดเป็นสัญญาได้

2       ผู้ให้ยืมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมได้ใช้สอย  จึงถือได้ว่า  การส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมเป็นแบบแห่งความสมบูรณ์ของสัญญายืม  หากไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  สัญญายืมจึงไม่สมบูรณ์   ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด  เช่น  นาย  ก.  ยืมแจกันจาก  นาง  ข.  แต่นาง  ข.  ยังไม่ว่างจึงยังไม่หยิบให้  เช่นนี้ถือว่าสัญญายืมยังไม่สมบูรณ์  เพราะยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

3       เมื่อผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว  ผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินให้กับผู้ให้ยืม  ซึ่งทำให้สัญญายืมมีลักษณะต่างจากสัญญาประเภทอื่น  เช่น  หากเป็นการให้เอาไปใช้สอยได้เปล่าโยไม่ต้องส่งคืนก็หาเป็นสัญญายืม  แต่อาจเป็นสัญญาให้  หรือหากเป็นการให้ใช้สอยทรัพย์สินโดยเสียค่าตอบแทนและไม่ต้องส่งคืนเช่นนี้  ก็อาจเป็นสัญญาซื้อขายได้

ลักษณะที่ต่างกัน

 1       สัญญายืมใช้คงรูปนั้น  เป็นสัญญาที่ผู้ยืมได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว  กล่าวคือ  ได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน  เมื่อใช้สอยเสร็จแล้วก็ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ดังนี้  กรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมจึงไม่โอนไปยังผู้ยืม  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ยืมโอนไปยังผู้ยืม  ตัวอย่างเช่น  นาย  ก.  ยืมน้ำปลาของนาย  ข.  ไปให้ภรรยาดูราคาข้างขวด  เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญายืมใช้คงรูป  กรรมสิทธิ์ในน้ำปลายังไม่โอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม  แต่หากนาย  ก.  ยืมน้ำปลา  1  ขวดเพื่อไปใช้ทำอาหาร  เช่นนี้ถือว่า  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  กรรมสิทธิ์น้ำปลาขวดที่ยืมจึงโอนไปยังนาย  ข.  ผู้ยืม

2       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมใช้ทรัพย์สินที่ยืมได้เปล่า  ไม่เสียค่าตอบแทน  หากเสียค่าตอบแทนก็อาจเป็นสัญญาอื่น  เช่น  สัญญาเช่าทรัพย์ไป  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลืองผู้ยืมอาจได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมไปโดยเสียค่าตอบแทนด้วยหรือไม่ก็ได้  เช่น  สัญญากู้ยืมเงินโดยมีดอกเบี้ยและหรือค่าธรรมเนียม

3       สัญญายืมใช้คงรูป  ผู้ยืมต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  จะส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้นไม่ได้  แต่สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  ผู้ยืมไม่ต้องส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  แต่ต้องส่งคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ยืมมานั้น  เนื่องจากวัตถุแห่งสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เป็นทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปหรือหมดสภาพไปเพราะการใช้  จึงเป็นไปไม่ได้เองที่จะต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้นเหมือนกับสัญญายืมใช้คงรูป

 

ข้อ  2  นายอินมีอาชีพปล่อยเงินกู้  บวชเป็นพระได้  3  เดือน  พระภิกษุอินจึงได้ปล่อยเงินให้นางจักรายืมเงินเป็นจำนวน  100,000  บาท ในการนี้พระภิกษุอินได้ให้นางจักราทำหนังสือยืมเงิน  ความว่า  ข้าพเจ้าได้รับเงินจากพระภิกษุอิน  เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  และข้าพเจ้าจะคืนเงินดังกล่าว  พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ  16  ต่อปี  ในวันที่  15  ตุลาคม  2549  นางจักราได้ลงนามโดยใช้ชื่อเล่นของตนลงในหนังสือยืมเงินว่า  ทุซซี่  ส่วนพระภิกษุอินได้ลงแกงไดในส่วนผู้ให้ยืมเงิน  โดยไม่มีผู้ใดเป็นพยาน  ดังนี้  สัญญายืมเงินดังกล่าว  มีผลตามกฎหมายหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคหนึ่ง  วรรคสอง  เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ  บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเอง  แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ  แกงได  ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อ  หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

1       พระภิกษุอินสามารถปล่อยเงินให้ชาวบ้านกู้ยืมเงินได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ  เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามพระภิกษุนำเงินส่วนตัวของตนออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย  พระภิกษุก็เป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมาย  จึงมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายเท่าเทียมกันกับบุคคลธรรมดาทั่วไป  (ฎ. 3773/2538)

2       การที่พระภิกษุอินให้นางจักราเขียนหนังสือรับว่าตนเป็นผู้กู้ยืมเงินนั้น  หนังสือดังกล่าวถือว่าใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินได้ตามมาตรา  653  เพราะมีลายมือชื่อผู้รับผิดคือผู้กู้เอง  แม้จะลงลายมือชื่อเล่นก็ตาม  กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องลงชื่อจริงเท่านั้น  จะลงชื่อเล่นหรือลงชื่อเป็นภาษาต่างประเทศก็ได้

3       การที่พระภิกษุลงแกงไดมีผลเป็นโมฆะเฉพาะในส่วนที่ตนไม่มีพยานรับรองตามมาตรา  9  วรรคสอง  แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานการทำเป็นหนังสือกู้ยืมเสียไป  เพราะกฎหมายต้องการเพียงลายมือชื่อผู้ยืม (นางจักราหรือทุซซี่)  เท่านั้น

4       แต่ข้อความในหนังสือที่ให้ยืมพร้อมดอกเบี้ยนั้นทำให้ภิกษุอินฟ้องคืนดอกเบี้ยไม่ได้เลย  เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฎหมายมาตรา  654  ที่กำหนดให้เรียกดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ  15  และยังขัดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  จึงทำให้ดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งหมด  ขอคืนได้เพียงเงินต้นเท่านั้น

สรุป  สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีผลสมบูรณ์เฉพาะเงินต้น  ส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ

 

ข้อ  3  นายดำฝากเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทไว้กับนายแดง  โดยทุกๆวันสิ้นเดือนจะขอรับคืนเดือนละสองหมื่นบาท  แต่จะให้นายเขียวลูกจ้างมาเป็นคนรับแทนทั้งสองปฏิบัติตามที่ตกลงกันมาได้สองเดือน  พอล่วงเข้าต้นเดือนที่สาม  นายแดงนำเงินของนายดำจำนวนห้าหมื่นบาทไปจ่ายค่าสินค้าที่ค้างชำระเงินของนายแดงที่เก็บอยู่จึงเหลืออีกหนึ่งหมื่นบาท  ปรากฏว่า  ตกกลางคืนมีพายุฝนตกหนักและน้ำป่าหลากมาท่วมบ้านเรือน  และพัดพาทรัพย์สินลอยน้ำไป  บ้านของนายแดงได้รับความเสียหายเมื่อน้ำลดมาตรวจดูพบว่าทรัพย์สินหลายอย่างรวมทั้งเงินของนายดำที่ฝากไว้ถูกพัดหายไป  ดังนี้  นายแดงจะต้องคืนเงินที่เหลือแก่นายดำหรือไม่  จำนวนเท่าใด  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

วินิจฉัย

นายดำฝากเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทไว้กับนายแดงโดยทุกวันสิ้นเดือนจะขอรับเงินคืนเดือนละสองหมื่นบาท  ปรากฏว่านายดำรับเงินคืนไปเพียงสี่หมื่นบาท  นายแดงได้นำเงินของนายดำจำนวนห้าหมื่นบาทไปจ่ายสินค้าที่ตนค้างชำระ  เช่นนี้  ในเรื่องการฝากเงินมาตรา  672  ให้ผู้รับฝากเงินมีสิทธินำเงินที่ฝากออกใช้สอยได้  แต่ต้องคืนให้ครบจำนวน  นายแดงจึงมีสิทธินำเงินที่ฝากไปจ่ายค่าสินค้า  แต่ต้องรับผิดชอบคืนเงินนี้แก่นายดำผู้ฝาก

ส่วนเงินที่ยังเหลืออีกหนึ่งหมื่นบาทแม้ถูกน้ำท่วมพัดพาหายไป  แต่หลักกฎหมายมาตรา  672  บัญญัติให้ผู้รับฝากเงินต้องรับผิดแม้ความเสียหายจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย  ดังนั้น  นายแดงจึงต้องรับผิดคืนเงินที่ถูกน้ำพัดพานี้ไปด้วย

สรุป  นายแดงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนหกหมื่นบาทแก่นายดำ

Advertisement