การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ดำตกลงให้แดงยืมรถยนต์ไปธุระเชียงใหม่เป็นเวลา  10  วัน  ครบกำหนด  10  วันแล้ว  แดงเกิดมีธุระที่จะต้องไปทำต่อที่เชียงรายอีก  7  วัน  หลังจากนั้นจึงขับรถยนต์กลับกรุงเทพฯ  ระหว่างทางเกิดมีพายุฝนตกน้ำป่าไหลหลากมาท่วมถนนอย่างรวดเร็ว  สุดวิสัยที่แดงจะขับรถหนีได้ทัน  รถยนต์ของดำต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง  ทำให้เครื่องยนต์เสียหายต้องซ่อมแซม  เป็นเงิน  50,000  บาท อยากทราบว่าค่าซ่อมแซมรถนี้ดำจะเรียกร้องจากแดงได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  643  ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

วินิจฉัย

การที่ดำตกลงให้แดงยืมรถไปใช้ธุระที่เชียงใหม่เป็นเวลา  10  วันนั้น  เข้าลักษณะยืมใช้คงรูป  การที่แดงเอารถยนต์ของดำไปทำธุระต่อที่เชียงราย  จึงเป็นการใช้ทรัพย์ที่ยืมนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  สัญญายืมรถนี้มีกำหนด  10  วัน  การที่แดงเอารถยนต์ไปธุระต่ออีก  7  วัน  จึงเป็นการเอาทรัพย์ที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ด้วย  ฉะนั้นตามบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะยืมใช้คงรูปมาตรา  643  แดงผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์ที่ยืมนั้นบุบสลายเสียหายไป  

แม้ถึงว่าจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม  แดงจะยกเอาเหตุสุดวิสัยนั้นมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดไม่ได้  ตามความจริงถ้าหากแดงได้ใช้รถยนต์ที่ยืมมาตามการอันปรากฏในสัญญาและมิได้เอารถยนต์ที่ยืมมาไว้ใช้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้แล้ว  ความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์ที่ยืมอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยนั้นย่อมจะตกอยู่แก่ดำซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์  แดงหาต้องรับผิดชอบด้วยไม่  กรณีตามปัญหานี้แดงประพฤติผิดหน้าที่ผู้ยืมซึ่งผลแห่งการปฏิบัติผิดหน้าที่ดังกล่าวแล้วนี้  กฎหมายบัญญัติให้ภาระความรับผิดชอบกลับมาตกอยู่แก่ผู้ยืมคือแดง

แต่มีข้อยกเว้นอยู่ว่า  ถ้าหากแดงพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินที่ยืมคือรถยนต์นั้น  ก็คงต้องบุบสลายเสียหายอยู่นั่นเอง  แดงก็พ้นจากความรับผิดไปได้  เช่น  ถ้าแดงสามารถพิสูจน์ได้ว่า  ความจริงถ้าหากแดงเอารถยนต์กลับมาคืนตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ตามสัญญาแล้ว  ในวันนั้นเองก็มีน้ำป่าไหลหลากมาท่วมพอดี  และแดงขับรถกลับไป  ซึ่งย่อมหมายความว่า  อย่างไรๆเสีย  รถยนต์ก็คงต้องถูกน้ำท่วมอยู่นั่นเอง  หรือมิฉะนั้นถ้าหากแดงสามารถพิสูจน์ได้ว่า  ถ้าได้เอารถยนต์ไปคืนให้ตามกำหนด  ในวันนั้นเองก็ได้เกิดไฟไหม้ที่บ้านดำ  รถยนต์คันอื่นๆ  ของดำที่เก็บไว้ในทำนองเดียวกันก็ถูกไฟไหม้หมด  รถยนต์คันที่แดงเอาส่งคืนย่อมจะต้องถูกไฟไหม้ไปด้วยเช่นกัน  เช่นนี้แล้ว แดงจะพ้นจากความรับผิดเหมือนกัน

สรุป  แดงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับดำผู้ให้ยืม

 

ข้อ  2  นางสาวแตงกวาเป็นคนยากจนและชอบดื่มสุราเป็นประจำได้ไปกู้เงินกับนางแตงไท  ซึ่งเป็นนายทุนประจำหมู่บ้าน  เป็นจำนวนเงิน 50,000  บาท  โดยนางสาวแตงกวาบอกกับนางแตงไทว่าจะกู้เงินไปจ่ายค่าสุราซึ่งตนติดไว้กับร้น  RCA  ซึ่งนางแตงไททราบแล้ว  แต่ก็ยอมให้กู้ยืมเงินจำนวนดังกล่าว  พร้อมคิดดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงิน  7,600  บาท  ดังนี้  นางแตงกวาจะต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือไม่ และหากคืนเป็นเช็คเงินสดต้องมีหลักฐานตามกฎหมายอย่างใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อให้ผู้ยืมมาแสดง  หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้วหรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

วินิจฉัย

นางสาวแตงกวายืมเงินนางแตงไทต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเป็นเงิน  7,600  บาท  จากเงินต้น  50,000  บาท  ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา  654 ซึ่งมาตรานี้บัญญัติให้ดอกเบี้ยที่เกิน  15%  ให้ลดลงเหลือ  15%  แต่มาตรา  654  ใช้ไม่ได้ตามที่บทบัญญัติได้กล่าวไว้  สาเหตุเพราะมี  พ.ร.บ.  ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ  กำหนดว่า  การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราถือเป็นการผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง  ส่วนของดอกเบี้ยที่เกิน  15%  จึงเป็นโมฆะทั้งหมดเหลือเพียงเงินต้นเท่านั้น

ดังนั้น  การคืนเงินตามกฎหมายครั้งนี้จึงคืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้นดอกเบี้ยไม่ต้องคืน  บทบัญญัติมาตรา  653  วรรคสอง  จึงใช้ในกรณีที่เป็นการนำเงินสดมาคืนเงินต้นเท่านั้นที่จะต้องมีหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด  คือ  1  ทำเป็นหนังสือ   2  เวนคืนเอกสาร   3  แทงเพิกถอน แต่ในกรณีนี้เป็นการคืนเงินด้วยเช็ค  ไม่ใช่การคืนเงินสด  จึงไม่ต้องมีหลักฐานการคืนเงินใดๆ

สรุป  ต้องคืนเงินต้นเท่านั้น  ส่วนดอกเบี้ยไม่ต้องคืน  และไม่ต้องมีหลักฐานคืนเงินด้วย

 

ข้อ  3  นายดำเปิดบัญชีเงินฝากจำนวนหนึ่งแสนบาทไว้กับธนาคารไทย  อยู่มาวันหนึ่งนายแดงได้ปลอมลายมือชื่อนายดำเซ็นลงในใบถอนเงินของธนาคารไทย  เพื่อขอถอนเงินจากบัญชีนายดำจำนวน  5  หมื่นบาท  ธนาคารไทยจ่ายเงินแก่นายแดงไปโดยมิได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่เซ็นมาในใบถอนเงินว่าตรงกับลายมือชื่อของนายดำที่เซ็นไว้เป็นตัวอย่างหรือไม่  ทำให้ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ต่อมานายดำพบว่าเงินถูกถอนไปจากบัญชีโดยที่ตนไม่เคยมาขอถอน  จึงฟ้องให้ธนาคารไทยรับผิดชดใช้เงินที่หายไปในฐานะผู้รับฝากทรัพย์  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาล  ท่านเห็นว่าธนาคารไทยจะต้องรับผิดต่อนายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  659  ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง

ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก  ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น  ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย

ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้วิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น

วินิจฉัย

นายดำเป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารไทย  การที่ธนาคารยอมให้ผู้อื่นถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของนายดำ  โดยในใบถอนเงินไม่ใช่ลายมือชื่อแท้จริงของนายดำ  และไม่ได้ความชัดว่าได้มีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่เซ็นมาในใบถอนเงินเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนายดำหรือไม่  ถือได้ว่าธนาคารไทยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยไม่ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคาร  อันเป็นอาชีวะของตน  ดังนี้  ธนาคารไทยจึงต้องรับผิดต่อนายดำตามมาตรา 659  วรรคท้าย

สรุป  ธนาคารไทยจะต้องรับผิดต่อนายดำ

Advertisement