การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 บ้านไร่ยืมรถตู้ของทัพทันโดยได้บอกทัพทันว่าจะเอาไปทำรถรับจ้างรับคนโดยสาร มีกำหนดหกเดือน ทัพทันเห็นว่าเป็นเพื่อนกันจึงมอบรถตู้คันดังกล่าวให้บ้านไร่เอาไปใช้งานได้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ขณะที่บ้านไร่ขับรถรับคนโดยสารอยู่นั้น มีดวงดีขี่มอเตอร์ไซค์มาชนทำให้ไฟท้ายของรถตู้แตกเสียหายแล้วหลบหนีไป ดังนี้ ทัพทันจะเรียกให้บ้านไร่ชดใช้ราคาไฟท้ายของรถตู้ที่แตกเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
มาตรา 643 ทรัพย์สินที่ยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมระหว่างบ้านไร่กับทัพทันเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และบ้านไร่ผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถตู้ตามที่ตกลงกันไว้กับทัพทัน คือ เอาไปทำรถรับจ้างรับคนโดยสาร
และตามมาตรา 643 กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ถ้าผู้ยืมเอาทรัพย์ซึ่งยืมนั้นไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่บ้านไร่ขับรถรับคนโดยสารอยู่นั้น ดวงดีได้ขี่มอเตอร์ไซค์มาชนทำให้ไฟท้ายของรถตู้แตกเสียหาย ดังนี้ เมื่อบ้านไร่ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมถูกต้องตามหน้าที่ของผู้ยืมโดยไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 643 ดังนั้นแม้จะเกิดความเสียหาย (โดยบุคคลภายนอก) กับทรัพย์สินที่ยืม บ้านไร่ก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้นทัพทันจะเรียกให้บ้านไร่ชดใช้ราคาไฟท้ายของรถตู้ที่แตกเสียหายไม่ได้
สรุป ทัพทันจะเรียกให้บ้านไร่ชดใช้ราคาไฟท้ายของรถตู้ที่แตกเสียหายไม่ได้
ข้อ 2 ทัพมาขอกู้ยืมเงินจากสามย่านหนึ่งแสนบาท กำหนดใช้คืนภายใน 6 เดือน สามย่านกลัวทัพมาไม่ชำระหนี้เงินที่ยืม จึงให้ทัพมาเขียนหนังสือขึ้นมีข้อความว่า “วันที่ 10 เมษายน 2552 เงินที่ยืมมาจากสามย่านนั้นทัพมาจะชำระคืนให้เมื่อครบหกเดือนนับแต่วันที่ยืม” ลงชื่อ “ทัพมา” หกเดือนผ่านพ้นไป ทัพมาไม่นำเงินมาชำระหนี้ สามย่านต้องการฟ้องบังคับคดีต่อศาลโดยใช้หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องเพื่อขอให้ศาลบังคับทัพมาใช้เงินที่กู้ยืมไปได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
ตามมาตรา 653 วรรคแรก ในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งและลงลายมือชื่อผู้ยืม ซึ่งหลักฐานการกู้ยืมเงินนี้จะต้องมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน เช่น มีการระบุจำนวนเงินที่กู้ยืม มีข้อความว่าได้รับเงินไปตามจำนวนที่ระบุไว้ เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ ทัพมาขอกู้ยืมเงินจากสามย่านหนึ่งแสนบาท โดยสามย่านได้ให้ทัพมาเขียนหนังสือขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีและให้ลงชื่อทัพมาไว้ แต่เมื่อตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า หนังสือที่ทัพมาเขียนขึ้นนั้น ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่กู้กัน ดังนั้น หนังสือฉบับดังกล่าวจึงใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องเพื่อบังคับคดีไม่ได้ตามมาตรา 653 วรรคแรก
สรุป สามย่านจะใช้หนังสือฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
ข้อ 3 นายเอก เดินทางไปทำธุระที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พักที่สำนักสงฆ์ห้วยน้ำแห้ง ที่มีพระมหาบุญถึงเป็นเจ้าสำนักและพระสงฆ์อีกห้ารูปพักอาศัยศึกษาธรรม นายเอกเอาเงินสี่หมื่นบาทที่ติดตัวไปด้วยซุกซ่อนไว้ในห้องพักอย่างมิดชิด เมื่อเสร็จงานกลับมาพบว่าห้องพักถูกงัด เงินที่ซุกซ่อนไว้หายไป จึงแจ้งให้พระมหาบุญถึงทราบทันที และหน้าห้องพักมีป้ายประกาศติดไว้มีใจความว่า “ผู้พักทุกท่านขอเชิญบริจาคเงินเพื่อเป็นการช่วยวัดจ่ายค่าน้ำค่าไฟ จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง” ดังนี้ นายเอกจึงเรียกร้องให้พระมหาบุญถึงชดใช้เงินที่หายไป โดยอ้างว่าพระมหาบุญถึงเปิดบริการห้องพัก จึงต้องรับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรม ให้ท่านวินิจฉัยว่าพระมหาบุญถึงจะต้องรับผิดชดใช้เงินสี่หมื่นบาทของนายเอกที่หายไปหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา
มาตรา 675 เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหาย หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆไซร้ ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ
วินิจฉัย
โดยหลัก เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ สำนักสงฆ์ห้วยน้ำแห้งมิใช่โรงแรมหรือสถานที่อื่นทำนองเช่นนั้น ดังนั้นพระมหาบุญถึงจึงมิใช่เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้นด้วย จึงไม่ต้องรับผิดกรณีเงินสี่หมื่นบาทของนายเอกที่หายไป
สรุป พระมหาบุญถึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินสี่หมื่นบาทของนายเอกที่หายไปตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น