การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ปลาม้ายืมรถตู้ของปลาดาวเพื่อนำไปทำรถรับขนคนโดยสาร แต่มิได้ตกลงกันว่าจะเอาไปใช้นานเท่าใด ปลาม้านำรถยนต์ที่ยืมมาให้ชะเมาเอารถไปขับรับคนโดยสารมีกำหนดหนึ่งปีโดยไม่คิดค่าตอบแทน วันหนึ่งมีชะมวงมาขอเอารถคันดังกล่าวจากชะเมาไปใช้งาน ระหว่างที่ชะมวงใช้รถอยู่นั้น ปลาม้าจะเรียกให้ชะเมานำรถมาคืนให้กับตนได้หรือไม่ อย่างไร
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 643 ทรัพย์สินที่ยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 645 ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ปลาม้ายืมรถตู้ของปลาดาวเพื่อนำไปทำรถรับขนคนโดยสาร ถือเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ซึ่งมีผลทำให้ปลาม้ามีสิทธิครอบครองรถตู้คันดังกล่าว จึงสามารถนำรถตู้ไปให้ชะเมายืมได้ และถือเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 เช่นกัน
และตามมาตรา 645 กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมได้ ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 เช่น การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เป็นต้น
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชะเมาได้เอารถตู้ที่ปลาม้าให้ยืมนั้นไปให้ชะมวงใช้งาน กรณีนี้จึงถือว่าชะเมาผู้ยืมได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 แล้ว คือ เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย ดังนั้น ปลาม้าผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา 645 คือ บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ชะเมานำรถมาคืนให้กับตนได้
สรุป ปลาม้าเรียกให้ชะเมานำรถมาคืนให้กับตนได้
ข้อ 2 นางนกเอี้ยงขอยืมเงินนายนกฮูกเป็นเงิน 100,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือ ความว่า “ข้าพเจ้านายนกฮูกได้ให้นางนกเอี้ยงยืมเงินเป็นจำนวน 100,000 บาท โดยที่เงินจำนวนนี้นางนกเอี้ยงจะต้องนำไปใช้ดำเนินการในธุรกิจขายตรงให้ข้าพเจ้า 50,000 บาท ส่วนที่เหลือ 50,000 บาท เป็นเงินที่นางนกเอี้ยงยืมไปใช้เพื่อจ่ายค่าเทอมให้ลูก ทั้งนี้ นางนกเอี้ยงได้รับเงินไปทั้งหมดเป็นจำนวนหนึ่งแสนบาทพร้อมลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นหลักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว
ลงชื่อ นางนกเอี้ยง เลี้ยงชายเท่า”
ดังนี้ นางนกเอี้ยงจะต้องรับผิดต่อนายนกฮูกหรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
มาตรา 653 วรรคแรก การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
วินิจฉัย
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่องเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกันเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี คือ
1 หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ
2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางนกเอี้ยงได้ยืมเงินนายนกฮูกเป็นเงิน 100,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อนางนกเอี้ยงผู้ยืมนั้น ถือได้ว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือที่จะใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แล้ว ตามมาตรา 653 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม โดยหลักของการยืมเงินที่ถูกต้องนั้น ผู้ยืมจะต้องยืมไปใช้เพื่อกิจการของตนเอง ไม่ใช่กิจการของผู้ให้ยืม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เงินจำนวนดังกล่าว นางนกเอี้ยงจะต้องนำไปใช้ดำเนินการในธุรกิจของนายนกฮูกผู้ให้ยืมเป็นจำนวน 500,000 บาท ดังนั้น การยืมของนางนกเอี้ยงจึงมีผลเพียง 50,000 บาท เท่านั้น ซึ่งหากนายนกฮูกจะฟ้องขอคืนเงินก็สามารถขอคืนได้เพียง 50,000 บาทเท่านั้น
สรุป นางนกเอี้ยงจะต้องรับผิดต่อนายนกฮูกในเงินที่กู้ยืมเป็นจำนวน 50,000 บาท
ข้อ 3 นายโรเบิร์ตเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว พร้อมกับนางซูซานภริยา หลังจากนายโรเบิร์ตลงชื่อเข้าพักในนามของตนเอง และนำของเข้าเก็บในที่พักแล้ว ได้ออกไปรับประทานอาหารและเดินซื้อของในศูนย์การค้าที่ตั้งอยู่ในโรงแรมประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ เมื่อกลับมาที่ห้องพักอีกครั้งหนึ่งจึงพบว่าพระเครื่องหลวงปู่ปวด วัดช้างไห้ ที่นางซูซานเช่าบูชามาองค์ละ 8,000 บาท และกระเป๋าสตางค์ทำจากหนังปลากระเบนที่ซื้อมาใหม่ราคา 3,500 บาท ถูกลักขโมยไป ทั้งสองจึงรีบไปแจ้งต่อนายทรงเดช ผู้จัดการโรงแรมขอให้ทางโรงแรมชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน รวม 11,500 บาท นายทรงเดชได้นำหลักฐานการลงทะเบียนเข้าพักแรมมาตรวจสอบพบว่านายโรเบิร์ตเป็นผู้ลงชื่อเข้าพัก นายทรงเดชเห็นว่าของทั้งสองอย่างที่สูญหายไม่ใช่ของนายโรเบิร์ต จึงตอบแขกทั้งสองรายว่าโรงแรมจะรับผิดชอบเฉพาะทรัพย์สินของผู้ที่ลงทะเบียนเท่านั้น ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของโรงแรมฟังขึ้นหรือไม่ โรงแรมจะต้องรับผิดชอบต่อนายโรเบิร์ตและนางซูซานอย่างไร หรือไม่ เพียงใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา
มาตรา 675 เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหาย หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆไซร้ ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ
วินิจฉัย
โดยหลัก เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้นต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พระเครื่องหลวงปู่ทวด และกระเป๋าสตางค์ของนางซูซาน ซึ่งถือเป็นแขกอาศัยได้ถูกลักขโมยไปนั้น แม้นางซูซานจะไม่ได้ลงทะเบียนเข้าพักแรม ทางโรงแรมก็ต้องรับผิดในความสูญหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินดังกล่าวตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 ดังนั้น ข้อต่อสู้ของโรงแรมที่ต่อสู้ว่าจะรับผิดชอบเฉพาะกับทรัพย์ของแขกที่ลงทะเบียนเท่านั้นจึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 9284 / 2544)
ซึ่งในกรณีของกระเป๋าสตางค์นั้น ถือเป็นทรัพย์ทั่วๆไปตามมาตรา 675 วรรคแรก ทางโรงแรมต้องรับผิดเต็มราคาคือ 3,500 บาท ส่วนกรณีพระเครื่องหลวงปู่ทวดราคา 8,000 บาทนั้น ถือเป็น “ของมีค่า” ตามมาตรา 675 วรรคสอง เมื่อมิได้มีการนำฝากและบอกราคาแห่งของนั้น โรงแรมจึงรับผิดเพียง 5,000 บาท ดังนั้น โรงแรมต้องรับผิดชดใช้แก่นายโรเบิร์ตและนางซูซานเป็นจำนวนเงิน 8,500 บาท บาท
สรุป ข้อต่อสู้ของโรงแรมฟังไม่ขึ้น โรงแรมต้องรับผิดชดใช้แก่นายโรเบิร์ตและนางซูซานเป็นจำนวนเงิน 8,500 บาท