การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1 เอกยืมรถของโทมาใช้งานตามปกติ  ขณะจอดอยู่ริมถนนถูกรถอื่นชนไฟท้ายแตก  ค่าเสียหายประมาณห้าพันบาท  แต่คนที่ขับรถชนนั้นหลบหนีไม่อาจติดตามมารับผิดได้  ดังนี้  โทเจ้าของรถจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  644  ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เอกยืมรถของโทมาใช้งานตามปกตินั้น  สัญญายืมระหว่างเอกและโทเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  ดังนั้นเอกผู้ยืมจึงมีหน้าที่ตามมาตรา  643  และมาตรา  644  กล่าวคือ  เอกผู้ยืมจะต้องไม่นำทรัพย์สินนั้นไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  ไม่เอาทรัพย์สินนั้นไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาทรัพย์สินนั้นไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  รวมทั้งจะต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง  ซึ่งถ้าหากเอกผู้ยืมไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  โทผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องให้อกผู้ยืมรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม

แต่จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เมื่อเอกได้ยืมรถของโทมาใช้นั้น  เอกได้ใช้งานตามปกติมิได้กระทำการใดๆ  อันเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นเลย  ดังนั้นเมื่อขณะที่เอกได้จอดรถอยู่ริมถนนและถูกรถอื่นชนไฟท้ายแตก  ค่าเสียหายประมาณห้าพันบาทนั้น  โทเจ้าของรถจึงมิอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมได้  ทั้งนี้เพราะเอกผู้ยืมมิได้กระทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  643  และมาตรา  644  แต่อย่างใด

สรุป  โทเจ้าของรถจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากเอกผู้ยืมไม่ได้

 

ข้อ  2  เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย  นายอินเสียหายอย่างหนักจึงได้ยืมเงินนายอ้นเป็นจำนวนเงิน  5,000  บาท  โดยทำเป็นหนังสือ  ในหนังสือระบุว่านายอินต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนร้อยละ  20  บาทต่อปี  เมื่อครบกำหนดชำระเงิน  1  ปีแล้ว  นายอินไม่มีเงินสดมาจ่าย  จึงนำรถจักรยานยนต์ของตนตามราคาท้องตลาดมีมูลค่า  6,000  บาท  มาคืนแทนเงิน  ดังนี้  การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสดมีผลหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  650  อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น  คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น  เป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท  ชนิด  และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา  654  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี  ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น  ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

มาตรา  656  วรรคสอง  ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกันและผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้  หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น  ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ  สถานที่ส่งมอบ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายอินและนายอ้น  เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่งตามมาตรา  650  และเมื่อสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมีจำนวนเงินเกินกว่า  2,000  บาท  และได้ทำกันเป็นหนังสือ  จึงเป็นสัญญากู้ยืมเงินที่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  ตามนัยของมาตรา  653  วรรคแรก  จึงสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายอินได้กู้ยืมเงินนายอ้นนั้นเป็นจำนวนเงินเพียง  5,000  บาท  และแม้ในหนังสือกู้ยืมเงินจะระบุว่านายอินจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนร้อยละ  20  บาท  ต่อปีก็ตาม  ในส่วนของดอกเบี้ยซึ่งเกินอัตราร้อยละ  15  ต่อปีนั้น  ถือว่าเป็นการเรียกอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด  จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด  นายอ้นจะเรียกเอาส่วนที่เป็นดอกเบี้ยไม่ได้  ทั้งนี้เพราะแม้มาตรา  644  จะได้กำหนดว่าถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ  15  ต่อปี  ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ  15  ต่อปีก็ตาม  แต่เมื่อมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราใช้บังคับ  ทำให้การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ  15  ต่อปีมีผลทำให้ดอกเบี้ยทั้งหมดเป็นโมฆะ  จะนำมาตรา  644  มาใช้บังคับไม่ได้  ดังนั้นนายอินจึงต้องคืนเฉพาะเงินต้น  5,000  บาท  ให้แก่นายอ้น

เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวครบกำหนด  และนายอินไม่มีเงินสดมาจ่ายจึงได้นำรถจักรยานยนต์ของตนตามราคาท้องตลาดซึ่งมีมูลค่า  6,000  บาท  มาชำระหนี้แทนเงินและนายอ้นตกลงรับไว้นั้น  สามารถที่จะกระทำได้ตามมาตรา  656  วรรคสอง  ซึ่งจะมีผลทำให้หนี้ระหว่างนายอินและนายอ้นเป็นอันระงับไป  แต่นายอ้นจะต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอินเป็นเงิน  1,000  บาทด้วย

สรุป  การคืนรถจักรยานยนต์แทนเงินสดมีผลทำให้หนี้ระหว่างนายอินและนายอ้นเป็นอันระงับไป  แต่นายอ้นต้องทอนเงินคืนให้แก่นายอิน  1,000  บาท

 

ข้อ  3  นายแดงฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง  จำนวน  10,000  บาท  ต่อมาเกิดการจลาจลขึ้นในบริเวณใกล้ธนาคาร  และมีการวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกไฟไหม้ทรัพย์สินและเงินสดเสียหาย  ต่อมานายแดงไปขอถอนเงินจากธนาคาร  ดังนี้  ธนาคารจะปฏิเสธไม่รับผิด  โดยต่อสู้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัย  และธนาคารในฐานะผู้รับฝากได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนรักษาทรัพย์ตามหน้าที่ของตนแล้ว  ข้อต่อสู้ของธนาคารฟังขึ้นหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  672  ถ้าฝากเงิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก  แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน

อนึ่ง  ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดังว่านั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงฝากเงินไว้กับธนาคาร  ซึ่งธนาคารผู้รับฝากย่อมมีสิทธิจะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ตามมาตรา  672  แต่จะต้องคืนเงินให้แก่นายแดงครบจำนวน  แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม

และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า  เมื่อนายแดงได้ฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว  ต่อมาได้เกิดการจลาจลขึ้นในบริเวณใกล้ธนาคาร และมีการวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้ธนาคารดังกล่าวถูกไฟไหม้ทรัพย์สินและเงินสดเสียหาย  ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย  ดังนี้เมื่อนายแดงไปขอถอนเงินจากธนาคาร  ธนาคารก็จะต้องยอมให้นายแดงถอนเงินคือต้องคืนเงินให้แก่นายแดง  ธนาคารจะปฏิเสธไม่รับผิดชอบ  โดยต่อสู้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยและธนาคารในฐานะผู้รับฝากได้ใช้ความระมัดระวังในการสงวนรักษาทรัพย์ตามหน้าที่ของตนแล้วไม่ได้

สรุป  ข้อต่อสู้ของธนาคารดังกล่าวฟังไม่ขึ้น  ธนาคารจะต้องรับผิดชดใช้เงินคืนให้แก่นายแดง

Advertisement