การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2009 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความการพนันขันต่อ

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ปลาม้ายืมรถตู้ของประหลาดาวเพื่อนำไปทำรถรับขนคนโดยสาร  แต่ไม่ได้แจ้งให้ประหลาดาวทราบว่าจะเอาไปใช้อย่างไร  ปลาดาวก็ไม่ได้ถามว่าจะเอาไปนานเท่าใด  ปลาม้านำรถยนต์ที่ยืมมาให้ชะเมาเช่าขับรับคนโดยสาร  ระหว่างที่ชะเมาใช้รถอยู่นั้นประหลาดาวทราบว่ารถที่ให้ปลาม้ายืมไปนั้นปลาม้าเอาไปให้ชะเมาเช่า  ดังนี้  ปลาดาวจะเรียกให้ชะเมาคืนรถยนต์คันดังกล่าวได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่าและผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

มาตรา  643  ทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกดจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นายกว่าที่ควรจะเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ  ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย  หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

มาตรา  645  ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญายืมรถยนต์ระหว่างปลาม้าและประหลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา  640  และเมื่อในสัญญาไม่ปรากฏว่ายืมไปเพื่อการใด  อีกทั้งไม่ได้ตกลงกันว่าจะคืนเมื่อใด  ปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิเรียกคืนเมื่อใดก็ได้

และตามมาตรา  645  กฎหมายได้บัญญัติให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืมคืนทรัพย์ที่ยืมได้  ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  เช่น  การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ปลาม้าได้เอารถยนต์ที่ประหลาดาวให้ยืมนั้นไปให้ชะเมาเช่ารับรถคนโดยสารกรณีนี้ถือว่า  ปลาม้าผู้ยืมได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  643  คือ  เป็นการนำทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยแล้ว  ดังนั้นปลาดาวผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา  645  คือ  บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ปลาม้าคืนรถยนต์คันดังกล่าวได้

และเมื่อปลาดาวผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญายืมและเรียกให้ปลาม้าคืนรถยนต์คันดังกล่าวได้แล้ว  แม้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวจะอยู่ในความครอบครองของชะเมา  ปลาดาวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น  ก็ย่อมมีสิทธิเรียกให้ชะเมาคืนรถยนต์คันดังกล่าวแก่ตนได้

สรุป  ปลาดาวเรียกให้ชะเมาคืนรถยนต์คันดังกล่าวได้

 

ข้อ  2  นายกิ่งยืมเงินนางขิงเป็นเงิน  50.25  บาท  โดยในหนังสือยืมเงินมีเด็กชายจิมอายุ  15  ปี  เป็นพยาน  และนางป้าแก่อายุ  90  ปี เป็นพยานให้กับการกู้ยืมครั้งนี้  ต่อมานางขิงเจ้าหนี้ได้แก้หนังสือยืมเงินโดยใส่เลข  25  ลงข้างหน้าจำนวนเงินเป็นจำนวน  2,550.25  บาท  ดังนี้  นายกิ่งจะต้องจ่ายเงินคืนเป็นจำนวนเงินเท่าไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  653  วรรคแรก  การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม  เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

ตามมาตรา  653  วรรคแรก  กฎหมายได้กำหนดบังคับเฉพาะการกู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000  บาท  ขึ้นไปเท่านั้น  ถ้าจะฟ้องร้องบังคับคดีกันจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  แต่ถ้าเป็นการกู้ยืมเงินไม่เกิน  2,000  บาท  ไม่ว่าจะได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังกล่าวหรือไม่  ก็ย่อมสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

และการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์แห่งสัญญากู้ยืมแต่อย่างใด  แม้การกู้ยืมเงินนั้นจะมีจำนวนเท่าใด  ถ้าผู้ให้กู้ยืมได้ส่งมอบเงินที่กู้ให้แก่ผู้ยืมแล้ว  สัญญากู้ยืมเงินก็มีผลสมบูรณืตามกฎหมาย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายกิ่งยืมเงินนางขิงเป็นเงิน  50.25  บาท  โดยสัญญากู้ยืมได้ทำเป็นหนังสือและมีเด็กชายจิมอายุ  15  ปีเป็นพยาน  และนางป้าแก่อายุ  90  ปี  เป็นพยานนั้น  สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายกิ่งและนางขิงย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ทั้งนี้เพราะตามกฎหมายแล้วในกรณีการกู้ยืมเงินที่ได้มีการทำเป็นหนังสือ  และได้มีพยานลงลายมือชื่อรับรองนั้น  พยานที่ลงลายมือชื่อรับรองไม่จำเป็นต้องบรรลุนิติภาวะ  (ฎ. 1154/2511)  และเมื่อสัญญากู้ยืมเงินมีผลสมบูรณ์  นายกิ่งจึงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินคืนแก่นางขิง

ส่วนในกรณีที่นางขิงเจ้าหนี้ได้แก้หนังสือยืมเงินโดยใส่เลข  25  ลงข้างหน้าจำนวนเงินเป็นจำนวน  2,550.25  บาท  โดยนายกิ่งมิได้รู้เห็นนั้น  กรณีนี้ให้ถือว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม  ซึ่งนายกิ่งไม่ต้องรับผิดตามหลักฐานแห่งสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใด  แต่นายกิ่งผู้กู้ยังคงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเดิมคือ  50.25  บาท  เพราะการกู้ยืมเงินตามสัญญากู้เดิมยังคงมีผลสมบูรณ์  (ฎ. 761/2509)

สรุป  นายกิ่งจะต้องจ่ายเงินคืนตามสัญญากู้ยืมเดิมเป็นจำนวนเงิน  50.25  บาท

 

ข้อ  3  นายอาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  โดยจอดรถไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม  และเข้าพักโดยมีกระเป๋าเดินทางและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก  1  เครื่อง  นำเข้าไปในห้องพักด้วย  เมื่อเข้าไปในห้องพักพบว่ามีข้อความประกาศมีใจความว่า  ขอให้แขกทุกท่านระมัดระวังความปลอดภัยในทรัพย์สินด้วยตนเอง  หากมีความสูญหายหรือเสียหายใดๆเกิดขึ้น  ทางโรงแรมไม่สามารถรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น  ต่อมาเมื่อนายอาทิตย์ออกไปรับประทานอาหารเย็นข้างนอกโรงแรมแล้ว  กลับเข้ามาจึงพบว่าข้าวของในห้องพักถูกรื้อค้น  และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคา  15,000  บาท  ถูกขโมยไป  นายอาทิตย์แจ้งนายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที  แต่นายจันทร์ปฏิเสธไม่รับผิดโดยอ้างข้อความที่ประกาศในห้องพักว่าโรงแรมได้ปิดประกาศให้แขกรับทราบถึงข้อยกเว้นความรับผิดของโรงแรมแล้ว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  674  เจ้าสำนักโรงแรมหรือโฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น  จะต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ  อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย  หากได้พามา

มาตรา  675  เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างใดๆ  แม้ถึงว่าความสูญหาย  หรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้  ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา  ธนบัตร  ตั๋วเงิน  พันธบัตร  ใบหุ้น  ใบหุ้นกู้  ประทวนสินค้า  อัญมณี  หรือของมีค่าอื่นๆไซร้  ท่านจำกัดไว้เพียงห้าพันบาท  เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย  หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น  หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง  หรือบริวารของเขา  หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ

มาตรา  677  ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม  โฮเต็ล  หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้  เป็นข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ  เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดังว่านั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก  เจ้าสำนักโรงแรมหรือสถานที่อื่นเช่นว่านั้นต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นำมาด้วย  แม้ความเสียหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก  ณ  โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674  ประกอบมาตรา   675  วรรคแรก  ดังนั้น 

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กราคา  15,000  บาท  ของนายอาทิตย์ซึ่งได้เข้าพักที่โรงแรมนั้นได้สูญหายเพราะถูกขโมย และนายอาทิตย์ก็ได้แจ้งให้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมทราบทันที  ดังนี้นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายอาทิตย์ในความสูญหายของทรัพย์สินดังกล่าว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อมาคือ  ความรับผิดของโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์นั้น  ทางโรงแรมจะต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สิน  คือ  15,000  บาท  หรือจะต้องรับผิดจำกัดเพียง  5,000  บาท  ตามมาตรา  675  วรรคสอง  กรณีนี้เห็นว่าเมื่อทรัพย์สินที่สูญหายไปเพราะถูกขโมยคือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กนั้น  ไม่ใช่ทรัพย์สินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  675  วรรคสอง  ดังนั้น  ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดตามราคาทรัพย์สินที่สูญหายไปนั้น  คือ  15,000  บาท

ส่วนกรณีที่นายจันทร์เจ้าสำนักโรงแรมปฏิเสธไม่รับผิดโดยอ้างข้อความที่ประกาศในห้องพักว่าโรงแรมได้ปิดประกาศให้แขกรับทราบถึงข้อยกเว้นความรับผิดของโรงแรมแล้วนั้น  ข้ออ้างของนายจันทร์ฟังไม่ขึ้น  ทั้งนี้เพราะตามมาตรา  677  ได้บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่โรงแรมได้มีข้อความปิดประกาศไว้ในทำนองเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของโรงแรมนั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นโมฆะ  และกรณีตามอุทาหรณ์  ก็ไม่ปรากฏว่านายอาทิตย์ได้ตกลงด้วยกับข้อยกเว้นความรับผิดนั้นแต่อย่างใด

สรุป  ทางโรงแรมต้องรับผิดต่อทรัพย์สินของนายอาทิตย์ที่สูญหายไปเพราะถูกขโมยตามราคาทรัพย์สินนั้น  คือ  15,000  บาท

Advertisement