การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. เอกยืมรถตู้ของโทเพื่อนําไปทํารถรับขนคนโดยสาร แต่ไม่ได้แจ้งให้โททราบว่าจะเอาไปใช้อย่างไรต่อมาเอกให้ตรียืมรถไปใช้ต่อเพื่อขับรับคนโดยสาร ในระหว่างที่ตรีขับรับส่งคนโดยสาร จัตวาขับรถ มาชนท้ายรถตู้ที่ตรีขับไฟท้ายแตก และกันชนรถยุบคิดเป็นค่าเสียหายหกพันบาท จัตวาขับรถหนีหายไป ยังไม่สามารถติดตามตัวมาได้ เมื่อโททราบว่ารถตู้ที่ให้เอกยืมถูกชนเสียหาย จึงเรียกร้อง ให้เอกรับผิดชดใช้แก่ตนเป็นจํานวนหกพันบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่าเอกจะต้องรับผิดต่อโทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกยืมรถตู้ของโทเพื่อนําไปทํารถรับขนคนโดยสารนั้น ถือเป็น สัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และมาตรา 641 ซึ่งเอกผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถตู้ได้ตามสิทธิ ของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าเอกได้เอารถตู้ที่ยืมนั้นให้ตรียมไปใช้ต่อเพื่อขับรับคนโดยสาร ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืม ไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 ซึ่งจะต้องรับผิดในเหตุที่ ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดถึงแม้ว่าจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม ดังนั้น การที่จัตวา ได้ขับรถมาชนท้ายรถตู้ที่ตรีขับอยู่ทําให้ไฟท้ายแตกและกันชนรถยุบคิดเป็นค่าเสียหาย 6,000 บาท เอกผู้ยืมจึง ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

สรุป

เอกจะต้องรับผิดต่อโทในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

 

ข้อ 2. นาย ก. ยืมเงินนาย ข. เป็นจํานวน 10,000 บาท โดยทําเป็นหนังสือและส่งมอบเงินกันเรียบร้อยแล้วแต่ 6 เดือนต่อมานาย ข. ได้ทําการเติมตัวเลข 1 ข้างหน้าจํานวนเงินดังกล่าวกลายเป็น 110,000 บาท กรณีหนึ่ง และอีกกรณีหนึ่งนาย ข. เจ้าหนี้ให้ยืมเงิน 10,000 บาท โดยไม่ได้กรอกเงินในตอนที่ ส่งมอบเงิน แต่ไปกรอกเอาภายหลังเป็นเงิน 110,000 บาท เสียทีเดียว ดังนี้ นาย ก. ลูกหนี้ต้อง รับผิดในเงินจํานวนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทําเป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น เพียงแต่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และมีข้อความปรากฏในเอกสารว่าผู้กู้ยืมเป็นหนี้สินในเรื่องการ กู้ยืมเงินกัน และมีการระบุถึงจํานวนเงินที่กู้ยืมกันโดยชัดแจ้งก็ใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินได้ แต่ที่สําคัญจะต้อง มีการลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสําคัญ

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นาย ก. ยืมเงินนาย ข. เป็นจํานวนเงิน 10,000 บาท โดยทําเป็นหนังสือและ ส่งมอบเงินกันเรียบร้อยแล้วนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนาย ก. และนาย ข. เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองที่มีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

ส่วนการที่นาย ข. ได้ทําการเติมเลข 1 ไว้ข้างหน้าจํานวนเงินดังกล่าวในภายหลังทําให้กลายเป็น 1 10,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ผู้ให้กู้กรอกจํานวนเงินให้สูงกว่าที่กู้ยืมกันจริงโดยผู้กู้ไม่ยินยอม ถือว่าเอกสารดังกล่าว ในเอกสารปลอม ผู้กู้ไม่ต้องรับผิดตามหลักฐานแห่งสัญญากู้ปลอม เพียงแต่ผู้กู้ต้องรับผิดใช้เงินตามจํานวนที่ รู้จริงเท่านั้น เพราะถือว่าการกู้ตามจํานวนที่มีการกู้จริงมีหลักฐานเป็นหนังสืออยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น นาย ก. ลูกหนี้ 2 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินตามสัญญากู้เดิมคือ 10,000 บาท

กรณีที่ 2 การที่นาย ข. ให้นาย ก. ยืมเงิน 10,000 บาท โดยไม่ได้กรอกเงินในตอนที่ส่งมอบเงิน แต่ไปกรอกจํานวนเงินในภายหลังเป็นเงิน 110,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่ผู้ให้กู้กรอกจํานวนเงินสูงกว่าที่กู้กันจริง กรณีนี้ถือว่าหลักฐานแห่งสัญญากู้ดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งสัญญากู้ปลอมทั้งฉบับ และให้ถือว่าการกู้ยืมเงิน ดังกล่าวไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือเกิดขึ้นเลย ผู้กู้จึงไม่ต้องรับผิดใด ๆ เลย แม้ผู้กู้จะได้รับเงินที่กู้กันจริงไปแล้วก็ตาม ดังนั้น กรณีนี้ นาย ก. ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในจํานวนเงินดังกล่าวใด ๆ เลยตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

สรุป

กรณีแรก นาย ก. ต้องรับผิดตามสัญญากู้เดิมคือ 10,000 บาท ส่วนกรณีหลัง นาย ก. ไม่ต้องรับผิดใด ๆ เลย

 

ข้อ 3. นางสมศรีเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรามคําแหง โดยนําเงินสด 10,000 บาท แหวนทับทิมล้อมเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาท นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 8,000 บาท กระเป๋าถือสุภาพสตรี ยี่ห้อหลุยส์ 1 ใบ ราคา 40,000 บาท โทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอโฟน 1 เครื่อง ราคา 40,000 บาท และ กระเป๋าเดินทาง 1 ใบ เข้ามาในห้องพัก ตกกลางคืนคนร้ายแอบเข้ามาในห้องพักและขโมยเงินสด 10,000 บาท แหวนทับทิมล้อมเพชร นาฬิกาข้อมือ กระเป๋าถือยี่ห้อหลุยส์ และโทรศัพท์มือถือเอโฟนใน นางสมศรีรู้สึกตัวในตอนรุ่งเช้าจึงรีบแจ้งนายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมทราบทันที ให้ท่านวินิจฉัย ความรับผิดของเจ้าสํานักโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนางสมศรี

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขา ได้ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือ บุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

 

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียง 5,000 บาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

ตามอุทาหรณ์ การพินางสมศรีเข้าพักที่โรงแรม โดยได้นําเงินสด 10,000 บาท, แหวนทับทิม ล้อมเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาท, นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 8,000 บาท, กระเป๋าถือสุภาพสตรียี่ห้อหลุยส์ 1 ใบ ราคา 40,000 บาท, โทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอโฟน 1 เครื่อง ราคา 40,000 บาท และกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ เข้ามาในห้องพัก และตกกลางคืนคนร้ายแอบเข้ามาในห้องพักและขโมยเงินสด 10,000 บาท แหวนทับทิมล้อมเพชร นาฬิกาข้อมือ กระเป๋าถือยี่ห้อหลุยส์ และโทรศัพท์มือถือไป และเมื่อนางสมศรีรู้สึกตัวในตอนรุ่งเช้าจึงรีบแจ้ง นายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมทราบทันทีนั้น เจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดต่อนางสมศรีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ ถูกขโมยไปอย่างไรนั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 เงินสด 10,000 บาท และแหวนทับทิมล้อมเพชร 1 วง ราคา 50,000 บาท ถือเป็น ทรัพย์สินที่มีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง เมื่อนางสมศรีไม่ได้มากและบอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง ดังนั้น นายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนางสมศรีในจํานวน 5,000 บาท

2 นาฬิกาข้อมือ 1 เรือน ราคา 8,000 บาท, กระเป๋าถือสุภาพสตรียี่ห้อหลุยส์ 1 ใบ ราคา 40,000 บาท และโทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอโฟน 1 เครื่อง ราคา 40,000 บาท ถือเป็นทรัพย์สินที่เป็นของใช้ ธรรมดาสามัญทั่วไป จึงเป็นทรัพย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไปตามมาตรา 657 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่ของมีค่าอื่น ๆ ตามมาตรา 675 วรรคสอง และเมื่อนางสมศรีรู้สึกตัวในตอนรุ่งเช้าจึงได้รีบแจ้งนายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมทราบทันทีแล้ว ดังนั้น นายสมศักดิ์จึงต้องรับผิดต่อนางสมศรีเต็มราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 88,000 บาท

สรุป

นายสมศักดิ์เจ้าสํานักโรงแรมต้องรับผิดใช้เงินให้แก่นางสมศรีในส่วนของเงินสดและ แหวนทับทิมล้อมเพชรเป็นเงิน 5,000 บาท และในส่วนของนาฬิกาข้อมือ กระเป๋าถือ และโทรศัพท์มือถือเป็นเงิน 88,000 บาท รวมทั้งหมดเป็นเงิน 93,000 บาท

 

Advertisement