การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ปลาม้ายืมบ้านของปลาดาวทั้งหลังเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ปลาม้าพานางสาวสุดสวยภริยาไปอยู่ด้วยกันระหว่างนั้นเกิดน้ำท่วมทั้งตําบลเป็นเวลาสองเดือนทําให้บ้านที่ปลาม้ายืมมาเสียหายต้องซ่อมแซม เป็นเงินห้าหมื่นบาท ดังนี้ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมบ้านได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 8 “คําว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติที่ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นได้จัดการระมัดระวังตามสมควร อันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีก คนหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญายืมระหว่างปลาม้ากับปลาดาวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและมีผล สมบูรณ์ตามมาตรา 640 และมาตรา 641 ซึ่งปลาม้าผู้ยืมมีสิทธิครอบครองและใช้สอยบ้านของปลาดาวทั้งหลัง เป็นที่อยู่อาศัยตามสิทธิของผู้ยืม แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืมรวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย

จากข้อเท็จจริง การที่ปลาม้าได้พานางสาวสุดสวยภริยาไปอยู่ด้วยกันนั้น ไม่ถือว่าเป็นการ ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 แต่อย่างใด เพราะมิใช่เป็นการเอาทรัพย์สินไปใช้เป็นการอย่างอื่น หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย และในระหว่างที่ยืมอยู่ได้เกิดน้ําท่วมเป็นเวลาสองเดือนนั้น การที่น้ำท่วมถือ เป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น การที่บ้านหลังดังกล่าวได้รับความเสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาทนั้น ปลาม้าผู้ยืม จึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมบ้านไม่ได้

สรุป

ปลาดาวจะเรียกให้ปลาม้ารับผิดชดใช้เงินค่าซ่อมบ้านไม่ได้

 

ข้อ 2 นายไชโยน้องชายแท้ ๆ ของนายอิสระชัยได้ขอยืมเงินพี่ชายของตนเป็นจํานวน 4,000 บาท โดยได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้ และได้มีข้อกําหนดในสัญญาว่านายไชโยจะผ่อนส่งหนี้ให้เดือนละ 400 บาท เป็นจํานวน 10 ครั้ง พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15.01 บาท ต่อปีให้กับพี่ชายของตนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ ต่อมานายอิสระชัยพี่ชายแอบแปลงสัญญาเงินกู้โดยเติมตัวเลข 2 ใส่ข้างหน้าจํานวนเงินกู้เดิม จาก 4,000 บาท เป็น 24,000 บาท ดังนี้นายไชโยลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็น หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบ เงินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ

1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ

2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไชโยได้ยืมเงินจากพี่ชายของตนจํานวน 4,000 บาท โดยได้ทํา หลักฐานเป็นหนังสือเอาไว้นั้น การกู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม มาตรา 650 และ 653 วรรคแรก ส่วนที่ได้มีการกําหนดดอกเบี้ยกันไว้ในอัตราร้อยละ 15.01 บาทต่อปีนั้น ถือว่า ในส่วนดอกเบี้ยเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเกินร้อยละ 15 ต่อปี (มาตรา 654) ดังนั้น ในส่วนดอกเบี้ย จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมดใช้บังคับไม่ได้ นายไชโยลูกหนี้จึงต้องจ่ายคืนเฉพาะเงินต้นคือ 4,000 บาทเท่านั้น ส่วนการที่มีการแก้ไขหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นก็ไม่มีผลต่อนายไชโยลูกหนี้ เพราะถือว่าอย่างไรลูกหนี้ก็จะต้องรับผิด เฉพาะในจํานวนเงินเพียง 4,000 บาทที่ตนได้ยืมมาเท่านั้น

สรุป

นายไชโยลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาการกู้ยืมดังกล่าว โดยจะต้องรับผิดเพียงจํานวน เงินที่กู้ยืมคือ 4,000 บาทเท่านั้น

 

ข้อ 3 ดําเข้าที่พักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครซึ่งมีแดงเป็นเจ้าสํานัก และผู้จัดการโรงแรมหลังจากลงทะเบียนเข้าพักและเอากระเป๋าเดินทางไปเก็บในห้องแล้วดําออกไปธุระข้างนอก กลับมาอีกครั้ง ในตอน 23.00 นาฬิกา และพบว่าอาวุธปืน 1 กระบอก ราคา 8,000 บาท หายไปจากกระเป๋าเสื้อผ้า ดําเห็นว่าดึกมากแล้วจึงไม่ได้แจ้งต่อแดงให้ทราบเรื่องที่อาวุธปืนถูกขโมยไป ต่อมาตอนรุ่งเช้า เมื่อ กินอาหารเช้าเสร็จตอน 09.00 นาฬิกา ดําจึงแจ้งให้แดงทราบว่าเมื่อคืนมีขโมยมาขโมยปืนราคา 8,000 บาท ไป ขอให้แดงผู้เป็นเจ้าสํานักโรงแรมชดใช้ในความเสียหายนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ความรับผิด ของเจ้าสํานักโรงแรมว่าต้องรับผิดหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักเเละได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพ แห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น นาฬิกา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝากไว้ แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ อาวุธปืนของดําที่ถูกขโมยไปนั้น ถือเป็นทรัพย์ทั่ว ๆ ไปที่แดงเจ้าสํานักโรงแรม จะต้องรับผิดในความสูญหายต่อดําคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วยตามมาตรา 674 และมาตรา 675 วรรคแรก เต็มราคาคือ 8,000 บาท โดยไม่ต้องคํานึงว่าดําได้ฝากของนั้นไว้และได้บอกราคาของนั้นไว้หรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาวุธปืนของดําได้หายไปในเวลา 23.00 นาฬิกา แทนที่ดําจะแจ้งให้แดงเจ้าสํานักทราบในทันที แต่กลับแจ้งให้แดงทราบตอนเวลา 9.00 นาฬิกา ของเช้าวันรุ่งขึ้น ดังนั้น แดงเจ้าสํานักจึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อดตามมาตรา 676

สรุป

แดงเจ้าสํานักโรงแรมไม่ต้องรับผิดชอบต่อดําในกรณีที่อาวุธปืนของดําได้สูญหายไป

Advertisement