การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ปลาม้ายืมรถยนต์ของปลาเค้าเพื่อใช้เป็นพาหนะเดินทางไปจังหวัดตรังมีกําหนดสองเดือน แต่ปลาม้าเอารถยนต์ที่ยืมมาให้นางสาวเทโพแฟนสาวขับไปจังหวัดตราดแล้วไปโดนคนร้ายขว้างระเบิดใส่ รถยนต์เสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงินห้าหมื่นบาท ดังนี้ปลาเค้าจะบอกเลิกสัญญาเรียกให้ปลาม้าคืนรถยนต์ก่อนกําหนดและเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั้นเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ปลาม้ายืมรถยนต์ของปลาเค้าเพื่อใช้เป็นพาหนะเดินทางไปจังหวัดตรัง มีกําหนดเวลา 2 เดือนนั้น เป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 ประกอบมาตรา 641 ปลาม้าจึงมีสิทธิครอบครอง และใช้สอยรถยนต์ตามที่ตกลงไว้กับปลาเค้า คือเอาไปใช้เป็นพาหนะเดินทางไปจังหวัดตรังเท่านั้น

และตามมาตรา 645 กฎหมายได้กําหนดให้ผู้ให้ยืมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ยืม คืนทรัพย์สินที่ยืมได้ ถ้าผู้ยืมประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 เช่น การที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้ เพื่อการอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เป็นต้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปลาม้าได้นํารถยนต์ไปให้นางสาวเทโพแฟนสาวขับไปจังหวัดตราด กรณีนี้จึงถือว่าปลาม้าได้ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา 643 แล้ว คือ เป็นการนําทรัพย์สินที่ยืมไปให้ บุคคลภายนอกใช้สอย ดังนั้น เมื่อเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินที่ยืม คือการที่รถยนต์โดนคนร้ายขว้างระเบิดใส่ ทําให้เสียหายต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 50,000 บาท ปลาม้าผู้ยืมก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น และปลาเค้าผู้ให้ยืมย่อมมีสิทธิตามมาตรา 645 คือมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ปลาม้าคืนรถยนต์ก่อนครบ กําหนดได้ และมีสิทธิเรียกร้องให้ปลาม้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้

สรุป

ปลาเค้าสามารถบอกเลิกสัญญาเรียกให้ปลาม้าคืนรถยนต์ก่อนครบกําหนดได้ และ สามารถเรียกร้องให้ปลาม้ารับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้

 

ข้อ 2 ณ โรงแรมแห่งหนึ่งนายสุเทพและนายสุพจน์ ได้นั่งกินเหล้าและดูบอลกันอยู่ในห้องอาหาร ซึ่งมีการถ่ายทอดสด การแข่งขันระหว่างทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดกับทีมลิเวอร์พูลอยู่ ปรากฏว่านายสุเทพได้ กล่าวกับนายสุพจน์ว่าหากแมนยูแพ้ตนจะจ่ายเงินให้ 5,000 บาท ต่อมาหลังจากรายการจบ ปรากฏว่า ทีมลิเวอร์พูลชนะ แต่เนื่องจากนายสุเทพไม่มีเงินสด นายสุพจน์จึงให้นายสุเทพทําหนังสือยืมเงิน นายสุพจน์เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินร้อยละ 1.50 บาทต่อเดือน โดยในหนังสือ ดังกล่าวมีแต่ลายมือชื่อนายสุเทพเป็นภาษายาวี และไม่มีลายมือพยานใด ๆ เลย ดังนี้ สัญญาการยืมเงินดังกล่าวใช้ได้หรือไม่ อย่างใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิด ใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และ ปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 วรรคแรก “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการ กู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว สัญญากู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลื่องอย่างหนึ่ง ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินย่อม บริบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม ซึ่งหมายถึงเงินนั่นเอง ในกรณีที่ไม่มีการส่งมอบเงินให้แก่กัน สัญญา กู้ยืมเงินย่อมไม่สมบูรณ์ แม้จะมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมก็จะฟ้องร้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินกันไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายสุพจน์ให้นายสุเทพทําหนังสือยืมเงินนายสุพจน์เป็นเงิน 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินร้อยละ 1.50 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 18 ต่อปีนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสุพจน์ ไม่ได้มีการส่งมอบเงินจํานวน 5,000 บาท แก่นายสุเทพแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายสุเทพและนายสุพจน์ จึงไม่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 650) อีกทั้งวัตถุประสงค์ของสัญญาก็มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย (ตามมาตรา 150) ดังนั้นสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆะ

เมื่อสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายสุเทพและนายสุพจน์ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีการส่งมอบทรัพย์สิน ที่ยืม (เงิน) ให้แก่กันและมีผลเป็นโมฆะเพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายตามมาตรา 650 ประกอบมาตรา 150 ดังนั้น แม้สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีลายมือชื่อของนายสุเทพผู้ยืมก็ตาม สัญญาการยืมเงิน ดังกล่าวก็ใช้ไม่ได้ ส่วนดอกเบี้ยที่มีการคิดกันเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เมื่อสัญญาการยืมเงินใช้ไม่ได้ ในส่วน ดอกเบี้ยจึงไม่ต้องนํามาพิจารณา

สรุป

สัญญาการยืมเงินระหว่างนายสุเทพและนายสุพจน์ใช้ไม่ได้

 

ข้อ 3 เอกเปิดบัญชีเงินฝากจํานวน 10,000 บาท กับธนาคารไทยออมทรัพย์ ต่อมาธนาคารถูกโจรปล้นในวันที่เอกฝากเงินนั้นเอง ดังนี้ ธนาคารจะไม่ยอมให้คนที่นําเงินเข้าฝากในวันเกิดเหตุมาถอนเงินจากธนาคารโดยอ้างว่าเนื่องจากถูกโจรปล้นได้หรือไม่ จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 672 “ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทอง ตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจํานวน

อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจําต้องคืนเงินให้ครบจํานวนเท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จําต้องคืนเงินเป็นจํานวนดังว่านั้น”

วินิจฉัย

การฝากเงิน ถือเป็นสัญญาฝากทรัพย์ประเภทหนึ่ง แต่จะมีลักษณะพิเศษตามมาตรา 672 กล่าวคือ

1 ผู้รับฝากไม่ต้องคืนเงินอันเดียวกันกับที่รับฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจํานวน

2 ผู้รับฝากใช้เงินที่ฝากได้ แม้ผู้ฝากจะมิได้อนุญาตก็ตาม

3 แม้เงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็ต้องคืนเงินให้แก่ผู้นั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกเปิดบัญชีเงินฝากจํานวน 10,000 บาท กับธนาคารไทยออมทรัพย์ นั้น ธนาคารผู้รับฝากย่อมมีสิทธิจะเอาเงินนั้นออกใช้ก็ได้ตามมาตรา 672 แต่จะต้องคืนเงินให้แก่เอกครบจํานวน แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อเอกได้ฝากเงินไว้กับธนาคารแล้ว ต่อมาธนาคารถูกโจรปล้น ในวันที่เอกฝากเงินนั้นเอง ดังนี้แม้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ธนาคารผู้รับฝากก็จะต้องรับผิดคืนเงิน ให้แก่ผู้ฝาก ธนาคารจะไม่ยอมให้คนที่นําเงินเข้าฝากในวันเกิดเหตุมาถอนเงินจากธนาคารโดยอ้างว่าเนื่องจากถูก โจรปล้นไม่ได้

สรุป

ธนาคารจะไม่ยอมให้คนที่นําเงินเข้าฝากในวันเกิดเหตุมาถอนเงินจากธนาคาร โดยอ้างว่า เนื่องจากถูกโจรปล้นไม่ได้

 

 

Advertisement