การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลงโดยบอกว่าจะเอาใช้ขับขี่ไปทํางาน แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทนและไม่ได้กําหนดเวลาคืนไว้ แต่สามย่านกลับนําไปดัดแปลง โดยมีการตัดต่อเป็นรถสามล้อเติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อรับขนคนโดยสาร วันหนึ่งขณะที่สามย่าน ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ดัดแปลงแล้วหาผู้โดยสารนั้นวังจันทร์ขับรถยนต์มาชนท้ายทําให้รถมอเตอร์ไซค์ ที่สามย่านยืมมาเสียหาย ดังนี้แกลงจะเรียกให้สามย่านรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ที่ยืมหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”
มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหาย หรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สามย่านยืมมอเตอร์ไซค์ของแกลงโดยบอกว่าจะเอาใช้ขับขี่ไปทํางาน แกลงได้ส่งมอบมอเตอร์ไซค์ให้สามย่านไปใช้งานโดยไม่คิดค่าตอบแทนและไม่ได้กําหนดเวลาคืนไว้ กรณีถือว่าเป็น สัญญายืมใช้คงรูปที่มิได้กําหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาตามมาตรา 640 ประกอบมาตรา 641
และตามมาตรา 643 กฎหมายได้กําหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือ บุบสลายไป ถ้าผู้ยืมเอาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจาก การอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า สามย่านได้เอาทรัพย์สินที่ยืม ไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา กล่าวคือ สามย่านได้นําไปดัดแปลงโดยมีการตัดต่อเป็นรถสามล้อ เติมหลังคากับที่นั่งสองแถวเพื่อรับขนคนโดยสาร ดังนั้นเมื่อวังจันทร์ขับรถยนต์มาชนท้ายทําให้รถมอเตอร์ไซค์ที่ สามย่านยืมมาเสียหาย แกลงย่อมมีสิทธิเรียกให้สามย่านรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ ที่ยืมได้ตามมาตรา 643
สรุป
แกลงสามารถเรียกให้สามย่านรับผิดชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายที่เกิดกับมอเตอร์ไซค์ ที่ยืมได้
ข้อ 2 นางอภิลัดดาได้โทรศัพท์ขอยืมเงินนายประเสริทเป็นเงินห้าหมื่นบาทถ้วน และนายประเสริทได้ส่งเช็คจํานวนดังกล่าวไปให้ในวันที่ 14 กันยายน ศกนี้ และได้มีสําเนาเช็คเก็บไว้ โดยไม่ได้ทําหลักฐาน การกู้ยืมเป็นหนังสือใด ๆ ต่อมานางอภิลัดดาได้ถูกนางหนูเมียนายประเสริททวงถามเรื่องหนี้ นางอภิลัดดาได้เขียนข้อความเป็นลายมือของตนในกระดาษให้นางหนูว่า “ฉันอภิลัดดาจะคืนเงิน ห้าหมื่นบาทให้ไม่โกงหรอก รับรองได้” ต่อมานางอภิลัดดาได้ป่วยหนักเขียนจดหมายไปหานางหมู น้านายประเสริทว่า “ถ้าฉันตายให้ชําระหนี้ที่ติดไว้กับไอ้เสริทหลานแกด้วยให้ด้วย ลงชื่อ อภิลัดดา” ต่อมา นางอภิลัดดา ได้เห็นนายประเสริทประท้วงรัฐบาลอยู่ข้างถนน จึงได้เขียนข้อความต่อว่า นายประเสริทว่า “เช็คเงินที่ฉันขอยืมนั่นน่ะนะได้รับตั้งแต่วันที่ 15 กันยาแล้ว แต่ถ้าขืนนยังด่านายกผู้หญิงอีกฉันจะไม่จ่าย ลงชื่อ เพ็ญ” ซึ่งชื่อเพ็ญดังกล่าวเป็นชื่อเล่นของนางอภิลัดดา ดังนี้ นายประเสริทจะมีทางฟ้องร้องนางอภิลัดดาได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้น เป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”
มาตรา 653 วรรคแรก “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
การกู้ยืมเงิน เป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองตามมาตรา 650
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคแรก บังคับว่าในกรณีที่จะฟ้องร้องบังคับคดีในเรื่อง เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจะต้องมีพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดี คือ
1 หลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ
2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ
สําหรับหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้น ต้องมีสาระสําคัญให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกัน ซึ่งข้อความ อันแสดงถึงการกู้ยืมไม่จําเป็นว่าจะต้องปรากฏในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจจะปรากฏอยู่ในเอกสารหลาย ๆ ฉบับ ก็ได้ เมื่อนําเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านประกอบเข้าด้วยกัน หากได้ความว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันแล้ว ถือว่าเอกสาร เหล่านั้นเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้
ส่วนการลงลายมือชื่อในหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายบังคับว่าต้องมีลายมือชื่อของ ผู้ยืมเท่านั้น ส่วนผู้ให้ยืมจะลงลายมือชื่อในหลักฐานนั้นหรือไม่ ก็ไม่ใช่สาระสําคัญ ไม่ทําให้หลักฐานแห่งการฟ้องคดีนั้น เสียไป และการสงลายมือชื่อนั้น ผู้ยืมอาจเขียนเป็นชื่อตัวเอง หรือลายเซ็นก็ได้ และอาจจะเป็นชื่อจริงหรือชื่อเล่น จะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้ แต่ถ้ามิได้ลงลายมือชื่อเลย แม้ผู้ยืมจะเป็นผู้ทําหลักฐานเป็นหนังสือ นั้นเอง หลักฐานนั้นก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตามมาตรา 653 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางอภิลัดดาได้กู้ยืมเงินจากนายประเสริทเป็นเงิน 50,000 บาท โดยไม่ได้ มีหลักฐานเป็นหนังสือ นอกจากเช็คที่นายประเสริทได้ให้ไว้นั้น ย่อมไม่อาจใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี การกู้ยืมเงินได้ และแม้ต่อมานางอภิลัดดาจะได้เขียนข้อความเป็นลายมือของตนให้นางหนูเมียนายประเสริทว่า “ฉันอภิลัดดาจะคืนเงินห้าหมื่นบาทให้ไม่โกงหรอก รับรองได้” ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่านางอภิลัดดาได้กู้ยืมเงินจาก นายประเสริท อีกทั้งยังไม่มีการลงลายมือของนางอภิลัดดาด้วย จึงไม่อาจใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกรณีดังกล่าวได้เลย
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อต่อมานางอภิลัดดาได้เขียนจดหมายไปหานางหมูน้านายประเสริทว่า “ถ้าฉันตาย ให้ชําระหนี้ที่ติดไว้กับไอ้เสริทหลานแกด้วยให้ด้วย ลงชื่อ อภิลัดดา” และยังได้เขียนข้อความต่อว่านายประเสริทว่า “เช็คเงินที่ฉันขอยืมนั้นน่ะนะได้รับตั้งแต่วันที่ 15 กันยาแล้ว แต่ถ้าขืนยังด่านายกผู้หญิงอีกฉันจะไม่จ่าย ลงชื่อ เพ็ญ” ซึ่งชื่อเพ็ญดังกล่าวเป็นชื่อเล่นของนางอภิลัดดานั้น แม้ในบันทึกข้อความตอนแรกจะไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักฐาน ในการฟ้องร้องบังคับคดีได้ แต่ในบันทึกข้อความตอนหลังได้อ้างถึงเช็คและการยืมเงิน อีกทั้งมีการลงลายมือชื่อของ ผู้กู้ยืมด้วย จึงถือได้ว่ามีความชัดเจนเพียงพอที่จะใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน กรณีนี้ได้
สรุป
นายประเสริทสามารถฟ้องร้องบังคับนางอภิลัดดาได้ โดยใช้เช็คและข้อความบันทึกที่ นางอภิลัดดาให้นายประเสริทเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดี
ข้อ 3 นายเอกและนายโทเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยพักห้องเดียวกันและนายเอกเป็นผู้ลงทะเบียนในนามของผู้พัก ต่อมาทั้งสองคนได้ออกจากห้องไปธุระข้างนอก โดยนายโทวาง โทรศัพท์มือถือราคาแปดพันบาทไว้ในห้อง เมื่อกลับมาพบว่ามีคนเข้ามารื้อค้นของในห้องพักและ โทรศัพท์มือถือกับกางเกงยีนส์ 1 ตัว (ราคา 2,000 บาท) หายไป นายโทรีบแจ้งนายตรีผู้เป็นเจ้าสํานักที่ควบคุมกิจการโรงแรมทราบทันที นายตรีต่อสู้ว่านายโทมิได้เป็นผู้ลงชื่อเข้าพัก เจ้าสํานักโรงแรม จึงไม่ต้องรับผิด จะรับผิดเฉพาะทรัพย์ของแขกผู้ลงชื่อในใบลงทะเบียนเท่านั้น ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายตรีฟังขึ้นหรือไม่ ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของเจ้าสํานักโรงแรมที่มีต่อทรัพย์สินของนายโท
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหาย หรือบุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตัวเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอกราคา แห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”
มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลาย คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 674 และ 675 ได้กําหนดให้เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล จะต้องรับผิดชอบใน ความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยนั้น ให้หมายความรวมถึงบุคคล ที่เข้าพักอาศัยร่วมกับผู้เดินทางด้วย ความรับผิดของเจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ลไม่ได้จํากัดเฉพาะทรัพย์สินของ ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าพักแรมเท่านั้น ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์เมื่อทรัพย์สินของนายโทหายไป นายตรีผู้เป็นเจ้าสํานักที่ ควบคุมกิจการโรงแรมจึงต้องรับผิดชอบ จะต่อสู้ว่านายโทมิได้เป็นผู้ลงชื่อเข้าพักไม่ได้
และเมื่อทรัพย์สินที่สูญหายไป คือโทรศัพท์มือถือราคา 8,000 บาท และกางเกงยีนส์ราคา 2,000 บาทนั้น เป็นทรัพย์ทั่ว ๆ ไปตามมาตรา 675 วรรคแรก มิใช่ทรัพย์ที่มีค่าตามมาตรา 675 วรรคสอง ดังนั้น แม้ว่าจะมิได้มีการฝากทรัพย์นั้นไว้แก่เจ้าสํานัก เจ้าสํานักโรงแรมก็ต้องรับผิดชอบเต็มจํานวน และเมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า เมื่อนายโทพบเห็นว่าทรัพย์สินนั้นสูญหาย นายโทได้แจ้งความนั้นต่อนายตรีเจ้าสํานักโรงแรมทันทีตาม มาตรา 676 ดังนั้นกรณีนี้นายตรีจึงต้องรับผิดต่อนายโทจํานวน 10,000 บาท
สรุป
ข้อต่อสู้ของนายตรีที่ว่านายโทมิได้เป็นผู้ลงชื่อเข้าพักจึงไม่ต้องรับผิดชอบนั้นฟังไม่ขึ้น และนายตรีเจ้าสํานักโรงแรมจะต้องรับผิดต่อนายโทจํานวน 10,000 บาท