การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา 3 ปี ซึ่งสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปี ในปี 2552 แต่ปรากฏว่าขาวผู้เช่าอยู่ในที่ดินต่อมาในปี 2553 โดยที่แดงรับเงินค่าเช่าจากขาวมาเรื่อยๆ โดยไม่ทักท้วงจนถึงปี 2554 ขาวก็ยังคงเช่าที่ดินแดงมาตลอด และจ่ายค่าเช่าให้กับแดงทุกๆวันที่ 1 ของแต่ละเดือน โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่แต่อย่างใด
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขาวนำค่าเช่ามาชำระในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 แดงจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวโดยแดงให้ขาวออกจากที่ดินไปในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 แต่ขาวไม่ยอมออกจากที่ดินและขาวอยู่ในที่ดินจนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2554 ดังนั้น แดงจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากขาวในวันที่ 14 มีนาคม 2554 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การฟ้องเรียกที่ดินคืนดังกล่าวของแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 566 ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน
มาตรา 570 ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปี และได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 538
ตามข้อเท็จจริง เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปี ในปี 2553 การที่ขาวอยู่ในที่ดินต่อมาและชำระค่าเช่าให้กับแดง โดยที่แดงก็ไม่ได้ทักท้วงนั้น ถือเป็นการทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไป โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 570 ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาให้นำสัญญาเดิมมาบังคับ
ดังนั้นเมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ขาวมาชำระค่าเช่า แดงจึงบอกเลิกสัญญาได้ แม้ขาวจะไม่เคยผิดสัญญา ทั้งนี้ตามมาตรา 566 แต่การที่แดงบอกเลิกสัญญาและให้ขาวออกไปจากที่ดินในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 นั้น ถือว่าเป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบตามมาตรา 566 เพราะตามหลักกฎหมายดังกล่าว แดงจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวและให้ขาวอยู่ในที่ดินจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งเป็นชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้การบอกเลิกสัญญาเช่าจะไม่ชอบตามมาตรา 566 แต่การบอกเลิกดังกล่าว ก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อแดงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากขาวในวันที่ 14 มีนาคม 2554 ซึ่งเลยวันที่ 2 มีนาคม 2554 มาแล้ว การฟ้องเรียกที่ดินคืนของแดงจึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะการนับเวลาตามมาตรา 566 ให้นับไปจนถึงวันฟ้องขับไล่ ดังนั้นขาวจึงต้องส่งที่ดินคืนให้กับแดง
สรุป การฟ้องเรียกที่ดินคืนของแดงชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2
(ก) แสดทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถยนต์คันหนึ่งมีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่ 7 ของแต่ละเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท ม่วงได้จ่ายค่าเช่าให้กับแสดไว้เป็นเงิน 60,000 บาท เป็นค่าเช่าล่วงหน้า เมื่อแสดส่งมอบรถยนต์ให้ม่วงแล้ว ม่วงไม่ชำระค่าเช่าให้แสดเลยจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 แสดไปทวงค่าเช่ากับม่วง แต่ม่วงไม่ยอมจ่ายค่าเช่าให้กับแสด ดังนั้น ในวันที่ 14 มีนาคม 2554 แสดจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที ให้ท่านวินิจฉัยว่า การกระทำของแสดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อคำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
วินิจฉัย
ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ไดบัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ม่วงจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าให้กับแสดไว้ 60,000 บาทนั้น ทำให้ม่วงมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน 2 เดือนแรกคือ เดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ แต่ในเดือนมีนาคม 2554 ม่วงต้องชำระค่าเช่าให้แสด ดังนั้น การที่ม่วงไม่ชำระค่าเช่าในวันที่ 7 มีนาคม 2554 และเมื่อแสดไปทวงค่าเช่าในวันที่ 10 มีนาคม 2554 ม่วงก็ไม่ยอมจ่ายนั้น โดยหลักแสดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคแรก
แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนคือทุกๆวันที่ 7 ของเดือน การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในเดือนมีนาคม 2554 นั้น จึงยังไม่ทำให้แสดเกิดสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวได้ เพราะกรณีดังกล่าวต้องตามบทบัญญัติมาตรา 560 วรรคสอง กล่าวคือ แสดต้องบอกกล่าวให้ม่วงนำค่าเช่ามาชำระก่อน ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ดังนั้น การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่ 14 มีนาคม 2554 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในวันที่ 7 มีนาคม 2554 นั้น ถือว่าม่วงผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้แล้วสองคราว ดังนั้น การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่แสดเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาได้ จะต้องปรากฏว่าม่วงผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน ตามมาตรา 574 วรรคแรก
สรุป
(ก) การกระทำของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การกระทำของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3
(ก) นายดำทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นลูกจ้าง ตกลงจ่ายสินจ้างเดือนละ 8,000 บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน ต่อมา นายแดงขอเบิกเงินค่าจ้างไปเป็นค่าใช้จ่ายก่อนเสมอๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายแดง นายดำจึงจ่ายสินจ้างให้นายแดงเดือนละสองครั้ง คือทุกๆวันที่ 15 และวันสิ้นเดือน แต่เมื่อนายดำมีรายได้จากการทำการค้าลดน้อยลง ทำให้ต้องลดภาระค่าใช้จ่ายลง นายดำจึงบอกกล่าวแก่นายแดงในวันที่ 15 พฤษภาคม ว่าจะเลิกสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 พฤษภาคม แต่นายแดงไม่เห็นด้วย เช่นนี้ จะต่อสู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
(ข) นายขาวทำสัญญาจ้างนายดำสร้างอาคาร 3 หลัง นายดำทำการก่อสร้างอาคาร 2 หลัง และทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงสร้างอาคาร 1 หลัง ในระหว่างการก่อสร้างนายขาวพบเห็นความบกพร่องของอาคารที่นายแดงทำการก่อสร้างว่ามีรอยร้าวหลายแห่งและสร้างผิดแบบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ นายขาวจึงบอกกล่าวให้นายดำทำการแก้ไขซ่อมแซมให้ถูกต้องด้วย แต่นายดำกล่าวอ้างว่าไม่ใช่การงานส่วนที่ตนจะต้องรับผิดชอบ จะต้องไปบอกกล่าวให้นายแดงแก้ไขซ่อมแซม ส่วนนายขาวก็กล่าวอ้างว่าได้ทำสัญญาจ้างนายดำให้ทำการก่อสร้าง นายดำจะไปจ้างบุคคลอื่นให้มาทำการก่อสร้างช่วงไม่ได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ท่านมีความเห็นอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้
วินิจฉัย
โดยหลัก สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป โดยไม่จำต้องบอกล่วงหน้ากว่าสามเดือน ตามมาตรา 582 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดำทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นลูกจ้างนั้น ถือเป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อไม่ได้มีการตกลงกันว่าจะจ้างกันมีกำหนดเวลานานเท่าใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำตามมาตรา 582 วรรคแรก
ตามข้อเท็จจริง การที่นายดำเปลี่ยนเวลาจ่ายสินจ้างจากเดือนละครั้งเป็นเดือนละสองครั้งนั้น ถือเป็นการทำไปเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายเท่านั้น ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนฐานะของลูกจ้างจากลูกจ้างรายเดือนเป็นราย 15 วันแต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายดำบอกกล่าวแก่นายแดงในวันที่ 15 พฤษภาคม ว่าจะเลิกสัญญาจ้างและบอกเลิกสัญญาในวันที่ 31 พฤษภาคม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายแดงจึงสามารถต่อสู้ได้ว่า เมื่อมีการบอกกล่าวในวันที่ 15 พฤษภาคม ก็จะมีผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 30 มิถุนายน ตามมาตรา 582 วรรคแรก
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย สัญญาจ้างทำของไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงสามารถทำการจ้างช่วงต่อได้ แต่มีข้อยกเว้นว่า ถ้าสาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง จะทำสัญญาจ้างช่วงไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดีผู้รับจ้างก็ยังคงต้องรับผิดในความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆที่ผู้รับจ้างช่วงได้ทำขึ้น (มาตรา 607)
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาระหว่างนายขาวกับนายดำเป็นสัญญาจ้างทำของ (มาตรา 587) เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง นายดำผู้รับจ้างจึงสามารถทำสัญญาจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงได้ (มาตรา 607) ดังนั้น นายขาวจะอ้างว่านายดำไม่สามารถจ้างนายแดงเป็นผู้รับจ้างช่วงไม่ได้
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารที่นายแดงทำการก่อสร้างนั้นมีรอยร้าวหลายแห่ง และสร้างผิดแบบตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ นายดำผู้รับจ้างจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ตามมาตรา 607 ดังนั้น นายดำจะกล่าวอ้างให้นายขาวไปบอกกล่าวแก่นายแดงผู้รับจ้างช่วง โดยปฏิเสธว่าไม่ใช่งานในส่วนที่ตนรับผิดชอบไม่ได้
สรุป
(ก) นายแดงสามารถต่อสู้ได้ว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) ข้อกล่าวอ้างของทั้งนายดำและนายขาวรับฟังไม่ได้