การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อ  5  มีข้อความว่า  “ผู้เช่าได้ให้เงินประกันสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าไว้แล้วเป็นเงิน  70,000  บาท  หากสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาแก่ผู้เช่า”  และในสัญญาข้อ  6  มีข้อความว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่า  เช่าต่อไปอีก  2  ปี”  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  6  เดือนเท่านั้นเอง  

แดงได้ยกตึกที่เช่าซึ่งแดงเป็นเจ้าของให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  ครั้นการเช่าตึกแถวครบกำหนด  2  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  กันยายน  2553  มืดกลับเรียกตึกแถวคืนทันทีจากขาวในวันที่  3  ตุลาคม  2553  ขาวเรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  และข้อ  6  มืดไม่ยอมปฏิบัติตามเลย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

ตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  2  ปี  เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือจึงใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  ตามมาตรา  538  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผ่านไป  6  เดือน  แดงได้ยกตึกแถวคูหานี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตาม มาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดต้องให้ขาวเช่าอยู่ในตึกแถวนั้นต่อไปจนครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569 วรรคสอง

และเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  มืดได้เรียกตึกแถวนั้นคืนจากขาว  แต่ขาวได้เรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาข้อ  5  และข้อ  6  นั้น  ดังนี้สัญญาข้อ  5  มืดไม่ต้องรับมาเพราะเป็นสิทธิและหน้าที่อย่างอื่นนอกเหนือจากสัญญาเช่า  ส่วนสัญญาข้อ  6  ก็เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่นซึ่งเป็นบุคคลสิทธิผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  เพราะคำมั่นไม่ใช่สัญญา  มืดจึงไม่ต้องรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วยเช่นกัน  ดังนั้นการที่มืดปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาข้อ 5  และข้อ  6  จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    เหลืองทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถบรรทุกมีกำหนดเวลา  2  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2553  เป็นต้นไป  โดยตกลงจ่ายค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ม่วงได้ให้ค่าเช่าล่วงหน้าในวันทำสัญญาเช่าเป็นเงิน  100,000  บาท  (หนึ่งแสนบาท)  ปรากฏว่าม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าเลยตั้งแต่เดือนมกราคม  2553  มาจนถึงปัจจุบันนี้  ดังนั้น  ในวันที่  16  ตุลาคม  2553  เหลืองจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของเหลืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่า  ชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

ตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าทรัพย์ระหว่างเหลืองกับม่วงตกลงชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  แม้จะปรากฏว่าม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกันนานถึง  5  เดือน  (ค่าเช่าล่วงหน้า  100,000  บาท  ใช้ได้เพียง  4  เดือนแรก)  เหลืองก็จะบอกเลิกสัญญาเช่าในทันทีไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงนำค่าเช่ามาชำระก่อนโดยให้เวลาไม่น้อยกว่า  15  วัน  ดังนั้นการกระทำของเหลืองจึงมิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  560

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าติดต่อกัน  5  เดือนนั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกันแล้ว  ดังนั้นเหลืองผู้ให้เช่าซื้อจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันทีตามมาตรา  574  วรรคแรก  การกระทำของเหลืองจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การกระทำของเหลืองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การกระทำของเหลืองชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  หนึ่งทำสัญญาจ้างสองให้ก่อสร้างโรงงาน  มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตั้งแต่วันที่  10  มกราคม  2552  ถึงวันที่  9  มกราคม  2554  โดยตกลงชำระสินจ้างให้เป็นงวดๆ  ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้างตามความสำเร็จของงาน  สองได้ทำสัญญาจ้างสามเป็นหัวหน้าคนงานมีกำหนดเวลา  2  ปีเช่นกัน  ตั้งแต่วันที่  10  มกราคม  2552  ถึงวันที่  9  มกราคม  2554  โดยตกลงชำระสินจ้างเดือนละ  10,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  เมื่อวันที่  1  มิถุนายน  2552  หนึ่งได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อสร้างโรงงานโดยอ้างว่า  เศรษฐกิจไม่ดีหุ้นส่วนขอยกเลิกการลงทุน  สองจึงบอกเลิกสัญญาจ้างสามในวันที่  30  มิถุนายน  2552  เช่นกัน  เพราะหนึ่งได้บอกเลิกสัญญากับสองแล้ว  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว

(ก)    หนึ่งบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานกับสองได้หรือไม่

(ข)   สองบอกเลิกสัญญาจ้างสามได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับผู้รับจ้าง  (มาตรา  605)

ตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานดังกล่าว  เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือสอง  ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับหนึ่งผู้ว่าจ้าง  และหนึ่งตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา  587  เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าวันที่  1  มิถุนายน  2552  ในขณะที่โรงงานยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ  หนึ่งผู้ว่าจ้างได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานดังกล่าวกับสอง  ดังนี้ถือว่าหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้  แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญานั้นให้แก่สองด้วย  ตามมาตรา  605

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

วินิจฉัย

โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  สัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้  ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้  นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สองจ้างสามเป็นหัวหน้าคนงาน  โดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่สามทำงานให้  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  เมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกำหนดเวลา  2  ปี  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าสามได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด  และการจ้างก็ยังไม่ครบกำหนดเวลา  2  ปี  สองจึงบอกเลิกสัญญาจ้างสามในวันที่  30  มิถุนายน  2552  ไม่ได้

สรุป

(ก)    หนึ่งบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างโรงงานกับสองได้

(ข)   สองบอกเลิกสัญญาจ้างสามไม่ได้

Advertisement