การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหลังหนึ่งเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมายมีกำหนดเวลา 3 ปี ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน สัญญาเช่าข้อที่ 10 มีข้อตกลงว่า “ขาวผู้เช่าเป็นผู้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศในตึกแถวหลังนี้ โดยขาวเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นเงิน 500,000 บาท
และเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วผู้ให้เช่ายินยอมรับซื้อเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่ในตึกแถวหลังนี้ในราคา 300,000 บาท” ขาวเช่าตึกแถวนี้ได้เพียง 2 ปี แดงได้ยกตึกแถวให้กับมืดโดยการยกให้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ขาวอยู่ในตึกแถวต่อมาโดยมิได้ทำสัญญาเช่าใหม่กับมืด ครั้นสัญญาเช่าสิ้นสุดลงเมื่อขาวอยู่ในตึกแถวจนครบ 3 ปีแล้ว ขาวจึงเรียกให้มืดปฏิบัติตามสัญญาเช่าข้อที่ 10 มืดปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงิน 300,000 บาทให้กับขาว ท่านเห็นว่าการปฏิเสธของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด
ธงคำตอบ
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
วินิจฉัย
สัญญาเช่าตึกแถวเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ทำเป็นหนังสือ ตามมาตรา 538 สามารถบังคับกันได้ แดงผู้ให้เช่ายกตึกแถวให้มืดเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับไป ตามมาตรา 569 วรรคแรก มืดจึงต้องให้ขาวเช่าจนครบ 3 ปี เพราะมืดเป็นผู้รับโอนยอมรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า ตามมาตรา 569 วรรคสอง แต่ข้อตกลงข้อที่ 10 มืดไม่ต้องรับเอาข้อตกลงนี้มาด้วย เพราะข้อตกลงดังกล่าวมิใช่ข้อตกลงตามสัญญาเช่า (แต่เป็นข้อตกลงเรื่องอื่นนอกเหนือจากเรื่องเช่า) คำปฏิเสธของมืดจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คำปฏิเสธของมืดชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 ก. เขียวทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านหลังหนึ่งมีกำหนดเวลา 5 ปี ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน ม่วงเช่าบ้านมาเพียง 1 ปีเท่านั้น ปรากฏเหตุการณ์ขึ้นกับบ้านเช่าหลังนี้คือกระเบื้องหลังคาแตกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาในบ้านหลังนี้ เขียวทราบเหตุการณ์ดังกล่าวจากม่วงแต่เขียวไม่ยอมซ่อมแซมให้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เขียวกลับบอกให้ม่วงทำการซ่อมแซมให้เสร็จภายใน 15 วันแต่ม่วงกินิ่งเฉยเสียจนล่วงเลยเวลามาถึง 20 วัน ดังนี้เขียวจึงบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านกับม่วงทันที ท่านเห็นว่าการกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก. เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 553 ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
มาตรา 554 ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 552 มาตรา 553 หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะ
บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
วินิจฉัย
กระเบื้องหลังคาแตกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ถือว่าเป็นการซ่อมแซมเล็กน้อย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เช่าตามมาตรา 553 และเมื่อผู้ให้เช่าบอกกล่าวให้ซ่อมแซมคือบอกให้ทำให้ถูกต้องตามมาตรา 554 ผู้เช่าไม่ซ่อมแซม จึงทำให้ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาได้ เขียวจึงบอกให้ม่วงซ่อมแซมได้เพราะเป็นหน้าที่ของม่วง
สรุป การที่เขียวบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ข
มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว
สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าเป็นโมฆะ
มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
สัญญาเช่าซื้อบ้านทำเป็นหนังสือถูกต้องจึงบังคับระหว่างคู่สัญญาได้ 5 ปี แต่การกระทำของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ แม้ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ซ่อมแซมเล็กน้อย ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ซ่อมแซมจะถือว่าผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญไม่ได้ เป็นเพียงผิดสัญญาธรรมดา จึงบอกเลิกสัญญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 574 ไม่ได้
สรุป เขียวบอกเลิกสัญญาไม่ได้
ข้อ 3 ก. การคิดสินจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของแตกต่างกันอย่างไร จงอธิบาย
ข. น้ำเงินจ้างเหลืองมาเป็นลูกจ้างประจำร้านขายของโดยไม่มีกำหนดเวลา ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เหลืองได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 3,000 บาท โดยปกตกลูกจ้างของน้ำเงินจะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 8.30 น. แต่ปรากฏว่าเหลืองมาทำงาน 9.30 น. ของวันจันทร์ในแต่ละสัปดาห์ เป็นประจำและหลายครั้ง ครั้นในวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เหลืองมาทำงานสายอีก น้ำเงินจึงบอกเลิกไม่จ้างเหลือง และให้เหลืองออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 ท่านเห็นว่าการบอกเลิกดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
– สัญญาจ้างแรงงาน คิดสินจ้างให้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะจ่ายสินจ้างเป็นรายวัน รายเดือน เป็นต้น
– สัญญาจ้างทำของ คิดสินจ้างเมื่อทำงานเสร็จ
ข
มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
วินิจฉัย
ลูกจ้างมาทำงานสายเป็นประจำ แม้จะมาสายอาทิตย์ละครั้ง ก็ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เหมาสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต น้ำเงินจึงเลิกจ้างเหลืองได้เลย เป็นการไล่ออกตามมาตรา 583 แม้เป็นสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่มีกำหนดเวลาก็ไม่จำต้องบอกเลิกตามมาตรา 582
สรุป การบอกเลิกจ้างดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว