การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

Advertisement

ข้อ 1        แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารหนึ่งหลังมีกำหนดเวลา 1 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ วันที่ 5 ของเดือน สัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550  สัญญาตกลงไว้ว่าขาวต้องใช้อาคารเพื่อทำเป็นสำนักงานบัญชีเท่านั้น หากขาวฝ่าฝืนแดงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที แดงให้ขาวเช่าอาคารได้เพียง 6 เดือน แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารได้ยกอาคารให้มืดบุตรชายของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย ขาวอยู่ในอาคารมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยไม่เคยทำสัญญาเช่าใหม่เลย แต่ขาวชำระค่าเช่าไม่เคยผิดสัญญาแต่อย่างใด

ปรากฏว่าในเดือนตุลาคม 2551  ขาวได้เปลี่ยนการใช้อาคารมาเป็นร้านเสริมสวยสำหรับสุภาพสตรี มืดเห็นขาวทำเช่นนั้นจึงบอกเลิกสัญญาด้วยสาเหตุที่ขาวใช้อาคารที่เช่าผิดไปจากข้อตกลงในสัญญาโดยบอกเลิกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551  และให้ขาวส่งคืนอาคารในวันที่ 1 ธันวาคม 2551  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา  552  อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่

มาตรา  554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา  552  มาตรา  553  หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา  ผู้ให้เช่าจะ

บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้  ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย การเช่าอาคารระหว่างแดงและขาวชอบด้วยกฎหมาย (ม. 538) ข้อตกลงในสัญญาเช่าผู้เช่าต้องปฏิบัติตาม (การใช้ทรัพย์โดยชอบตาม ม. 552 และเป็นการตกลงยกเว้น ม. 554 ถ้าผู้เช่าฝ่าฝืนผู้ให้เช่าบอกเลิกทันที ไม่ต้องเตือนข้อตกลงไม่ขัดต่อความสงบฯ) ขาวเช่ามา 6 เดือน แดงยกอาคารให้มืด  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าตาม ม. 569 ขาวเช่าจนครบ 1 ปี เมื่อสิ้นปี 2550 ขาวอยู่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน (2551) จึงเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลาตาม ม. 570 ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจึงไม่ต้องทำสัญญาขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง แต่สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาเป็นไปตามสัญญาเดิม มืดจึงบอกเลิกสัญญาเพราะสาเหตุดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และไม่ต้องบอกกล่าวตาม ม. 566

 

ข้อ 2
(ก) เขียวทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่       1 มกราคม 2550  ตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 14 และวันที่ 28 ของแต่ละเดือน ปรากฏว่าเหลืองไม่ชำระ      ค่าเช่าที่จะต้องชำระคราวละ 5,000 บาท ตามสัญญาเช่า ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม 2551  และวันที่              14 พฤศจิกายน 2551 เป็นเงิน 10,000 บาท ครั้นวันที่ 17 พฤศจิกายน 2551  เขียวจึงบอกเลิกสัญญาทันที และให้เหลืองส่งรถยนต์คืนในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551  ให้ท่านวินิจฉัยว่าการกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด

แนวคำตอบ

(ก)

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย  เป็นการตกลงชำระค่าเช่าต่ำกว่ารายเดือนคือ ชำระวันที่ 14 และวันที่ 28 ของแต่ละเดือน เขียวจึงบอกเลิกสัญญาได้ทันทีไม่ต้องเตือนให้นำค่าเช่ามาชำระ  การกระทำของเขียวชอบด้วยกฎหมาย

(ข)

มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย บอกเลิกไม่ชอบเพราะผิดนัด 2 คราวแต่ไม่ติดกัน

 

ข้อ 3        (ก) นายใหญ่ทำสัญญาจ้างนายเล็กเป็นลูกจ้างของบริษัท มีกำหนด 1 ปี มีข้อตกลงให้ชำระสินจ้างเดือนละ 8,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน  นายเล็กทำงานเรื่อยมาเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน แต่บริษัทมีปัญหาทางการเงิน จึงทำการประชุมกันในวันที่ 20 ตุลาคม และมีมติให้เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน  นายใหญ่จึงทำหนังสือบอกกล่าวนายเล็กในวันที่ 31 ตุลาคม และบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 พฤศจิกายน เช่นนี้       นายเล็กจะต่อสู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด  จงอธิบาย
(ข) นายหมูทำสัญญาจ้างนายปลา ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านการวาดภาพอย่างมากในประเทศไทยให้วาดภาพให้ 2 ภาพ ในราคา 200,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก  แต่เนื่องจากใกล้วันปีใหม่นายปลารับงานวาดภาพไว้หลายชิ้นมากจนวาดภาพให้ลูกค้าไม่ทัน  นายปลาจึงจ้างให้นายช้างซึ่งวาดภาพได้เช่นกันช่วยวาดภาพที่นายปลาได้รับว่าจ้างให้วาดภาพให้ 2 ภาพนั้นแทน  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว นายปลาสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่  โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม  แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

มาตรา  607  ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอดหนึ่งก็ได้  เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง  แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆของผู้รับจ้างช่วง

(ก) สัญญาจ้างนายเล็กมีกำหนดเวลา 1 ปี แต่ได้ทำงานเรื่อยมาเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือนจึงเป็นสัญญาไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 581 การบอกเลิกสัญญาไม่มีกำหนดเวลาต้องปฏิบัติตามมาตรา 582 เมื่อนายใหญ่บอกกล่าววันที่ 31 ตุลาคม จึงเป็นงวดการจ่ายสินจ้างในวันที่ 20 พฤศจิกายน (ตามโจทก์จ่ายสินจ้างวันที่ 20 ของเดือน) จึงมีผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือวันที่ 20 ธันวาคม ดังนั้น นายเล็กต่อสู้ได้

(ข) ตามสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วยทำอีกทอดหนึ่งก็ได้ แต่มีข้อยกเว้นว่าถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างแล้ว ไม่สามารถทำการจ้างช่วงได้ (มาตรา 607) นายปลาเป็นผู้มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศไทยจึงถือได้ว่า เป็นสัญญาที่อยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างตามมาตรา 607 ซึ่งไม่สามารถจ้างช่วงได้ ดังนั้น นายปลาจะให้นายช้างช่วยวาดภาพแทนไม่ได้

Advertisement