การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขนคำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงผู้ให้เช่าได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านมีกำหนดเวลา 3 ปี สัญญาเช่าข้อสุดท้ายได้เขียนไว้ว่า “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปีแล้ว แดงให้คำมั่นว่าต้องให้ผู้เช่าเช่าต่อได้อีก 3 ปี และหากสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่าต้องให้เงินกับผู้เช่า 50,000 บาท เพื่อเป็นเงินค่าขนย้ายของต่างๆออกจากบ้านเช่า โดยผู้เช่าต้องทำบ้านเช่าให้เรียบร้อยด้วย” ขาวเช่าบ้านได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้น แดงก็ยกบ้านหลังนี้ให้กับเขียวพี่ชายของตนเพื่อเป็นของขวัญวันแต่งงานและการยกให้ได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ปรากฏว่าสัญญาเช่าบ้านหลังนี้จะครบ 3 ปีในวันที่ 25 มกราคม 2550 ครั้นถึงวันที่ 20 มกราคม 2550 ขาวได้แจ้งให้เขียวทราบว่า ขาวมีความประสงค์จะเช่าบ้านหลังนี้ต่อไปอีก 3 ปี เขียวไม่ยินยอมให้ขาวเช่าต่อ ดังนี้ในวันที่ 26 มกราคม 2550 ถ้าขาวมาปรึกษาท่านเพื่อจะบังคับผู้ให้เช่าให้ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อสุดท้ายของสัญญาเช่าฉบับนี้ทั้งหมด ท่านจะให้คำปรึกษาขาวว่าอย่างไรบ้างธงตำตอบมาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปีมาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
วินิจฉัย
สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลาบมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดย่อมบังคับกันได้ 3 ปี เพราะทำถูกต้องตามมาตรา 538
เมื่อขาวเช่าบ้านมาเพียง 1 ปี แดงยกบ้านให้เขียวโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงและขาวไม่ระงับสิ้นไป สัญญาเช่าจึงต้องผูกพันมายังเขียว ตามมาตรา 569 แต่คำมั่นที่ปรากฏในสัญญาข้อสุดท้ายไม่ใช่สัญญาเช่าจึงทำให้คำมั่นของแดงระงับสิ้นไปประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งข้อตกลงที่ผู้ให้เช่าต้องให้เงินกับผู้เช่า 50,000 บาทก็มิใช่สัญญาเช่า แต่เป็นสัญญาอื่นจึงต้องระงับไปตามมาตรา 569 เช่นกัน
สรุป สัญญาข้อสุดท้ายแม้จะปรากฏอยู่ในสัญญาเช่าบ้านหลังนี้ก็ไม่สามารถบังคบเขียวให้ปฏิบัติตามได้ ตามมาตรา 569 วรรคสอง
ข้อ 2 ก. มืดได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านหลังหนึ่ง มีกำหนดเวลา 3 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน สัญญาเช่าข้อหนึ่งเขียนไว้ว่า “ผู้เช่าตกลงเช่าบ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมาย” ปรากฏว่าเช่าบ้านมาได้เพียง 6 เดือน ม่วงนำน้ำมันเบนซินและสารเคมีที่มีอันตรายต่างๆ มาเก็บไว้ในบ้านโดยผู้เช่าได้เลิกกิจการสำนักงานกฎหมายที่ตนทำอยู่ด้วย มืดพบเหตุการณ์ดังกล่าวมืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเพราะถือว่าม่วงผิดสัญญา ดังนี้การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 552 อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
มาตรา 554 ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 552 มาตรา 553 หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะ
บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
วินิจฉัย
มืดทำสัญญาให้ม่วงเช่าบ้านมีกำหนดเวลา 3 ปี โดยสัญญาเช่าข้อหนึ่งเขียนว่า “ผู้เช่าตกลงเช่าบ้านเพื่อทำเป็นสำนักงานกฎหมาย” แต่ปรากฏว่าม่วงได้นำน้ำมันเบนซินและสารเคมีต่างๆมาเก็บไว้ในบ้านและยังได้เลิกกิจการสำนักงานกฎหมายที่ตนทำอยู่ด้วยจึงเป็นการผิดสัญญาเช่า แต่อย่างไรก็ตามมืดจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้ แม้ม่วงจะใช้ทรัพย์ไม่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา ตามมาตรา 552 มืดต้องบอกกล่าวให้ม่วงใช้ทรัพย์ตามสัญญาเสียก่อน ถ้าหากม่วงไม่ปฏิบัติตามมืดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ตามมาตรา 554 ดังนั้นการที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข
มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง
วินิจฉัย
ถ้าเป็นสัญญาเช่าซื้อมืดก็จะบอกเลิกสัญญาไม่ได้ เพราะไม่ถือว่าม่วงผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญตามมาตรา 574
สรุป ก การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข มืดบอกเลิกสัญญาไม่ได้ คำตอบจึงไม่แตกต่างกัน
ข้อ 3 ก. นายบวรทำสัญญาจ้างนายมานะเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี และทำสัญญาจ้างนายมาโนชน์เป็นลูกจ้างไม่มีกำหนดเวลา ตกลงจ่ายสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือนๆละ 7,500 บาท เมื่อนายมานะและนายมาโนชน์ทำงานครบกำหนด 1 ปี ในวันที่ 31 มกราคม 2550 นายบวรได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายมานะและนายมาโนชน์ทันที แต่นายมานะและนายมาโนชน์ต่อสู้ว่ายังบอกเลิกสัญญาไม่ได้ เช่นนี้ นายบวรบอกเลิกสัญญาทันทีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ข. นายดำทำสัญญาจ้างนายแก้วให้ทำการซ่อมทำสีรถยนต์ของตน จำนวน 2 คัน ใหม่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคม 2550 ตกลงจ่ายสินจ้างเป็นจำนวนเงิน 80,000 บาท ต่อมาพี่ชายนายดำได้ยกรถยนต์ให้นายดำ 1 คัน นายดำจึงบอกเลิกสัญญาที่ทำกับนายแก้วที่ให้ซ่อมทำสีรถยนต์ในวันที่ 30 มกราคม 2550 แต่นายแก้วได้ทำการซ่อมทำสีรถยนต์เสร็จแล้วจำนวน 1 คัน และกำลังซ่อมทำสีอีกคันหนึ่งอยู่จึงไม่ยินยอมที่จะมาบอกเลิกสัญญา เช่นนี้นายดำจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายแก้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้
มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
ก
วินิจฉัย
สัญญาจ้างแรงงานนายมานะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี ในวันที่ 31 มกราคม 2550 นายบวรนายจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที เพราะสัญญามีกำหนดเวลา ครบกำหนดเวลาแล้ว ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
สัญญาจ้างแรงงานนายมาโนชน์เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 582 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาก็ได้ โดยดำเนินการตามมาตรา 582 วรรคแรก ซึ่งจะต้งอบอกกล่าวก่อนและให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือในวันที่ 31 มกราคม 2550 จะต้องบอกกล่าวก่อนว่าจะเลิกสัญญาและบอกเลิกสัญญาได้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550
แต่ถ้านายบวรจะเลิกสัญญาจ้างทันที ในวันที่ 31 มกราคม 2550 ก็ได้ โดยดำเนินการตามมาตรา 582 วรรคสอง คือ จ่ายสินจ้างให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วให้ออกจากงานได้ทันที กล่าวคือ ให้จ่ายค่าจ้างให้นายมาโนชน์เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท ในวันที่ 31 มกราคม 2550 แล้วให้ออกจากงานได้ทันที
ข สัญญาจ้างทำของนั้นตามมาตรา 605 ถ้าการจ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้าง เมื่อนายแก้วทำการซ่อมสีรถยนต์เสร็จเพียง 1 คัน จากทั้งหมด 2 คัน จึงถือว่าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จตามมาตรา 605 นายดำผู้ว่าจ้างจึงสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายแก้วในวันที่ 30 มกราคม 2550 ได้
แต่นายดำต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเลิกสัญญานั้นให้แก่นายแก้วด้วยตามมาตรา 605
สรุป ก กรณีนายมานะ นายบวรบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทันที
กรณีนายมาโนชน์ นายบวรจะบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีไม่ได้ ต้องบอกกล่าวก่อน
ข ดำบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน