การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขนคำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านมีกำหนดเวลา 3 ปี โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ วันสิ้นเดือน สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า “หากผู้เช่าได้เช่าบ้านหลังนี้จนครบกำหนด 3 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แล้วนั้น ผู้ให้เช่ายังคงให้คำมั่นให้ผู้เช่าเช่าต่ออีก 3 ปี” ปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนจะครบสัญญาเช่า 3 ปี บ้านเช่าหลังนี้ต้องซ่อมแซมใหญ่และผู้เช่าได้นำไปซ่อมแซมเสียค่าซ่อมแซมไป 50,000 บาท และขณะกำลังซ่อมแซมอยู่นั้นแดงได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย
มืดรับซื้อบ้านแล้วมืดยังคงเก็บค่าเช่ากับขาวจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2550 ครั้นวันที่ 30 ธันวาคม 2550 ก่อนที่สัญญาเช่าบ้านจะครบกำหนดตามสัญญาเพียง 1 วันเท่านั้น ขาวแจ้งไปยังมืดว่าขาวต้องการเช่าบ้านต่อไปอีก 3 ปี ตามสัญญาข้อสุดท้าย และขอให้มืดจ่ายค่าซ่อมแซมใหญ่ 50,000 บาท ให้กับขาวด้วย ท่านเห็นว่ามืดจะต้องปฏิบัติตามที่ขาวต้องการทั้ง 2 ประการนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
วินิจฉัย
สัญญาเช่าบ้านระหว่างขาวกับแดงมีกำหนด 3 ปี และมีคำมั่น 3 ปีของผู้ให้เช่าเป็นสัญญาชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 538 เพราะเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดเวลาไม่เกิน 3 ปี จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงมีสัญญาเช่า ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้
ก่อนครบสัญญา 3 ปี บ้านต้องซ่อมแซมใหญ่ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เช่า เพราะผู้เช่ามีหน้าที่สงวนทรัพย์สินและบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยเท่านั้น (มาตรา 553) ดังนั้นหากผู้เช่าเอาทรัพย์สินที่เช่าไปซ่อมแซมแล้วย่อมมีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมที่ตนต้องเสียไปจากผู้ให้เช่าได้ ขณะเดียวกันแดงได้ขายบ้านให้มืด มืดรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านเช่าจากแดง มืดต้องรับไปซึ่งสิทธิ์และหน้าที่ตามสัญญาเช่าบ้านที่แดงได้ทำไว้กับขาวตามมาตรา 569
ดังนั้น มืดต้องจ่ายค่าซ่อมแซมให้กับขาวผู้เช่า แต่มืดไม่ต้องให้ขาวเช่าอีกต่อ 3 ปี เพราะสัญญาข้อสุดท้ายเป็นเพียงคำมั่นเท่านั้น ผู้รับโอนรับโอนมาแต่เพียงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นตามมาตรา 569 เช่นกัน
สรุป มืดต้องจ่ายค่าซ่อมแซมให้กับขาว แต่ไม่ต้องให้ขาวเช่าต่ออีก 3 ปีได้
ข้อ 2 ก. เขียวทำสัญญาเป็นหนังสืออย่างเดียวให้เหลืองเช่าแพเพื่อทำเป็นภัตตาคารลอยนี้กำหนดเวลา 5 ปี ตกลงชำระค่าเช่าวันสิ้นเดือนเดือนละ 30,000 บาท เหลืองเช่าแพได้เพียง 1 ปีเท่านั้น เหลืองไม่ชำระค่าเช่าซึ่งตรงกับวันที่ 31 มกราคม และวันที่ 31 มีนาคม 2 เดือน เขียวจึงบอกเลิกสัญญาทันทีในวันที่ 5 เมษายน ปีเดียวกันนั้นเอง การบอกเลิกสัญญาของเขียวชอกด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก. เป็นสัญญาเช่าซื้อ เขียวบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างจากเหลือง 60,000 บาทได้หรือไม่ เพาะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
วินิจฉัย
สัญญาเช่าแพ ซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ ไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 538 แม้จะมี กำหนดเวลา 3 ปี ก็ไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และถึงแม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้นสัญญาเช่าแพระหว่างเหลืองกับเขียวจึงสมบูรณ์ ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายได้ การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า 2 เดือน เขียวจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้ เขียวต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อนภายในเวลากำหนด ซึ่งจะต้องให้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ตามมาตรา 560 การบอกเลิกสัญญาของเขียวทันทีในวันที่ 5 เมษายนนั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข
มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
ในกรณีที่เป็นสัญญาเช่าซื้อ เขียวก็ยังบอกเลิกสัญญาไม่ได้ เพราะเหลืองไม่ได้ผิดนัด 2 คราวติดกัน ตามมาตรา 574 วรรคแรก (กำหนดชำระค่าเช่าทุกวันสิ้นเดือน ในเดือนมกราคมผิดนัดไม่ชำระแต่ในเดือนกุมภาพันธ์ เหลืองยังคงชำระค่าเช่า แม้ในเดือนมีนาคมจะไม่ชำระค่าเช่าอีก ก็ไม่ถือว่าผิดนัด 2 คราวติดกัน แต่เงินค่าเช่าซื้อที่ค้าง เขียวย่อมมีสิทธิเรียกได้เพราะไม่ใช่ค่าเช่าซื้อที่เหลืองผิดนัด 2 คราวติดกัน ซึ่งโดยหลักกฎหมายดังกล่าว หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ 2 คราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ใช้มาแล้วเท่านั้น จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพราะผิดนัดหรือผิดสัญญาดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้นเมื่อไม่เป็นการผิดนัด 2 คราวติดกัน จึงมีสิทธิเรียกได้
สรุป ก. การบอกเลิกสัญญาของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข. เขียวบอกเลิกสัญญาไม่ได้ แต่เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากเหลือง 60,000 บาทได้
ข้อ 3 ก. นายอำนาจได้รู้จักนายสุชาติที่จังหวัดตรัง จึงทำสัญญาจ้างนายสุชาติให้มาทำงานที่กรุงเทพฯ ตกลงมีกำหนดเวลา 1 ปี จ่ายค่าจ้างเดือนละ 8,000 บาททุกๆวันสิ้นเดือน นายอำนาจให้ค่าเดินทางจากจังหวัดตรังมาที่กรุงเทพฯ นายสุชาติเดินทางมากรุงเทพฯ พบเพื่อนนายสุเทพจึงชวนให้มาทำงานด้วยกันโดยนายอำนาจทำสัญญาจ้างเป็นเวลา 1 ปีเช่นกัน เมื่อนายสุชาติและนายสุเทพทำงานตามสัญญาจ้างครบ 1 ปี ก็ต้องการเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดตรัง จึงขอค่าเดินทางกลับจังหวัดตรัง นายอำนาจเห็นว่าสัญญาจ้างครบกำหนดเวลาแล้วจึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีก เช่นนี้ นายสุชาติและนายสุเทพจะมีสิทธิอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ข นายหนุ่มทำสัญญาจ้างนายพากเพียรให้ก่อสร้างบ้าน 1 หลัง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน ตกลงจ่ายสินจ้างเป็นงวดๆ ตามที่ตกลงไว้ในสัญญารวมทั้งหมด 4 ล้านบาท มีข้อตกลงว่า นายหนุ่มจะเป็นผู้จัดซื้อกระเบื้อง ประตู หน้าต่างทั้งหมด และส่งมอบให้นายหนุ่มภายในเดือนมิถุนายน ต่อมานายหนุ่มได้ส่งมอบของทั้งหมดให้แก่นายพากเพียรได้จริงในวันที่ 20 สิงหาคม นายพากเพียรก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จและส่งมอบให้แก่นายหนุ่มในวันที่ 31 ตุลาคม นายหนุ่มเห็นว่านายพากเพียรทำผิดสัญญาส่งมอบบ้านไม่ทันกำหนดเวลาในวันที่ 30 กันยายน จึงขอให้ลดสินจ้างลงบางส่วน เช่นนี้นายพากเพียรจะต้องรับผิดอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้คือ
1 สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ
2 ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร
วินิจฉัย
นายอำนาจได้จ้างนายสุชาติจากจังหวัดตรังและออกค่าเดินทางให้มากรุงเทพฯ ด้วย เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง และนายสุชาติต้องการเดินทางกลับจังหวัดตรัง เช่นนี้ตามมาตรา 586 กำหนดว่า ให้นายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับจังหวัดตรังให้ด้วย
ส่วนนายสุเทพ พบกับนายสุชาติที่กรุงเทพฯ และมาทำงานด้วยกันจึงไม่ใช่กรณีตามมาตรา 586 นายจ้างไม่ต้องให้เงินค่าเดินทางกลับจังหวัดตรังแก่นายสุเทพ
ข.
มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน
มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้
วินิจฉัย
นายหนุ่มทำสัญญาจ้างนายพากเพียรให้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน โดยนายหนุ่มจะเป็นผู้จัดหาสัมภาระให้ภายในเดือนมิถุนายน แต่นายหนุ่มส่งมอบสัมภาระล่าช้าคือส่งมอบในวันที่ 20 สิงหาคม ทำให้นายพากเพียรก่อสร้างบ้านเสร็จล่าช้าไปด้วย ซึ่งตามมาตรา 596 ผู้รับจ้างถ้าส่งมอบการที่ทำไม่ทันกำหนดเวลาตามสัญญา ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง
แต่ความชักช้านี้เกิดจากการส่งมอบสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ตามมาตรา 591 กำหนดว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด ดังนั้นนายพากเพียรไม่ต้องรับผิดที่ส่งมอบบ้านให้นายหนุ่มในวันที่ 31 ตุลาคม
สรุป ก. นายสุชาติมีสิทธิได้รับค่าเดินทางกลับ แต่นายสุเทพไม่มีสิทธิดังกล่าว
ข. นายพากเพียรไม่ต้องรับผิดที่ส่งมอบบ้านล่าช้า