การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 แดงและขาวทำสัญญาเช่าบ้านเป็นหนังสือ โดยแดงผู้ให้เช่าตกลงให้ขาวผู้เช่าบ้านมีบริเวณและโรงรถด้วยมีกำหนดเวลา 3 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆสิ้นเดือน เดือนละ 10,000 บาท สัญญาเช่าข้อ 5 ระบุไว้ว่า “เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปี ผู้เช่าตกลงจะรื้อโรงรถเดิมที่ทำด้วยไม้และผู้เช่าจะต้องสร้างโรงรถใหม่ที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้กับผู้ให้เช่า โดยผู้เช่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำโรงรถใหม่นี้ด้วย” ขาวเช่าบ้านนี้ได้เพียง 1 ปี แดงได้ขายบ้านหลังนี้ให้กับมืดโดยชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่าขาวเช่าบ้านมาจนครบ 3 ปีพอดี ซึ่งตรงกับสิ้นปี 2549 ขาวยังคงอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และนำค่าเช่าไปชำระให้กับมืดทุกเดือนโดยมืดมิได้ทักท้วงแต่ประการใด ปรากฏว่า วันที่ 19 มีนาคม 2550 มืดได้แจ้งให้ขาวปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาเช่าข้อที่ 5 แต่ขาวไม่ยอมปฏิบัติตาม ดังนี้ท่านเห็นว่าขาวจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใดธงคำตอบ
มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่า จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
มาตรา 570 ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา
วินิจฉัย
การเช่าระหว่างขาวและแดงเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์มีกำหนดไม่เกิน 3 ปี เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้เช่าจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามมาตรา 538 เมื่อขาวเช่าบ้านมาเพียง 1 ปี แดงขายบ้านให้มืด สัญญาเช่าระหว่างแดงและขาวไม่ระงับตามมาตรา 569 วรรคแรก มืดต้องให้ขาวเช่าจนครบ 3 ปี แต่ข้อตกลงในสัญญาข้อ 5 มืดไม่ต้องรับมา มืดจะรับมาเฉพาะสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสองเท่านั้น แต่สัญญาข้อ 5 เป็นสิทธิของมืดตามสัญญาอื่น (ข้อตกลงอย่างอื่นไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องการเช่า) มืดจึงไม่มีสิทธิบังคับให้ขาวปฏิบัติตาม และสัญญาเช่าตั้งแต่เดือน มกราคม 2550 ถึงปัจจุบันเป็นสัญญาเช่าไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งจะต้องเอาหลักเกณฑ์ตามสัญญาเดิม ซึ่งเป็นสัญญาเช่ามาผูกพันผู้รับโอนได้เท่านั้น
สรุป ขาวไม่จำต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว
ข้อ 2 ก. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 ม่วงได้ทำสัญญาเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา 2 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนในวันที่ 31 มกราคม 2550 เหลืองไม่ชำระค่าเช่าเพราะเหลืองเห็นว่าเหลืองได้ชำระค่าเช่าให้กับม่วงล่วงหน้าแล้ว 2 เดือน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ม่วงจึงแจ้งให้เหลืองนำค่าเช่าซึ่งจะต้องชำระให้เหลืองเดือนละ 20,000 บาท มาชำระโดยจะต้องนำมาชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 แต่เหลืองก็ยังนิ่งเฉยเสีย ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาทันที ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ ก. เป็นสัญญาเช่าซื้อและมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 เหลืองนำรถยนต์ไปจำนำไว้กับดำโดยไม่คิดจะไถ่คืน ม่วงจะบอกเลิกสัญญาทันทีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งม่วงได้ทราบเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
วินิจฉัย
ม่วงทำสัญญาเช่ารถยนต์กับเหลืองมีกำหนด 2 ปี ตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ สิ้นเดือนต่อมาในวันที่ 31 มกราคม 2550 เหลืองไม่ชำระค่าเช่าเพราะเห็นว่าเหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้ว 2 เดือน ดังนี้แม้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ม่วงจะแจ้งให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2550 และเหลืองก็นิ่งเฉยไม่ชำระก็ตาม ม่วงก็จะบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ได้เพราะแม้ม่วงจะนำหลักเกณฑ์ตามมาตรา 560 มาใช้โดยถูกต้องก็ตาม แต่เหลืองได้ชำระค่าเช่าไว้ล่วงหน้าถึง 2 เดือน ดังนั้นเหลืองจึงนำค่าเช่าที่ให้ไว้ล่วงหน้ามาหักกลบลบกับค่าเช่าที่ยังไม่ชำระเพียงเดือนเดียวได้
ข
มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
หากข้อเท็จจริงตามข้อ ก เป็นสัญญาเช่าซื้อ และเหลืองนำรถยนต์ไปจำนำโดยไม่คิดจะไถ่คืน ถือว่าเหลืองผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เพราะเหลืองไม่เคารพในกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อม่วงจึงบอกเลิกสัญญาได้ทันทีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550
สรุป ก การบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข ม่วงบอกเลิกสัญญาได้ทันที
ข้อ 3 ก. นายรุจิได้ไปเที่ยว จ. เชียงใหม่ และรู้จัก น.ส. พรตา ซึ่งทำอาหารเก่ง นายรุจิได้ทำสัญญาจ้าง น.ส. พรตา ให้มาเป็นแม่ครัวที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปี ตกลงจ่ายค่าจ้างให้เดือนละ 8,000 บาท ทุกๆวันสิ้นเดือน โดยให้ค่ารถเดินทางจาก จ. เชียงใหม่ มากรุงเทพฯด้วย สัญญาจ้างมีกำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 น.ส. พรตา ทำงานเรื่อยมาจนถึงวันที่ 28 กุภาพันธ์ 2550 นายรุจิต้องการเปลี่ยนแม่ครัวคนใหม่จึงบอก น.ส.พรตาว่าไม่ต้องมาทำงานอีกแล้วในเดือนมีนาคม น.ส. พรตาเห็นว่านายรุจิจะต้องบอกกล่าวให้ตนทราบก่อนหรือจ่ายให้เป็นเงินเดือนแทนหนึ่งเดือน อีกทั้ง น.ส. พรตาต้องการกลับบ้านที่ จ.เชียงใหม่ แต่ไม่มีเงินจึงขอให้นายรุจิจ่ายค่ารถเดินทางกลับบ้านให้ด้วย เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใดจงอธิบาย
ข. นายวิกรมทำสัญญาจ้างนายกนกให้ก่อสร้างบ้าน 1 หลัง ตกลงจ่ายสินจ้าง 3 ล้านบาทโดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ตกลงว่าจะก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคม ถ้าหากว่านายกนกมาสามารถส่งมอบบ้านได้ทันในวันที่ 31 มกราคม แต่ได้ส่งมอบบ้านให้นายวิกรมในวันที่ 30 มีนาคม เช่นนี้ตามกฎหมายนายวิกรมจะมีสิทธิดำเนินการกับนายกนกได้อย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด และมีข้อยกเว้นตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่ที่นายกนกจะไม่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีการส่งมอบงานล่าช้า กฎหมายกำหนดว่าอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ก
มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้คือ
1 สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ
2 ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร
วินิจฉัย
นายรุจิได้ทำสัญญาจ้าง น.ส.พรตา เป็นแม่ครัวมีกำหนด 2 ปี ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 8,000 บาท ทุกวัยสิ้นเดือน โดยสัญญาจ้างดังกล่าวมีกำหนดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2548 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 สัญญาจ้างระหว่างนายรุจิกับ น.ส.พรตา จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดเวลา 2 ปี ตามสัญญา นายรุจิมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา
นายรุจิได้ให้ค่ารถเดินทางจาก จ.เชียงใหม่ มากรุงเทพฯ จึงเป็นกรณีตามมาตรา 586 ที่นายจ้างได้จ้างลูกจ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงนายจ้างจะต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ นายรุจิจึงต้องจ่ายค่าเดินทางขากลับให้แก่ น.ส.พรตา
ข
มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน
มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้
มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า
วินิจฉัย
นายวิกรมทำสัญญาจ้างนายกนกก่อสร้างบ้าน 1 หลัง ตกลงจ่ายสินจ้าง 3 ล้านบาท และตกลงว่าจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคม แต่นายกนกไม่สามารถส่งมอบบ้านได้ทันในวันที่ 31 มกราคม กลับส่งมอบบ้านให้นายวิกรมในวันที่ 30 มีนาคม ซึ่งล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญา ดังนี้ตามสัญญาจ้างทำของ ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลงได้ตามมาตรา 596 เมื่อนายกนกส่งมอบบ้านล่าช้า ในวันที่ 30 มีนาคมเช่นนี้ นายวิกรมขอให้ลดสินจ้างลงบางส่วนได้
แต่นายกนกอาจจะไม่ต้องรับผิดชอบในการส่งมอบงานล่าช้า ซึ่งอาจเกิดขึ้น 2 กรณีคือ กรณีตามมาตรา 591 หากความล่าช้าเกิดขึ้นเพราะสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ หริเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างเอง และมาตรา 597 หากผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ทำโดยมิได้อิดเอื้อน
สรุป ก นายรุจิต้องจ่ายค่าเดินทางขอกลับให้แก่ น.ส.พรตา
ข นายวิกรมขอให้ลดสินจ้างลงบางส่วนได้ และข้อยกเว้นตามกฎหมายที่นายกนกไม่ต้องรับผิดเป็นไปตามมาตรา 591 และ 597