การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

Advertisement

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านหลังหนึ่งมีกำหนด  5  ปี  ตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ  10,000  บาท  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  1  ของเดือน  ปรากฏว่าสัญญาเช่าบ้านหลังนี้สิ้นสุดลงคือครบ  5  ปี  ในวันที่  31  ธันวาคม  2549  ขาวยังคงอยู่ในบ้านหลังนี้ต่อมาและได้ชำระค่าเช่าให้กับแดงจนถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งแดงและขาวมิได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่แต่อย่างใด  มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นว่า  ในวันที่ 1  กันยายน  2550  แดงได้ไปพบขาวเพื่อเก็บค่าเช่าและขอบอกเลิกสัญญากับขาวทั้งๆที่ขาวไม่เคยผิดสัญญา  โดยแดงแจ้งให้ขาวออกจากบ้านไปภายในวันที่  16  กันยายน  2550

ครั้นถึงวันที่  16  กันยายน  2550  ขาวยังคงอยู่ในบ้านเช่าโดยไม่ยอมส่งบ้านคืนให้แดง  แดงจึงฟ้องขับไล่ขาวในวันที่  10  ตุลาคม  2550 ดังนี้การบอกเลิกสัญญาเช่าของแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงกับขาวทำเป็นหนังสือ  5  ปี  แต่มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  3  ปี  ตามมาตรา  538  หลังจากครบ  3  ปี  การที่ขาวอยู่ในบ้านต่อมาจึงเป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา  570

วันที่  1  กันยายน  2550  ขาวมาชำระค่าเช่า  แดงจึงบอกเลิกสัญญาได้แม้ขาวไม่เคยผิดสัญญาก็ตาม  ทั้งนี้ตามมาตรา  566  แต่แดงบอกเลิกไม่ถูกต้องเพราะการที่แดงบอกเลิกสัญญาเช่าในวันที่  1  กันยายน  2550  แดงต้องให้เวลาขาวถึงวันที่  1  ตุลาคม  2550  แดงจึงมีสิทธิฟ้องขับไล่ตั้งแต่วันที่  2  ตุลาคม  2550  ฉะนั้น  การที่แดงแจ้งให้ขาวออกจากบ้านไปภายในวันที่  16  กันยายน  2550  ขาวมีสิทธิไม่ออกไปจากบ้านได้

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแดงมาฟ้องขับไล่ในวันที่  10  ตุลาคม  2550  จึงถือว่าการบอกเลิกชอบด้วยกฎหมาย  เพราะคำบอกกล่าวตามมาตรา  566  ให้นับระยะเวลาไปถึงวันฟ้อง  (เทียบคำพิพากษาฎีกา  1248/2538)

สรุป  การบอกเลิกการเช่าชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  ก.  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2550  เขียวทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าตึกแถวหนึ่งคูหามีกำหนดเวลา  1  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ  วันสิ้นเดือน  เดือนละ  10,000  บาท  เหลืองไม่ยอมชำระค่าเช่าในวันที่  31  กรกฎาคม  2550  และในวันที่  31  สิงหาคม  2550 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  เขียวเดินทางไปต่างจังหวัดและกลับมาในวันที่  10  กันยายน  2550  เหลืองยังคงไม่นำเงินค่าเช่า  20,000 บาท  มาชำระให้กับเขียว  เขียวจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีในวันที่  21  กันยายน  2550  เขียวบอกเลิกสัญญาเช่ากับเหลืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข.       ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างเขียวและเหลือง  มีข้อตกลงให้ชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  ดังนั้น  เขียวต้องบอกกล่าวให้เหลืองนำค่าเช่ามาชำระก่อนโดยต้องให้เวลา  15  วันเป็นอย่างน้อย  แม้เหลืองจะผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่า  2  เดือนติดต่อกันก็ตาม  เขียวจึงบอกเลิกสัญญาในวันที่  21  กันยายน  2550  ไม่ได้ตามมาตรา  560  (การปล่อยเวลาไปถึง  20  วันมิใช่การเตือน)

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

เหลืองผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อ  2  คราวติดกัน  คือ  เดือนกรกฎาคม  และสิงหาคม  2550  เขียวจึงบอกเลิกได้เลย  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  (ไม่ต้องบอกกล่าวให้นำค่าเช่ามาชำระเพราะเป็นการผิดนัดแล้วอีกทั้งไม่ใช่สัญญาเช่าทรัพย์)

สรุป  ก.  การบอกเลิกสัญญาเช่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข.      เขียวบอกเลิกสัญญาได้  คำตอบจึงแตกต่างกับข้อ  ก.

 

ข้อ  3  ก.  ขาวจะต้องผลิตสินค้าส่งไปยังต่างประเทศ  จึงทำสัญญาจ้างหนึ่งและสองเป็นหัวหน้าคนงานตกลงให้ค่าจ้างเดือนละ  10,000 บาท  มีกำหนดเวลา  12  เดือน  คือ  สัญญาจะสิ้นสุดลงในวันที่  30  มิถุนายน  2550  แต่ในเดือนเมษายน  2550  มีผู้สั่งให้ผลิตสินค้าเพิ่มอีก  ขาวจึงทำการผลิตสินค้าส่งให้ลูกค้าเรื่อยมาจนถึงเดือนกันยายน  2550  ก็ไม่มีผู้สั่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเลย  ขาวจึงทำการส่งสินค้างวดสุดท้ายให้แก่ผู้สั่งสินค้าในวันที่  20  ตุลาคม  2550  แล้วก็บอกเลิกสัญญาจ้างหนึ่งและสองทันที  ในวันที่  20  ตุลาคม  โดยจ่ายค่าจ้างให้คนละ  10,000  บาท  เช่นนี้หนึ่งและสองจะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ข.      สัญญาจ้างทำของ  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่กำหนดในสัญญา  ผู้จ้างจะบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

มีกรณีใดบ้างที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดในสัญญาจงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  581  ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่  โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม  แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

สัญญาจ้างหนึ่งและสองเป็นสัญญามีกำหนดเวลาคือสิ้นสุดลงในวันที่  30  มิถุนายน  2550  หนึ่งและสองทำงานเรื่อยมาจนถึงเดือนตุลาคม  2550  เป็นการที่ลูกจ้างทำงานต่อไป  มาตรา  581  สันนิษฐานว่าเป็นสัญญาจ้างใหม่  ไม่มีกำหนดเวลา

ขาวบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา  582  วรรคแรก  คือจะต้องบอกกล่าวก่อนเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัยเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  เมื่อขาวบอกเลิกทันทีในวันที่  20  ตุลาคม  2550  จึงไม่ถูกต้องควรบอกกล่าวการเลิกจ้างในวันที่  31  ตุลาคม  2550  และบอกเลิกสัญญาจ้างได้เมื่อถึงวันที่  30  พฤศจิกายน  2550

หรือจะให้หนึ่งและสองออกจากงานทันทีก็ได้  ตามมาตรา  582  วรรคสอง  คือให้จ่ายสินจ้างให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญา  คือ  คนละ  20,000  บาทก็ได้

ข. 

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา  596  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

มาตรา  597  ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน  ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า

วินิจฉัย

ในสัญญาจ้างทำของถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้มนสัญญาย่อมเป็นความผิดของผู้รับจ้าง  ผลของกฎหมายตามมาตรา  596  กำหนดให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะฟ้องให้ลดสินจ้างลงได้หรือจะบอกเลิกสัญญาก็ทำได้  แต่จะต้องเป็นกรณีสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา

มีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  คือ  ตามมาตรา  597  และมาตรา  591  (ให้อธิบายตามสมควร)

Advertisement