การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 
 
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ
 
ข้อ  1  เมื่อวันที่  1  มกราคม  2540  แดงได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวมีกำหนดเวลา  5  ปี  แต่มิได้จดทะเบียนการเช่า  ขาวเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้เพียง  1  ปี  แดงได้ยกตึกแถวนี้ให้กับมืดโดยเสน่หาเมื่อวันที่  1  มกราคม  2541  สัญญาเช่าที่แดงทำกับขาวไว้นั้นระบุชัดเจนว่าต้องชำระค่าเช่าทุกๆ  6  เดือน  คือจะต้องชำระค่าเช่าตรงกับวันที่  30  มิถุนายน  และ  31  ธันวาคมของแต่ละปี 
 แม้สัญญาเช่าครบกำหนด  5  ปี  ในวันที่  1  มกราคม  2545  แต่ขาวก็ยังคงอยู่ในตึกแถวนี้มาจนถึงปัจจุบันและได้จ่ายค่าเช่าให้กับมืดมาตลอดโดยมืดมิได้ทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับขาวเลย  แม้ว่าขาว  จะไม่เคยผิดสัญญาแต่มืดต้องการตึกแถวคืน  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวในวันที่  31  สิงหาคม  2549  และให้เวลาขาวส่งมอบตึกคืนในวันที่  30  กันยายน  2549  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
 
มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
 
มาตรา  566  ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ  แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน
 
มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า
 
ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
 
มาตรา  570  ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น  ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา
 
วินิจฉัย
 
สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงและขาวทำเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้  3  ปี  ตามมาตรา  538  เมื่อเช่ามา  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้มืด  สัญญาเช่าไม่ระงับ  มืดต้องรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  ส่วนการเช่าหลังจากครบ  3  ปี  เป็นการเช่าไม่มีกำหนดเวลา  ตามมาตรา  570  ข้อตกลงต่างๆ  จึงเป็นไปตามสัญญาเดิม
 
มืดบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  566  แม้ขาวจะไม่ผิดสัญญา  แต่การบอกเลิกจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่ง  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน  เมื่อมืดบอกเลิกวันที่  31  สิงหาคม  2549  จะต้องให้เวลาถึงวันที่  31  ตุลาคม  2549  การที่มืดให้ขาวส่งมอบตึกคืนในวันที่  30  กันยายน  2549  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
สรุป  การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อ  2  ก.  เขียวทำสัญญาเป็นหนังสือให้ดำเช่าโกดังเก็บสินค้ามีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าระบุไว้ว่า  “ห้ามนำวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเข้ามาเก็บไว้ในโกดัง  ถ้าหากผู้เช่าฝ่าฝืนผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที”  การเช่าดำเนินมาเพียง  6  เดือนเท่านั้น  ดำฝ่าฝืนข้อสัญญานำน้ำมันเบนซินจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้ในโกดังเก็บสินค้า  เขียวทราบจึงบอกเลิกสัญญาทันที  ดังนี้เขียวมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่ากับดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด
 
ข   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก.  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด
 
ธงคำตอบ 
 
มาตรา  552  อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ  หรือการดังกำหนดไว้ในสัญญานั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
 
มาตรา  554  ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา  552  มาตรา  553  หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา  ผู้ให้เช่าจะ
 
บอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆก็ได้  ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามท่านว่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
 
ก 
 
วินิจฉัย
 
เขียวทำสัญญาเช่ากับดำโดยให้ดำเช่าโกดังเก็บสินค้ามีกำหนดเวลา  3  ปี  และสัญญาเช่าระบุไว้ว่า  “ห้ามนำวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงเข้ามาเก็บไว้ในโกดัง  ถ้าหากผู้เช่าฝ่าฝืนผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที”  การที่ดำฝ่าฝืนข้อสัญญานำน้ำมันเบนซินจำนวนมากเข้าไปเก็บไว้ในโกดัง  เขียวย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามสัญญา  ไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าต้องปฏิบัติตามสัญญาก่อนตามมาตรา  554  แต่อย่างใด  เพราะมาตรา  554  ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  คู่สัญญาสามารถตกลงยกเว้นได้
 
 
มาตรา  574  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
 
อนึ่งในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น  ท่านว่าเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อนและกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะเวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง
 
วินิจฉัย
 
ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  ก  เป็นสัญญาเช่าซื้อจะไม่ถือว่าดำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญตามมาตรา  574  คำตอบจึงแตกต่างกัน  เขียวจะบอกเลิกสัญญายังไม่ได้
 
สรุป  ก  เขียวบอกเลิกสัญญาได้
 
ข  เขียวบอกเลิกสัญญาไม่ได้
 
ข้อ  3  มานะทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือกับนิพรซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำการก่อสร้างอาคาร  5  ชั้น  ตกลงใช้เวลาก่อสร้าง  10  เดือน  และตกลงจะชำระสินจ้างเป็นงวดๆ  รวมทั้งหมด  เป็นจำนวนเงิน  6  ล้านบาท  นิพรเห็นว่ามีงานที่ต้องก่อสร้างมากขึ้นจึงทำสัญญาจ้างหนึ่งเป็นหัวหน้าคนงาน  มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ  9,000  บาท และทำสัญญาจ้างสองและสามเป็นลูกจ้างทั่วไปไม่มีกำหนดเวลา  ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ  7,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้
 
ก.       ถ้าหากนิพรก่อสร้างอาคารไปแล้ว  3  เดือน  มานะประสบปัญหาทางการเงินจึงบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างอาคาร  แต่นิพรต่อสู้ว่าสัญญาจ้างมีหลักฐานชัดเจนเป็นหนังสือให้ก่อสร้างอาคารในระยะเวลา  10  เดือน  จึงต้องปฏิบัติตามสัญญา  เช่นนี้ท่านเห็นว่านิพรจะต่อสู้ได้หรือไม่เพราะเหตุใด  จงอธิบาย
 
ข.      ถ้าหากนิพรเห็นว่าการงานลดน้อยลง  จึงบอกกล่าวสองและสามว่าจะบอกเลิกสัญญาในวันที่  15  กันยายน  และบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  25  ตุลาคม  แต่สองและสามต่อสู้ว่าการบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นนี้ทำไม่ได้  เช่นนี้  ท่านเห็นว่าสองและสามจะต่อสู้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย
 
ธงคำตอบ
 
มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
 
อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้
มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
 
มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
 
วินิจฉัย
 
 
มานะทำสัญญาจ้างนิพรให้ก่อสร้างอาคาร  5  ชั้น  ภายในกำหนดเวลา  10  เดือน  เป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา  587  เมื่อก่อสร้างได้เพียง  3  เดือน  ซึ่งการจ้างยังทำไม่เสร็จ  ตามมาตรา  605  นั้น  ให้สิทธิผู้ว่าจ้าง  (มานะ)  ที่จะบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นิพรที่จะได้รับความเสียหายจากการเลิกสัญญานี้  ดังนั้นนิพรต่อสู้ไม่ได้
สัญญาจ้างสองและสามเป็นสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดเวลา  จึงสามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  582  กำหนดไว้  คือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้าง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  ดังนั้นการที่มานะบอกกล่าววันที่  15  กันยายน  และบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  25  ตุลาคม  จึงไม่ถูกต้อง  ที่ถูกต้องคือการบอกกล่าววันที่  15     กันยายน  ถือว่าเป็นการบอกกล่าวของงวดวันที่  30  กันยายน  และมีผลบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่  31  ตุลาคม  ดังนั้นสองและสามต่อสู้ได้
สรุป  ก  นิพรต่อสู้ไม่ได้
 
ข  สองและสามต่อสู้ได้

Advertisement