การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดงมีกําหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2560 ในสัญญาเช่ามีข้อความสําคัญดังนี้

ข้อ 5 “ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2560 และผู้เช่าต้องแจ้งความประสงค์ว่าต้องการเช่าต่อตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันทําสัญญาเช่านี้”

ข้อ 6 “ผู้เช่าตกลงเช่าอาคารพาณิชย์ไปใช้ในการประกอบธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการจําหน่าย วัสดุก่อสร้าง”

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าขาวผู้เช่าได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเช่าอาคารต่อไปอีกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ให้แดงทราบแล้ว และขาวได้ใช้อาคารประกอบธุรกิจมาได้เพียง 2 ปี แดงได้ขายอาคารพาณิชย์ให้กับเขียว การซื้อขายทําถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ขาวอยู่ในอาคารพาณิชย์ต่อมาแต่เขียวก็มิได้ว่ากระไรและขาวได้นําค่าเช่าไปชําระกับเขียวตามปกติ ต่อมาหลังจากนั้นขาวมิได้ประกอบธุรกิจการค้าในอาคารที่เช่า แต่ได้นํากล่องกระดาษ และกล่องกระดาษบรรจุเศษผ้า ตลอดจนเศษกล่องกระดาษไปเก็บไว้ในอาคารแทนจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 เขียวจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันที

ให้ท่านวินิจฉัยว่าการบอกเลิก สัญญาเช่าเพราะการกระทําดังกล่าวของขาวนั้น เขียวได้บอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 552 “อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยม ปกติ หรือการดังกําหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทําได้ไม่”

มาตรา 554 “ถ้าผู้เช่ากระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 552 มาตรา 553 หรือฝ่าฝืน ข้อสัญญา ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เข้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้น ๆ ก็ได้ ถ้าและผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็นการเช่าที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงและขาวมีกําหนดเวลา 3 ปี เมื่อได้ ทําเป็นหนังสือ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้บังคับได้ 3 ปี ตามมาตรา 538 และ สัญญาเช่า ข้อ 5 ที่ว่า “ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนดลงในวันที่ 1 มีนาคม 2560 และผู้เช่าต้องแจ้งความประสงค์ว่าต้องการเช่าต่อตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันทําสัญญาเช่านี้” นั้น ถือเป็นคํามั่นจะให้เช่า เมื่อปรากฏว่าขาวผู้เช่าได้แจ้งความประสงค์ว่าจะเช่าอาคารต่อไปอีกตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ให้แดงทราบแล้ว ย่อมถือว่าขาวได้สนองรับคํามั่นจะให้เช่าแล้วจึงเป็นการทําสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ รวม 6 ปี แต่เมื่อสัญญาเช่าดังกล่าวมิได้นําไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปีเท่านั้น ตามมาตรา 538

การที่ขาวได้ใช้อาคารประกอบธุรกิจได้เพียง 2 ปี และต่อมาแดงได้ขายอาคารพาณิชย์ให้กับเขียว โดยการซื้อขายได้ทําถูกต้องตามกฎหมายนั้น กรณีนี้ไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไป ตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง โดยเขียวผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่าด้วยตาม มาตรา 569 วรรคสอง กล่าวคือ เขียวต้องให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ต่อไปจนครบกําหนด 3 ปีตามสัญญาเช่า และ ขาวต้องนําอาคารพาณิชย์นั้นไปใช้ในการประกอบธุรกิจการค้าเกี่ยวกับการจําหน่ายวัสดุก่อสร้างตามสัญญาเช่า ข้อ 6 ด้วย

และเมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 แต่ขาวยังคงอยู่ในอาคารพาณิชย์นั้น จนถึงปัจจุบัน และได้นําค่าเช่าไปชําระกับเขียวตามปกติซึ่งเขียวก็มิได้ว่ากระไรนั้น ถือว่าเขียวและขาวได้ทําสัญญาเช่า กันใหม่โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาจึงเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ต่อมาขาวไม่ได้ใช้อาคารพาณิชย์ตามข้อตกลงในสัญญาข้อที่ 6 คือมิได้ใช้อาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจการค้า แต่ได้นํากล่องกระดาษและกล่องกระดาษบรรจุเศษผ้า ตลอดจนเศษกล่องกระดาษไปเก็บไว้ในอาคารแทนจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนี้ ย่อมถือว่าขาวผู้เช่าได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการ อย่างอื่นนอกจากการที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ซึ่งเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 552 แล้ว ดังนั้น เขียวผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิตามมาตรา 554 คือมีสิทธิบอกกล่าวให้ขาวผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อสัญญาได้ และถ้าขาวละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม เขียวผู้ให้เขาจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อขาวได้กระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 552 นั้น เขียวได้บอก เลิกสัญญากับขาวทันทีในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 โดยมิได้บอกกล่าวให้ขาวปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อตกลงใน สัญญาข้อที่ 6 ก่อนแต่อย่างใด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าของเขียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การบอกเลิกสัญญาเช่าของเขียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. (ก) มืดเจ้าของที่ดินได้ให้ดําเช่าที่ดินของมืดมีกําหนดเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป โดยทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือและตกลงชําระค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 20 ของ แต่ละเดือน ในวันทําสัญญาเช่าดําได้ให้เงินมัดจําค่าเช่าไว้เป็นเงิน 50,000 บาท ดําได้ใช้ที่ดินของมืดมาจนถึงเดือนตุลาคม 2560 แต่ดําไม่ได้ชําระค่าเช่าให้กับมืดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2560 ดังนั้นมืดจึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ดําชําระค่าเช่าทั้งหมดภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้ถือเอาหนังสือบอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา หนังสือบอกกล่าวนี้ไปถึงดํา ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2560 ดําได้รับหนังสือบอกกล่าวแต่ก็ไม่ชําระค่าเช่าตามที่กําหนด ดังนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 มืดจึงฟ้องขับไล่ดําออกจากที่ดินที่เช่า

ให้วินิจฉัยว่าการกระทําของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําไม่ชําระค่าเช่าให้กับมืดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2560 เป็นเวลา 3 เดือน ติดกันนั้น เมื่อหักเงินมัดจําค่าเช่าออก 2 เดือน ที่ดําชําระไว้ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ชําระ ค่าเช่าอีก 1 เดือน คือ ค่าเช่าเดือนกันยายน 2560 ซึ่งมีผลให้มืดสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่านั้นมีการกําหนดชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน มืดจะบอกเลิก สัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ดํานำค่าเช่ามาชําระก่อน โดยต้องให้เวลาแก่ดําน้ำค่าเช่ามาชําระ อย่างน้อย 15 วัน ซึ่งถ้าดํายังไม่ยอมชําระอีก มืดจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง และตาม ข้อเท็จจริง การที่มืดได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ดําชําระค่าเช่าทั้งหมดภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้ถือเอาหนังสือ บอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญานั้นถือว่ามืดได้บอกกล่าวให้นําเงินค่าเช่ามาชําระและมีการบอกเลิกสัญญาไปด้วยแล้ว และเมื่อหนังสือบอกกล่าวไปถึงดําตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2560 และดําได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ก็ไม่ชําระ ค่าเช่าตามที่กําหนดนั้น การที่มืดฟ้องขับไล่ดําออกจากที่ดินที่เช่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 นั้น มืดย่อมสามารถ กระทําได้ เพราะแม้จะเป็นการบอกกล่าวโดยให้เวลาเพียง 7 วันก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันฟ้องขับไล่แล้วถือว่าได้มี การบอกกล่าวแก่ผู้เช่าไม่น้อยกว่า 15 วันแล้ว ดังนั้น การกระทําของมืดจึงชอบด้วยกฎหมาย

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตาม (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อได้หักเงินประกันการชําระค่าเช่าออก 2 เดือนแล้ว เท่ากับดําไม่ได้ชําระค่าเช่าซื้อเพียง 1 คราว คือในเดือนกันยายน 2560 จึงถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน เพียง 1 คราว มิใช่การผิดนัดไม่ใช้เงินลองคราวติด ๆ กัน ตามมาตรา 574 วรรคหนึ่ง มืดจึงไม่มีสิทธิบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อ มีสิทธิก็แต่เพียงเรียกให้ดําชําระค่าเช่าซื้อที่ค้างเท่านั้น ดังนั้น การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที ในวันที่ 11 ตุลาคม 2560 การกระทําของมืดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก) การกระทําของมืดชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคําตอบจึงแตกต่างกัน

 

ข้อ 3. (ก) นายสมบัติ (นายจ้าง) ได้ทําสัญญาจ้าง น.ส.นิภาเป็นลูกจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 โดยตกลงจ่ายสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ปรากฏว่าในเดือนกันยายน 2560 นายสมบัติเห็น น.ส.นิภาเดินเอาของไปขายให้กับเพื่อนร่วมงานทั่วทั้งตึกสํานักงานในช่วง ระหว่างเวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. อยู่บ่อยครั้ง นายสมบัติเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องจึง บอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.นิภาทันทีในวันที่ 30 กันยายน 2560 แต่ น.ส.นิภาโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่กําหนดระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาจ้างในเดือนธันวาคม 2560 เช่นนี้ นายสมบัติสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายอรุณทําสัญญารับก่อสร้างบ้านให้นายนพพร โดยมีข้อตกลงในการทําการก่อสร้างมีกําหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ในสัญญากําหนดให้จ่ายสินจ้างตามความสําเร็จ ของงานเป็นส่วน ๆ ไว้แล้ว ปรากฏว่านายอรุณทําการก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้นายนพพร ได้ในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นายนพพรเห็นว่านายอรุณทําการส่งมอบบ้านไม่ทันกําหนดเวลา นายนพพรจะมีสิทธิอย่างไรตามที่กําหนดไว้ในกฎหมาย และตามกฎหมายมีข้อยกเว้นที่ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดในการส่งมอบการที่ทําไม่ทันกําหนดเวลาในสัญญาหรือไม่ คืออะไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 583 “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นําพา ต่อคําสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทําความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทําประการอื่น อันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบัติได้ทําสัญญาจ้าง น.ส.นิภาเป็นลูกจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 โดยตกลงจ่ายสินจ้างเดือนละ 15,000 บาทนั้น เป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกําหนดเวลาแน่นอน ซึ่งโดยหลักแล้ว นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกําหนดเวลาไม่ได้ เว้นแต่จะต้องด้วยหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 583 ที่นายจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

การที่ น.ส.นิภาลูกจ้างได้เดินเอาของไปขายให้กับเพื่อนร่วมงานทั่วทั้งตึกสํานักงานในช่วง ระหว่างเวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. อยู่บ่อยครั้งนั้น ถือได้ว่าลูกจ้างได้กระทําการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามมาตรา 583 แล้ว ดังนั้น เมื่อนายสมบัตินายจ้างเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง นายสมบัติย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.นิภาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทน

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะ ทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จ แห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 596 “ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้า ไม่ได้กําหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น หากผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ตามกฎหมายมาตรา 596 กําหนดให้ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างลงได้ หรือถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอรุณทําสัญญารับก่อสร้างบ้านให้นายนพพร โดยมีข้อตกลง ในการทําการก่อสร้างมีกําหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 และในสัญญากําหนดให้จ่ายสินจ้างตาม ความสําเร็จของงานเป็นส่วน ๆ ไว้แล้วนั้น เป็นกรณีที่นายอรุณตกลงจะทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่นายนพพร และนายนพพรตกลงที่จะจ่ายสินจ้างให้นายอรุณเพื่อผลสําเร็จของการที่ทํานั้น สัญญาจ้างระหว่าง นายนพพรกับนายอรุณจึงเป็นสัญญาจ้างทําของตามมาตรา 587

จากข้อเท็จจริง การที่นายอรุณทําการก่อสร้างบ้านเสร็จและส่งมอบให้นายนพพรในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นั้น เป็นกรณีที่นายอรุณผู้รับจ้างส่งมอบการงานที่ทําไม่ทันเวลาที่ได้กําหนดไว้ในสัญญา ตามมาตรา 596 ดังนั้น นายนพพรผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิที่จะให้นายอรุณลดสินจ้างลงได้ แต่จะขอเลิกสัญญาไม่ได้ เนื่องจากสาระสําคัญแห่งสัญญาไม่ได้อยู่ที่เวลา

และตามกฎหมายในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการงานที่ทําไม่ทันกําหนดเวลา ในสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดต่อผู้ว่าจ้างตามมาตรา 596 แต่อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นว่าผู้รับจ้างอาจไม่ต้องรับผิดก็ได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้คือ

  1. ถ้าความชักช้าในการที่ทําเกิดขึ้นเพราะสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างส่งให้ หรือเพราะคําสั่งของ ผู้ว่าจ้าง กรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะสม หรือคําสั่งนั้นไม่ถูกต้อง และมิได้บอกกล่าวตักเตือน (มาตรา 591)
  2. แม้ว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานที่ทําให้ผู้ว่าจ้างภายหลังกําหนดเวลาในสัญญา หรือภายหลัง เวลาอันควรในกรณีที่มิได้กําหนดเวลาในสัญญาไว้ และผู้ว่าจ้างรับมอบงานที่ทํานั้นโดยมิได้คิดเอื้อน กรณีเช่นนี้ ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อการส่งมอบล่าช้า (มาตรา 597)

สรุป

(ก) นายสมบัติสามารถบอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.นิภาได้

(ข) นายนพพรมีสิทธิให้นายอรุณลดสินจ้างลงได้ แต่จะขอเลิกสัญญาไม่ได้

Advertisement