การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวหนึ่งคูหาของแดงมีกําหนดเวลา 3 ปี โดยสัญญาเช่าเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 สัญญาเช่า มีข้อความสําคัญดังนี้

ข้อ 5 “ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 แล้ว”

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2556 นั้นขาวได้เข้าไปอยู่ในตึกแถวแล้วและขาวได้ตอบ ให้แดงทราบว่าขาวขอเช่าต่อไปอีก 3 ปี ในวัน 1 มีนาคม 2556 เช่นกัน ครั้นขาวเช่าตึกแถวนี้มาถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 แดงได้ขายตึกแถวที่ให้เช่าของตนหลังนี้ให้กับมืด การซื้อขายทําโดยชอบด้วยกฎหมาย ขาวอยู่ในตึกแถวมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยไม่ได้ทําสัญญาเช่าใหม่กับมืดเลย และได้ชําระค่าเช่ามาโดยตลอด แต่มืดต้องการบอกเลิกสัญญาโดยที่ขาวมิได้ผิดสัญญา ดังนั้นมืดบอกเลิกสัญญาในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่จะต้องชําระค่าเช่าตามที่สัญญาเช่า กําหนดไว้ตั้งแต่ต้น และมืดให้ขาวส่งคืนตึกแถวให้ตนในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559

ขาวอ้างว่าการบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบเพราะขาวยังมีสิทธิอยู่ในตึกแถวได้จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2562 (คืออยู่ต่อไปอีก 3 ปี หลังจากครบ 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 แล้ว) ให้ท่านวินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของมืดและข้ออ้างของขาวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 566 “ถ้ากําหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกําหนดชําระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสองเดือน”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาว มีกําหนดเวลา 3 ปี เมื่อได้ทําเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายและสามารถใช้บังคับกันได้ 3 ปี ตามมาตรา 538 และสัญญาเช่า ข้อ 5 ที่ว่า “ผู้ให้เช่าให้คํามั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก 3 ปี เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 แล้ว” นั้น ถือเป็นคํามั่นจะให้เช่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 1 มีนาคม 2556 ขาวได้เข้าไปอยู่ในตึกแถวแล้ว และขาวได้ตอบให้แดงทราบว่าขาวขอเช่าตึกเถวต่อไปอีก 3 ปี ดังนี้ย่อมถือว่าขาวสนองรับคํามั่นจะให้เช่าแล้ว จึงเกิดสัญญาเช่าตึกแถวรวม 6 ปี แต่อย่างไรก็ตามเมื่อสัญญาดังกล่าวมิได้นําไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาเช่าจึงฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เพียง 3 ปี เท่านั้น ตามมาตรา 538

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 แดงได้ขายตึกแถวที่ให้เช่าของตนให้แก่มืด โดยการซื้อขายกระทําถูกต้องตามกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่า ระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคหนึ่ง โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือ มืดต้องให้ขาวเช่าตึกแถวนี้ต่อไปจนครบกําหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง

การตามข้อเท็จจริง เมื่อสัญญาเช่าครบกําหนด 3 ปี และขาวยังคงอยู่ในตึกแถวมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยไม่ได้ทําสัญญาเช่าใหม่กับมืดและได้ชําระค่าเช่ามาโดยตลอด ซึ่งมืดเองก็มิได้ทักท้วงแต่อย่างใดนั้นถือเป็นการ ทําสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไป โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 570 ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ให้นําสัญญาเดิมมาใช้บังคับ

ดังนั้น เมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา มืดจึงสามารถบอกเลิกสัญญากับขาวโดยที่ขาว มิได้ผิดสัญญาได้ตามมาตรา 566 แต่การที่มืดบอกเลิกสัญญาในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 และให้ขาวส่งตึกแถวให้ตนในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559 นั้น ถือว่าเป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบตามมาตรา 566 เพราะตามหลักกฎหมาย ดังกล่าว มืดจะต้องบอกให้ขาวรู้ตัวและให้ขาวอยู่ในตึกแถวที่เช่าจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็น ชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่ง

ส่วนข้ออ้างของขาวที่ว่า การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบเพราะขาวยังมีสิทธิอยู่ในตึกแถว ได้จนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2562 ย่อมฟังไม่ขึ้น เพราะสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างขาวกับมืดนั้นใช้บังคับกันได้เพียง 3 ปี เท่านั้น ตามมาตรา 538 ประกอบมาตรา 569

สรุป การบอกเลิกสัญญาของมืดและข้ออ้างของขาวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. (ก) น้ำเงินทําสัญญาเช่าที่ดินเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าที่ดินของน้ำเงินมีกําหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือนเป็นค่าเช่า เดือนละ 25,000 บาท ในวันทําสัญญาเช่าเหลืองได้ให้เงินเป็นประกันการชําระค่าเช่าไว้ 3 เดือน เมื่อเหลืองอยู่ในที่ดินที่เช่าเหลืองได้ชําระค่าเช่าให้กับน้ำเงินเพียง 3 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นมาเหลืองมิได้ชําระค่าเช่าให้กับน้ำเงินในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2559 เป็นเวลา 4 เดือน ติดกัน ดังนั้นในวันที่ 30 กันยายน 2559 น้ำเงินจึงแจ้งให้เหลืองมาชําระค่าเช่า ที่ยังไม่ชําระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 หากเหลืองไม่ชําระตามที่น้ำเงินแจ้งให้ทราบถือว่าน้ำเงินได้บอกเลิกสัญญาเช่าด้วย แต่เหลืองก็มิได้ชําระเงินค่าเช่าให้กับน้ำเงิน

ดังนั้นน้ำเงินจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากเหลืองในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 การกระทําของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ หากน้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในวันที่ 30 กันยายน 2559 กับเหลืองทันทีการบอกเลิกชอบหรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าการชําระค่าเช่ากําหนด ชําระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชําระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เหลืองไม่ชําระค่าเช่าให้กับน้ำเงินในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2559 เป็นเวลา 4 เดือน ติดกันนั้น เมื่อหักเงินประกันการชําระค่าเช่าออก 3 เดือน ที่ เหลืองชําระไว้ ย่อมถือว่าเหลืองยังไม่ได้ชําระค่าเช่าอีก 1 เดือน คือ ค่าเช่าเดือนกันยายน 2559 ซึ่งมีผลให้น้ำเงิน สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาเช่านั้นมีการกําหนดชําระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน น้ำเงินจะบอกเลิก สัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระก่อน โดยต้องให้เวลาแก่เหลืองนําค่าเช่ามา ชําระอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งถ้าเหลืองยังไม่ยอมชําระอีก น้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง และตามข้อเท็จจริง การที่น้ำเงินแจ้งให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 หากไม่ชําระให้ถือว่า น้ำเงินได้บอกเลิกสัญญาเช่าด้วยนั้น ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวแก่เหลืองผู้เช่าแล้ว เมื่อเหลืองมิได้ชําระค่าเช่าให้แก่น้ำเงิน น้ำเงินจึงฟ้องขับไล่และเรียกที่ดินคืนจากเหลืองในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ได้ เพราะครบกําหนด การบอกกล่าวแก่ผู้เช่าอย่างน้อย 15 วัน ตามมาตรา 560 แล้ว ดังนั้นการกระทําของน้ําเงินจึงชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคหนึ่ง “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตาม (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อได้หักเงินประกันการชําระค่าเช่าออก 3 เดือนแล้ว เท่ากับเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าซื้อเพียง 1 คราว คือในเดือนกันยายน 2559 จึงถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน เพียง 1 คราว มิใช่การผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน ตามมาตรา 574 วรรคหนึ่ง ดังนั้น น้ำเงินจะบอกเลิก สัญญาเช่าซื้อไม่ได้ แต่เรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชําระ 25,000 บาทได้ การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อกับเหลืองทันที ในวันที่ 30 กันยายน 2559 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก) การกระทําของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. นายอนุทินทําสัญญาจ้างนายสัญญาให้ก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ 30 หลัง โดยตกลงกําหนดให้จ่ายสินจ้างหลังละ 1 ล้านบาท เมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ให้ทําการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ถึง ธันวาคม 2560 นายสัญญาเห็นว่ามีงานต้องทําเป็นจํานวนมากจึงทําสัญญาจ้างนายสมัย นายชนะ นายเดช เป็นลูกจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา กําหนดจ่ายสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน ปรากฏว่าในเดือนตุลาคม นายสัญญาได้ทําการก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว 13 หลัง แต่ นายอนุทินได้ขอบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านที่เหลือทั้งหมดโดยอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี นายสัญญาต่อสู้ว่าไม่สามารถบอกเลิกได้เพราะได้ก่อสร้างไปแล้วแต่ยังไม่เสร็จ นายสัญญาเห็นว่า ไม่มีงานให้ทํามากนักจึงได้บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างนายสมัย นายชนะ นายเดช ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 และบอกเลิกสัญญาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 เช่นนี้

(ก) นายอนุทินบอกเลิกสัญญาก่อสร้างบ้านพักตากอากาศที่เหลือได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายสัญญาบอกเลิกสัญญาลูกจ้าง คือ นายสมัย นายชนะ นายเดช ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 ได้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะ ทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จแห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 605 “ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น”

วินิจฉัย

โดยหลัก ในเรื่องสัญญาจ้างทําของนั้น ถ้าการที่จ้างยังทําไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิก สัญญาได้ แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับ ผู้รับจ้าง (มาตรา 605)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอนุทินทําสัญญาจ้างนายสัญญาให้ก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ 30 หลัง โดยตกลงกําหนดให้จ่ายสินจ้างหลังละ 1 ล้านบาท เมื่อสร้างบ้านแล้วเสร็จนั้น สัญญาก่อสร้างบ้านพัก ตากอากาศดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือ นายสัญญาตกลงรับจะทํางานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่นายอนุทิน ผู้ว่าจ้าง และนายอนุทินตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสําเร็จของงานที่ทํานั้น จึงเป็นสัญญาจ้างทําของตาม มาตรา 587

เมื่อปรากฏว่า นายสัญญาได้ทําการก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว 13 หลัง แต่นายอนุทินได้ขอบอกเลิก สัญญาก่อสร้างบ้านที่เหลือทั้งหมดโดยอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ดังนี้ นายอนุทินย่อมสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้

แต่นายอนุทินจะต้องเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญานั้น ให้แก่นายสัญญาด้วยตามมาตรา 605 กล่าวคือ นายอนุทินจะต้องชําระสินจ้างให้นายสัญญาสําหรับการก่อสร้าง บ้าน 13 หลัง และต้องชําระค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดจากสัญญานั้นให้แก่นายสัญญา

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทํางาน ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทํางานให้”

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสัญญาได้ทําสัญญาจ้างนายสมัย นายชนะ นายเดช เป็นลูกจ้าง ไม่มีกําหนดเวลา กําหนดจ่ายสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือนนั้น ถือว่าเป็นสัญญาจ้าง แรงงานตามมาตรา 575 และเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกําหนดเวลา จึงเข้าหลักของมาตรา 582 วรรคหนึ่ง คือ ถ้านายสัญญาจะบอกเลิกสัญญาจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้าง คราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กว่าสามเดือน

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสัญญาได้บอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างนายสมัย นายชนะ นายเดช ในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาของการจ่ายสินจ้างในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปคือ เลิกสัญญาในวันที่ 25 ธันวาคม 2559 ดังนั้น การที่นายสัญญาบอกเลิกสัญญาลูกจ้าง คือ นายสมัย นายชนะ นายเดช ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 จึงไม่ถูกต้องตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

สรุป

(ก) นายอนุทินบอกเลิกสัญญาก่อสร้างบ้านพักตากอากาศที่เหลือได้ แต่จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ที่เกิดจากการยกเลิกสัญญานั้นให้แก่นายสัญญา

(ข) การที่นายสัญญาบอกเลิกสัญญาลูกจ้าง คือ นายสมัย นายชนะ นายเดช ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 นั้นไม่ถูกต้อง

Advertisement