การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสืออย่างเดียวให้ขาวเช่าอาคารเก็บสินค้าของแดงมีกําหนดเวลา 10 ปี โดยตกลงชําระค่าเช่าทุกวันที่ 20 ของแต่ละเดือนเป็นค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท ในวันทําสัญญาเช่า ขาวผู้เช่าได้ให้เงินประกันสัญญาเช่าเพื่อประกันความเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญาเช่าเป็นเงินหนึ่งล้านบาท โดยผู้ให้เช่าตกลงคืนเงินประกันให้กับผู้เช่าเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าและไม่ทําผิดสัญญาเช่าต่อผู้ให้เช่า ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น แดงได้ยกอาคาร ที่เช่าซึ่งเป็นของแดงหลังนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดง การให้ได้ทําโดยชอบด้วยกฎหมาย ขาว ได้เช่าอาคารนี้มาจนถึงปีที่ 4 ซึ่งตรงกับปี 2558 นี้ โดยขาวไม่เคยทําสัญญาเช่าฉบับใหม่กับมืดเลย ครั้นถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 มืดไม่ประสงค์ให้ขาวเช่าอาคารหลังนี้ มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับ ขาวโดยที่ขาวมิได้กระทําผิดสัญญาและมืดบอกให้ขาวออกจากอาคารที่เช่านี้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 ขาวจึงเรียกเอาเงินประกันสัญญาคืนจากมืดหนึ่งล้านบาท จงวินิจฉัยว่า

(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

(ข) ขาวมีสิทธิเรียกเอาเงินประกันสัญญาหนึ่งล้านบาทคืนจากมืดได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”

มาตรา 566 “ถ้ากําหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกําหนดชําระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสองเดือน”

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 538 ได้กําหนดไว้ว่า สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จะสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ ก็ต่อเมื่อได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ และถ้าเป็นการเช่าที่มีกําหนดเวลาเกิน 3 ปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้น

และตามบทบัญญัติมาตรา 569 ได้กําหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป และมีผลทําให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอน ตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าอาคารเก็บสินค้าซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างแดงกับขาว ซึ่งมีกําหนด 10 ปี ได้ทําสัญญาเช่าเป็นหนังสืออย่างเดียวโดยไม่จดทะเบียนการเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย แต่จะใช้ฟ้องร้องบังคับกันได้เพียง 3 ปีเท่านั้นตามมาตรา 538 และเมื่อขาวได้เช่าอาคารมาได้เพียง 1 ปี แดงได้ยกอาคารที่เช่าดังกล่าวให้แก่มืดบุตรบุญธรรมของแดง โดยการให้ทําโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่าด้วย กล่าวคือ มืดจะต้องให้ขาวเช่าอาคารนั้นต่อไปอีก 2 ปี ตามสัญญาเช่า ตามมาตรา 569 วรรคสอง

ตามข้อเท็จจริง เมื่อขาวได้เช่าอาคารจนครบ 3 ปีแล้ว ขาวยังได้เช่าอาคารมาถึงปีที่ 4 โดย ขาวไม่เคยทําสัญญาเช่าฉบับใหม่กับมืดเลย ดังนี้ย่อมถือว่าขาวและมืดได้ทําสัญญาเช่ากันใหม่ และเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 570 โดยสิทธิและหน้าที่เป็นไปตามสัญญาเดิม

และเมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา มืดย่อมบอกเลิกสัญญาเช่าได้แม้ขาวจะมิได้กระทําผิดสัญญา ทั้งนี้ตามมาตรา 566 แต่การที่มืดได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวในวันที่ 30 กันยายน 2558 และให้ขาวออกจากอาคารที่เช่าในวันที่ 30 ตุลาคม 2558 นั้น ย่อมถือเป็นการบอกเลิกที่ไม่ชอบตามมาตรา 566 เพราะตามกฎหมายการที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 30 กันยายน 2558 ย่อมถือเป็นการบอกเลิกสัญญาในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันชําระค่าเช่า และมืดจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัว และให้ขาวอยู่ในอาคารจนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่ง ดังนั้นการบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมที่ระบุว่า ผู้ให้เช่าตกลงคืนเงินประกันจํานวน 1 ล้านบาท ให้กับผู้เช่าเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่านั้น เป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น ซึ่งมิใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า จึงไม่มีผลผูกพันมืดผู้รับโอน ดังนั้นขาวจะเรียกเอาเงินประกันดังกล่าวคืนจากมืดไม่ได้

สรุป

(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) ขาวไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินประกันสัญญาหนึ่งล้านบาทคืนจากมืด

 

ข้อ 2.

(ก) น้ำเงินทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าบ้านของน้ำเงินมีกําหนดเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 20 ของเดือน เป็นค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2557 นั้น ม่วงได้ให้เงินประกันสัญญาเช่าเป็นเงินประกัน ความเสียหายไว้เป็นเงิน 50,000 บาท ม่วงได้อยู่ในบ้านเช่าและได้ชําระค่าเช่าให้ตามปกติ มาตลอด แต่ปรากฏว่าในปี 2558 ม่วงไม่ได้ชําระค่าเช่าของเดือนตุลาคม 2558 ดังนั้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที โดยให้ม่วงส่งมอบบ้านคืนในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จงวินิจฉัย

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ และน้ำเงินจะเรียกให้ม่วงชําระค่าเช่าซื้อที่ยังไม่ชําระนี้ทั้งหมดได้หรือไม่ จงวินิจฉัย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งจึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า มีกําหนดไว้ในมาตรา 560 กล่าวคือ ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าชําระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เช่น รายสองเดือนหรือรายปี ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระไม่น้อยกว่า 15 วันจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างน้ำเงินกับม่วงมีการตกลงชําระค่าเช่าเป็นรายเดือน ดังนั้นเมื่อม่วงไม่ได้ชําระค่าเช่าของเดือนตุลาคม 2558 น้ำเงินย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่ถ้าน้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่า น้ำเงินจะต้องบอกกล่าวให้ม่วงนําค่าเช่ามาชําระก่อน และต้องให้เวลาม่วงไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งถ้าม่วงไม่นําค่าเช่ามาชําระน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ (ตามมาตรา 560) ดังนั้น การที่น้ำเงินบอกเลิก สัญญาเช่ากับม่วงทันทีในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 โดยให้ม่วงส่งมอบบ้านคืนในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 การบอกเลิก สัญญาเช่าของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเงินประกันสัญญาเช่าซึ่งเป็นเงินประกันความเสียหายจํานวน 50,000 บาทนั้น จะนํามาหักเป็นค่าเช่าไม่ได้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคแรก “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่ม่วงผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อในเดือนตุลาคม 2558 เพียงเดือนเดียว ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงงวดเดียว น้ำเงินจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ มีสิทธิก็แต่เพียงเรียกให้ม่วงชําระค่าเช่าซื้อที่ค้างเท่านั้น ดังนั้นการที่น้ำเงินได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 574 วรรคแรก

สรุป

(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) ถ้าเป็นสัญญาเช่าซื้อ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่น้ำเงินมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ม่วงยังไม่ชําระได้

 

ข้อ 3.

(ก) นายอุทัยทําสัญญาจ้างนายพิจิตรเป็นลูกจ้างมีกําหนด 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 มีข้อตกลงให้ชําระสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน ต่อมาเศรษฐกิจไม่ดีนักนายอุทัย ได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายพิจิตรในวันที่ 30 กันยายน 2558 และให้ออกจากงานในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายเจริญทําสัญญาจ้างนายชัยชนะซึ่งเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงให้ดําเนินการเร่งรัดหนี้สินจากนายมนูญเป็นจํานวนเงิน 4 ล้านบาท โดยตกลงจะให้สินจ้าง 500,000 บาท นายชัยชนะได้ ดําเนินการเร่งรัดหนี้สินจากนายมนูญได้เป็นจํานวนเงิน 2 ล้านบาท ก็เกิดอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน บาดเจ็บสาหัส กลายเป็นคนพิการไม่สามารถทําการต่อไปได้ เช่นนี้ นายเจริญจะต้องชําระสินจ้างให้แก่นายชัยชนะหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 581 “ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทํางานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตรา ต่อไปนี้”

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้า กว่าสามเดือน

อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นที่เดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอุทัยทําสัญญาจ้างนายพิจิตรเป็นลูกจ้างมีกําหนด 1 ปี ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2557 นั้น สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แต่อย่างไรก็ดี เมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลงนายพิจิตรก็ยังคงทํางานต่อไปโดยนายอุทัยก็ไม่ได้ทักท้วง ดังนี้ตามมาตรา 581 ให้ สันนิษฐานว่าคู่สัญญาได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่ โดยมีข้อตกลงเป็นอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม และเป็นสัญญาที่ ไม่มีกําหนดเวลา ดังนั้น ถ้ามีการบอกเลิกสัญญาจ้างก็ต้องปฏิบัติตามมาตรา 582

เมื่อในสัญญาจ้างได้ตกลงกันว่าจะจ่ายสินจ้างทุก ๆ วันที่ 25 ของเดือน ดังนั้น การที่นาย อุทัยได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2558 และให้นายพิจิตรออกจากงานในวันที่ 31 ตุลาคม 2558 จึงไม่ถูกต้อง เพราะการบอกเลิกสัญญาจ้างดังกล่าว ถือว่าเป็นการบอกกล่าวก่อนในการจ่ายสินจ้างของวันที่ 25 ตุลาคม 2558 และเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า คือวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ตามมาตรา 582 วรรคแรก

 

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทําของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทําการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสําเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสําเร็จ แห่งการที่ทํานั้น”

มาตรา 606 “ถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง และผู้รับจ้างตายก็ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทําการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่ความผิดของตนก็ดี ท่านว่าสัญญานั้น ย่อมเป็นอันสิ้นลง

ถ้าและการส่วนที่ได้ทําขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจําต้องรับเอาไว้ และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้น ๆ”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายเจริญทําสัญญาจ้างนายชัยชนะ ซึ่งเป็นนักกฎหมายให้ดําเนินการ เร่งรัดหนี้สินให้นั้น ถือว่าเป็นสัญญาจ้างทําของตามมาตรา 587 เมื่อนายชัยชนะเกิดอุบัติเหตุถูกรถยนต์ชน บาดเจ็บสาหัสจนเป็นคนพิการตกเป็นผู้ไม่สามารถทําการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ ดังนี้ถือว่าสัญญาจ้างนั้นย่อมสิ้นสุด ลงตามมาตรา 606 วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชัยชนะสามารถเร่งรัดหนี้สินได้เป็นจํานวนเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการที่ได้ทําขึ้นแล้ว และเป็นประโยชน์แก่นายเจริญผู้ว่าจ้าง นายเจริญจะต้องรับเอาไว้ และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้น ๆ ตามมาตรา 606 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อนายชัยชนะได้ทําสําเร็จแล้ว ครึ่งหนึ่งของการงาน นายเจริญจึงต้องใช้สินจ้างให้แก่นายชัยชนะเป็นจํานวนเงิน 250,000 บาท

สรุป

(ก) การบอกเลิกสัญญาจ้างนายพิจิตรของนายอุทัยไม่ถูกต้อง

(ข) นายเจริญจะต้องชําระสินจ้างให้แก่นายชัยชนะเป็นเงิน 250,000 บาท

 

Advertisement