การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. แดงทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดงมีกําหนดเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 5 ของแต่ละเดือน สัญญาเช่ามีข้อความดังนี้คือ
ข้อ 5. “ผู้ให้เช่าอนุญาตให้ผู้เช่านําอาคารพาณิชย์ไปให้เช่าช่วงได้”
ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปี 2554 แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับม่วงพี่ชายของแดง การให้ทําถูกต้องตาม กฎหมาย ขาวอยู่ในอาคารที่เช่ามาจนสัญญาเช่าครบกําหนดและขาวยังคงอยู่ในอาคารที่เช่าต่อมา จนถึงปัจจุบันนี้ โดยขาวได้ชําระค่าเช่าให้กับม่วง แต่ขาวไม่ได้ทําสัญญาเช่ากับม่วงเป็นหนังสือแต่อย่างใด คงมีสัญญาเช่าที่ขาวได้ทําไว้กับแดงฉบับเดียวเท่านั้น และในเดือนกันยายน 2556 ขาวได้นําอาคารพาณิชย์ไปให้เหลืองเช่าช่วง ม่วงทราบว่าขาวนําอาคารไปให้เช่าช่วงในวันที่ 30 กันยายน 2556 ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันทีโดยอ้างว่าม่วงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาข้อ 5. ที่แดงตกลงกับขาว
ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด และม่วงจะมีทางอื่นที่จะบอกเลิกสัญญากับขาวหรือไม่ เพียงใด จงวินิจฉัย (แยกตอบ 2 กรณีด้วย)
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกําหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกําหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี”
มาตรา 544 “ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สิน นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทําได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ในสัญญาเช่า
ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”
มาตรา 566 “ถ้ากําหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกําหนดชําระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสองเดือน”
มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ ทรัพย์สินซึ่งให้เช่าผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย”
มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกําหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกําหนดเวลา”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกําหนดเวลา 3 ปี เมื่อ ได้มีการทําสัญญาเป็นหนังสือจึงมีผลสมบูรณ์และใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 538 และเมื่อแดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับม่วงและการให้ได้ทําถูกต้องตามกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทําให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่า ระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก และม่วงผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่ง มีต่อผู้เช่าด้วย กล่าวคือ ม่วงจะต้องให้ขาวเช่าอยู่ในอาคารหลังนี้ต่อไปจนครบกําหนดเวลา 3 ปี ตามสัญญาเช่า ตามมาตรา 569 วรรคสอง และม่วงต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าข้อ 5. ที่ว่า “ผู้ให้เช่าอนุญาตให้ ผู้เช่านําอาคารพาณิชย์ไปให้เช่าช่วงได้” ด้วย เพราะเป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า (ตามมาตรา 544) กล่าวคือ ม่วงจะต้องอนุญาตให้ขาวนําอาคารพาณิชย์ไปให้เช่าช่วงได้นั่นเอง
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขาวได้อยู่ในอาคารที่เช่ามาจนครบกําหนด 3 ปี และขาวยังคงอยู่ ในอาคารที่เช่าต่อมาจนถึงปัจจุบันโดยขาวได้ชําระค่าเช่าให้กับม่วง ดังนี้แม้ว่าขาวจะไม่ได้ทําสัญญาเช่ากับม่วงใหม่ก็ตาม ก็ถือว่าได้เกิดสัญญาเช่าขึ้นใหม่ระหว่างม่วงและขาว และเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 570 โดยสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะเป็นไปตามสัญญาเช่าเดิม และม่วงสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าที่ไม่มี กําหนดเวลาในกรณีนี้ได้ตามมาตรา 566 แม้ขาวผู้เช่าจะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาเลยก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาเช่า ดังกล่าวนั้นม่วงจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลาชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จําต้อง บอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 2 เดือน
และเมื่อปรากฏว่าในเดือนกันยายน 2556 ขาวได้นําอาคารพาณิชย์ไปให้เหลืองเช่าช่วง และม่วง ได้ทราบว่าขาวนําอาคารไปให้เหลืองเช่าช่วงในวันที่ 30 กันยายน 2556 ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันทีนั้น ม่วงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันทีได้ เพราะ
- การที่ม่วงอ้างว่าม่วงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาข้อ 5. ที่แดงตกลงกับขาวนั้น ข้ออ้างของม่วง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามสัญญาข้อ 5. ที่แดงตกลงกับขาวนั้น เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า ดังนั้นม่วง ผู้รับโอนต้องรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของแดงผู้โอนที่มีต่อขาวผู้เช่าด้วยตามมาตรา 569 ประกอบมาตรา 544
- ม่วงจะบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวทันทีโดยอ้างว่า ขาวฝ่าฝืนมาตรา 544 เพราะขาว เอาอาคารไปให้เหลืองเช่าช่วงนั้นไม่ได้ ถ้าม่วงจะบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาว เมื่อเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกําหนดเวลา ม่วงจึงต้องบอกเลิกสัญญาเช่าโดยอาศัยมาตรา 566 คือม่วงจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัวก่อนชั่วกําหนดเวลา ชําระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย ดังนั้นการที่ม่วงบอกเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งถือเป็น การบอกเลิกจริง ๆ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2556 นั้น ม่วงจะต้องบอกกล่าวให้ขาวรู้ตัว และให้ขาวอยู่ในอาคารหลังนี้จนถึง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 กล่าวคือให้สัญญาเช่าดังกล่าวมีผลเป็นการเลิกกันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 นั่นเอง
สรุป
- ข้ออ้างของม่วงที่ว่าม่วงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาข้อ 5. ที่แดงตกลงกับขาวนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ม่วงจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีไม่ได้ ถ้าม่วงจะบอกเลิกสัญญาเช่าจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 566 ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2.
(ก) น้ำเงินทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่าที่ดินมีกําหนดเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน ๆ ละ 25,000 บาท ในวัน ทําสัญญาเช่าเหลืองได้ให้เงินมัดจําค่าเช่ากับน้ำเงินไว้เป็นเงิน 200,000 บาท (สองแสนบาท) และได้ชําระค่าเช่าสําหรับเดือนมกราคม 2556 ไว้อีก 25,000 บาท หลังจากเดือนมกราคม 2556 เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าให้กับน้ำเงินอีกเลย จนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 น้ําเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับเหลืองทันที โดยอ้างว่าเหลืองไม่ชําระค่าเช่า และให้เหลืองส่งมอบ ที่ดินคืนในวันที่ 10 ตุลาคม 2556 จงวินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คําตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด
จงวินิจฉัย
ธงคําตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชําระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกําหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน”
วินิจฉัย
การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า มีกําหนดไว้ในมาตรา 560 กล่าวคือ ถ้า ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าชําระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เช่น รายสองเดือนหรือรายปี ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชําระไม่น้อยกว่า 15 วันจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ผู้ให้เช่า จะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าที่ดินระหว่างน้ําเงินและเหลือง มีการตกลงชําระค่าเช่าเป็น รายเดือน โดยตกลงชําระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน และการที่เหลืองได้ให้เงินมัดจําค่าเช่ากับน้ำเงินไว้ เป็นเงิน 200,000 บาท และได้ชําระค่าเช่าสําหรับเดือนมกราคม 2556 ไว้อีก 25,000 บาทนั้น เท่ากับเหลืองได้ชําระ ค่าเช่าให้แก่น้ำเงินแล้ว 9 เดือน คือเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2556 และการที่เหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าให้กับ น้ำเงินอีกเลยจนถึงปัจจุบัน ก็เท่ากับว่าเหลืองยังไม่ได้ชําระค่าเช่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ซึ่งเป็นค่าเช่าของเดือน ตุลาคม 2556 ดังนั้นถ้าน้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่า น้ำเงินจะต้องบอกกล่าวให้เหลืองนําค่าเช่ามาชําระก่อนและต้องให้เวลาเหลืองไม่น้อยกว่า 15 วัน ซึ่งถ้าเหลืองไม่นําค่าเช่ามาชําระน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ (ตามมาตรา 560) ดังนั้น การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่ากับเหลืองทันทีในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โดยอ้างว่าเหลืองไม่ชําระค่าเช่า และให้เหลืองส่งมอบที่ดินคืนในวันที่ 10 ตุลาคม 2556 นั้น การบอกเลิกสัญญาเช่าของน้ําเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 574 วรรคแรก “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทําผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสําคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย”
วินิจฉัย
ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ เมื่อได้หักค่าเช่าซื้อล่วงหน้าและค่าเช่าซื้อในเดือน มกราคม 2556 แล้ว เท่ากับเหลืองไม่ได้ชําระค่าเช่าซื้อเพียง 1 คราว คือในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงถือว่าเป็น กรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินเพียง 1 คราว มิใช่เป็นการผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันตามมาตรา 574 วรรคแรก ดังนั้นน้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 การ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคําตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน
ข้อ 3. (ก) ช้างทําสัญญาจ้างเสือเป็นหัวหน้าคนงาน มีกําหนดเวลา 1 ปี ได้รับสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 500 บาท) ตกลงชําระสินจ้างทุก ๆ วันสิ้นเดือน เสือทํางานเรื่อยมาเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน เศรษฐกิจไม่ดี ช้างจึงชําระสินจ้างให้เสือ 7,500 บาท ในวันที่ 15 สิงหาคม และบอกเลิก สัญญาจ้างเสือในวันที่ 15 สิงหาคม แต่เสือเห็นว่าไม่ถูกต้อง เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
(ข) สัญญาจ้างทําของ ผู้รับจ้างสามารถเอาการงานที่จ้างไปจ้างช่วงต่อได้หรือไม่ มีกรณีที่ไม่สามารถจ้างช่วงได้ มีหรือไม่ จงอธิบาย
ธงคําตอบ
(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 581 “ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทํางานอยู่ต่อไปอีก และนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความ อย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตรา ต่อไปนี้”
มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กําหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทําได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสามเดือน
อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวนั้นที่เดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทําได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ช้างทําสัญญาจ้างเสือเป็นหัวหน้าคนงานมีกําหนดเวลา 1 ปี โดยตกลง จ่ายสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท และตกลงจ่ายสินจ้างทุก ๆ วันสิ้นเดือนนั้น แต่เมื่อเสือได้ทํางานเรื่อยมาเป็นเวลา ใน 1 ปี 8 เดือน ดังนี้ ย่อมสันนิษฐานได้ว่าคู่สัญญาได้ทําสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมและเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดเวลาตามมาตรา 581 ซึ่งคู่สัญญาจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา 582 ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า
เมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ถือว่าสัญญาจ้างระหว่างช้างกับเสือเป็นสัญญาจ้างไม่มีกําหนดเวลา ดังนั้นการที่ช้างได้จ่ายสินจ้างให้เสือเป็นเงิน 7,500 บาท และบอกเลิกสัญญาจ้างเสือในวันที่ 15 สิงหาคม การบอกเลิก สัญญาจ้างของช้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 582 เพราะถ้าจะให้การบอกเลิกสัญญาจ้างของช้างถูกต้อง ตามกฎหมาย ในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ช้างบอกเลิกสัญญาจ้างนั้น ช้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะเลิกสัญญาจ้างโดยให้เสือทํางานจนถึงวันที่ 30 กันยายน (โดยให้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 สิงหาคม และให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน) โดยจ่ายสินจ้างให้เสือในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน เดือนละ 15,000 บาท หรือช้างอาจจะจ่ายสินจ้างให้แก่เสือทั้งหมดเป็นเงิน 30,000 บาท แล้วให้เสือออกจากงาน ในวันที่ 15 สิงหาคมเลยก็ได้ตามมาตรา 582 วรรคสอง
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 607 “ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วง ทําอีกทอดหนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสําคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้างคงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใด ๆ ของผู้รับจ้างช่วง”
อธิบาย
จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าโดยหลักแล้ว สัญญาจ้างทําของไม่ใช่สัญญาเฉพาะตัวของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงสามารถเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทําก็ได้ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างแต่อย่างใดตามมาตรา 607 ตอนต้น เว้นแต่จะมีข้อตกลงห้ามมิให้รับจ้างช่วง
ตัวอย่างเช่น ก. ว่าจ้าง ข. ให้สร้างบ้านหนึ่งหลัง กําหนดให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เช่นนี้ ข. ผู้รับจ้างสามารถให้ ค. สร้างบ้านดังกล่าวแทนตนได้ หรือ ข. สร้างบ้านเสร็จไปแล้วครึ่งหลัง ข. จะให้ ค. สร้างต่อ อีกครึ่งหลังให้แล้วเสร็จภายในเวลากําหนดก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า ถ้าสาระสําคัญแห่งสัญญาจ้างทําของนั้นอยู่ที่ความรู้ ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง หรือต้องใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะตัว ผู้รับจ้างจะให้บุคคลอื่นกระทําการแทนตน ไม่ได้ กล่าวคือจะเอาการที่จ้างนั้นไปให้บุคคลอื่นรับจ้างช่วงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้ชําระหนี้ แทนกันได้นั่นเอง
ตัวอย่างเช่น จ้างผู้รับจ้างวาดภาพเหมือนตัวผู้ว่าจ้าง หรือจ้างทําเครื่องประดับอัญมณีซึ่งผู้รับจ้างมีฝีมือดี ยังหาผู้มีฝีมือแข่งขันด้วยไม่ได้ เช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาจ้างทําของซึ่งมีสาระสําคัญอยู่ที่ความรู้ความสามารถ เฉพาะตัวของผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างจึงไม่อาจเอาการที่รับจ้างนั้นไปให้ผู้อื่นกระทําแทนตนได้