การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 อย่างไรเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย
ธงคำตอบ
มาตรา 147 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือ รักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษ
อธิบาย
องค์ประกอบความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 147 ประกอบด้วย
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด
3 เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่น หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย
4 โดยทุจริต
5 โดยเจตนา
เจ้าพนักงาน หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือน จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ หากเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่มีหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 147
หน้าที่ซื้อ เช่น มีหน้าที่ซื้อพัสดุหรือเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้ในสำนักงาน
หน้าที่ทำ เช่น มีหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องยนต์ขึ้นใหม่ หรือมีหน้าที่ซ่อมแซม แก้ไข เครื่องใช้เครื่องยนต์ที่ชำรุดให้ดีขึ้น
หน้าที่จัดการ เช่น หน้าที่ในการจัดการโรงงาน จัดการคลังสินค้า เป็นต้น
หน้าที่รักษา เช่น เป็นเจ้าหน้าที่การเงินก็ย่อมต้องดูแลรักษาเงินที่ได้รับมานั้นด้วย
เบียดบัง หมายความว่า การเอาเป็นของตน หรือแสดงให้ปรากฏว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นตัวอย่างเช่น เอาทรัพย์นั้นไปใช้อย่างเจ้าของ หรือจำหน่ายทรัพย์นั้นไป
การเบียดบังที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเบียดบังทรัพย์ ถ้าเบียดบังเอาอย่างอื่น เช่น แรงงาน กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 147 ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นก็ตาม และเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเบียดบังเอาทรัพย์ไปแม้จะนำมาคืนในภายหลัง ก็ยังคงมีความผิด
อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์ หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยมีเจตนา ตามมาตรา 59 และต้องมีเจตนาพิเศษ คือ โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำขาดเจตนาโดยทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่างความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 147
นายสมบูรณ์ไม่มีเงินชำระค่าเล่าเรียนบุตร ได้ไปขอยืมเงิน 5,000 บาท จากนายรวยซึ่งเป็นสรรพากรอำเภอ โดยสัญญาว่าอีก 2 วันจะนำมาคืน นายรวยไม่มีเงินสดติดตัวมาพอ แต่สงสารเพื่อนจึงเอาเงินค่าภาษีซึ่งผู้เสียภาษีได้ชำระแก่ทางราชการและตนรักษาไว้มอบให้ไป ครบกำหนดนายสมบูรณ์ก็ไม่ใช้เงินคืน แต่ได้หลบหน้าไป นายรวยจึงเอาเงินส่วนตัว 5,000 บาท ใช้คืนแก่ทางราชการ ดังนี้ เมื่อนายรวยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์ แล้วเอาเงินค่าภาษีไปจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตสำหรับผู้อื่นแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 147 แม้นายรวยจะใช้เงินคืนแก่ทางราชการ ก็ไม่พ้นความรับผิดไปได้
ข้อ 2 ตำรวจสายตรวจในท้องที่พบเห็นนายจ่อยวิ่งราวทรัพย์แม่ค้า ตำรวจจึงเข้าจับกุมนายจ่อยแล้วควบคุมตัวเพื่อไปส่งสถานีตำรวจ ระหว่างทางนายจ่อยวิ่งหนีไปได้ แต่ถูกตำรวจจับตัวได้ในทันทีที่วิ่งไปประมาณ 10 ก้าว ดังนี้นายจ่อยมีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานหลบหนีทีคุมขัง ตามมาตรา 190 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 หลบหนีไป
2 ระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
3 โดยเจตนา
หลบหนีไป หมายถึง การทำให้ตัวเองได้รับอิสรภาพ ซึ่งอาจจะเป็นการชั่วคราว หรือตลอดไป
การหลบหนีที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการหลบหนีในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
อนึ่งคำว่า คุมขัง นี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) ให้คำนิยามเอาไว้ว่า หมายถึง คุมตัว ควบคม ขัง กักขัง หรือจำคุก
คุมตัว หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาจับผู้ต้องหาแล้ว อาจจับไปส่งตัวยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
ควบคุม หมายถึง เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตลอดจนคุมตัวไปส่งศาล โดยไม่จำเป็นต้องมัดหรืออยู่ในห้องขัง เพียงแต่ผู้จับบอกให้ผู้ถูกจับรู้ว่าเข้าถูกจับ ก็ถือเป็นการควบคุมแล้ว
ขัง หมายถึง ในกรณีที่ศาลสั่งขังผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการร้องขอเพราะการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นดี หรือเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลสั่งขังจำเลยไว้ก็ดี
กักขัง หรือจำคุก หมายถึง เมื่อศาลพิพากษาให้กักขังหรือจำคุกผู้ใด
นอกจากนี้การคุมขังนั้นต้องเป็นการคุมขังตามอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย ในกรณีที่ยังไม่ได้จับกุม ก็ย่อมถือว่ายังไม่ถูกคุมขัง แม้หลบหนีไปก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
อย่างไรก็ดีผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้กระทำต้องรู้ว่าตนถูกคุมขังและผู้กระทำต้องการหลบหนี ถ้าไม่รู้ว่าตนถูกคุมขังแล้วหลบหนีไป หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปได้ย่อมขาดเจตนาหลบหนีไป ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
อย่างไรก็ดีผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้กระทำต้องรู้ว่าตนถูกคุมขัง และผู้กระทำต้องการหลบหนีถ้าไม่รู้ว่าตนถูกคุมขังแล้วหลบหนีไป หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปได้ ย่อมขาดเจตนาหลบหนี ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
การที่ตำรวจสายตรวจจับกุมนายจ่อยขณะวิ่งราวทรัพย์แม่ค้าและควบคุมตัวเพื่อไปส่งสถานีตำรวจนั้น ถือได้ว่าเป็นการคุมตัว และถือว่านายจ่อยอยู่ในระหว่างที่ถูกคุมขังแล้วตามมาตรา 190 เมื่อนายจ่อยวิ่งหนีไปจากการควบคุมตัว แม้จะจับตัวได้ในทันทีนั้นเอง ก็มีความผิดฐานหลบหนีระหว่างที่ถูกคุมขัง อันเป็นความผิดสำเร็จแล้วตามมาตรา 190 (ฎ.749/2460)
สรุป นายจ่อยมีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขัง ตามมาตรา 190
ข้อ 3 นายสิงห์กับนายสาไม่ถูกกันมาก่อน วันเกิดเหตุนายสิงห์ได้ขับรถเดินทางไปต่างจังหวัด ในขณะขับมาระหว่างทางเป็นที่เปลี่ยวบังเอิญเหลือบไปเห็นรถของนายสาจอดอยู่ข้างทาง โดยนายสาไปทำธุระห่างจากที่จอดรถไว้ประมาณหนึ่งกิโลเมตร นายสิงห์ขับรถของตนไปจอดติดกับรถของนายสา นายสิงห์ต้องการเผารถของนายสา แต่แทนที่นายสิงห์จะจุดไฟเผารถของนายสาโดยตรง นายสิงห์ไม่ทำอย่างนั้นแต่นายสิงห์กลับใช้น้ำมันราดไปที่รถของนายสิงห์เองแล้วจุดไฟเผา ปรากฏว่าไฟได้ไหม้รถของนายสิงห์และลุกลามไปไหม้รถของนายสาได้รับความเสียหายทั้งสองคัน ดังนี้ จากการที่รถของนายสิงห์และนายสาต่างถูกเพลิงไหม้นี้ นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 217 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 วางเพลิงเผา
2 ทรัพย์ของผู้อื่น
3 โดยเจตนา
วางเพลิงเผา หมายถึง การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม เช่น ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ เป็นต้น
การทำให้เพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เช่น เจตนาจะเผาบ้านทั้งหลัง แต่ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านเพียงครึ่งหลังเพราะผู้เสียหายดับทัน กรณีเป็นความผิดสำเร็จแล้วมิใช่เพียงขั้นพยายาม แต่อย่างไรก็ตามหากยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น
การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา “ทรัพย์ของผู้อื่น” เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น กล่าวคือ ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย ก็ย่อมไม่เป้นความผิดตามมาตรานี้ ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องกระทำ “โดยเจตนา” คือ มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
การที่นายสิงห์จุดไฟเผารถของตนเองได้รับความเสียหายนั้น แม้จะมีเจตนาเผารถของนายสา (ผู้อื่น) การกระทำของนายสิงห์ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 217 เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิดคำว่า “ทรัพย์ของผู้อื่น” (ฎ.389/2483)
อย่างไรก็ดี การที่นายสิงห์จุดไฟเผารถของตนเอง โดยมีเจตนาจะเผารถของนายสา การเผารถของตนก็เพื่อให้ไฟลามไปไหม้รถของนายสาด้วย ถือได้ว่านายสิงห์กระทำโดยมีเจตนาที่จะเผารถของนายสาโดยตรง เมื่อไฟได้ไหม้รถของนายสาได้รับความเสียหาย การกระทำของนายสิงห์จึงมีความผิด ตามมาตรา 217 ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของนายสา
การกระทำของนายสิงห์ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 220 เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา 220 หมายถึงว่าผู้กระทำมีเจตนาทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง ซึ่งน่าจะเกิดอันตราย จึงเห็นได้ชัดว่าผู้กระทำต้องไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยตรง แต่กรณีตามอุทาหรณ์นายสิงห์ประสงค์ที่จะเผารถของนายสาโดยตรง ต้องการให้รถของนายสาไฟไหม้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 217 มิใช่มาตรา 220
สรุป
1 กรณีไฟไหม้รถของนายสา การกระทำของนายสิงห์มีความผิดตามมาตรา 217
2 กรณีไฟไหม้รถของนายสิงห์ การกระทำของนายสิงห์ไม่มีความผิดตามมาตรา 217
ข้อ 4 จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ก 1234 ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของนายแดง นำไปติดท้ายรถยนต์ของจำเลย โดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขทะเบียน ก 1234 ดังนี้จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
การที่จำเลยถอนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายแดงนำมาติดท้ายรถของจำเลย เมื่อแผ่นป้ายรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้จึงเป็นเอกสารที่แท้จริง จำเลยไม่ได้ทำขึ้นใหม่ หรือเติมหรือตัดทอนข้อความแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายแดงจะเป็นเอกสารราชการ และจำเลยจะมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียน ก 1234 จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรกและมาตรา 265
เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร การที่จำเลยนำรถออกขับขี่ จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 แต่อย่างใด (ฎ.3078/2525)
สรุป จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม