การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007  กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำไปติดต่อราชการขอทำบัตรประชาชนที่อำเภอแห่งหนึ่ง  ขาวปลัดอำเภอมีหน้าที่ออกบัตรประชาชนตามระเบียบของกระทรวงฯ  ดำเนินการให้  ดำเห็นว่าขาวบริการให้ไม่ทันใจล่าช้าจึงพูดว่า  ช่วยลัดคิวให้หน่อย  ขาวบอกกับดำว่าต้องเป็นไปตามลำดับก่อนหลังของผู้มาใช้บริการ  ดำโกรธไม่พอใจพูดกับขาวว่า  ไอ้สัตว์มึงรู้หรือเปล่าว่ากูเป็นใคร  กูทนมึงมานานแล้ว  ไอ้สัตว์หมา  ขาวนิ่งเฉยทำงานตามหน้าที่ต่อไป  ดังนี้ดำมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  เจ้าพนักงาน”  ซึ่งก็คือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา  136  ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

อนึ่ง  การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ  2  กรณีต่อไปนี้คือ

(ก)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่  หรือ

(ข)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้  ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

เพราะได้กระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง  แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง  ต่อมาอีก  3  วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ  จึงด่าทอดูหมิ่น  เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน  เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น  และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

คำพูดของดำที่ว่า  ไอ้สัตว์…ไอ้สัตว์หมา” เป็นคำด่า  เหยียดหยาม  ดูถูกขาวปลัดอำเภอ  เป็นการดูหมิ่นขาวซึ่งเป็นปลัดอำเภอ  และปลัดอำเภอนั้นเป็นเจ้าพนักงาน  เพราะเป็นข้าราชการที่ได้รับเงินเดือนงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรืออีกนัยหนึ่งคือขาวเป็นบุคคลที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานและได้รับแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายด้วย  ขาวปลัดอำเภอถูกดูหมิ่นขณะบริการทำบัตรประชาชน  จึงเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ดำด่าขาวด้วยความโกรธเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  คือ  รู้สำนึกในการที่กระทำขณะเดียวกันผู้กระทำก็ประสงค์ต่อผลการกระทำนั้นด้วย

การกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา  136  ข้างต้นทุกประการ  จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

สรุป  ดำมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136 

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  144)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  144  ผู้ใดให้  ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล  เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  ดังกล่าว  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้

2       ทรัพย์สิน  หรือประโยชน์อื่นใด

3       แก่เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล

4       เพื่อจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่

5       โดยเจตนา

ให้  หมายถึง  มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง  หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป

ขอให้  หมายถึง  เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน  เช่น  เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน  แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

รับว่าจะให้  หมายถึง  เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน  แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด  เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้  ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่  ไม่ใช่ข้อสำคัญ

สำหรับสิ่งที่ให้  ขอให้  หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น  ทรัพย์สิน  เช่น  เงิน  สร้อย  แหวน  นาฬิกา  รถยนต์  หรือ  ประโยชน์อื่นใด  นอกจากทรัพย์สิน  เช่น  ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย  เป็นต้น

การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ  เจ้าพนักงาน  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ  สมาชิกสภาจังหวัด  หรือสมาชิกสภาเทศบาล  เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย  ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว  หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา  ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา  ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย  คือ

(ก)  ให้กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด

(ข)  ไม่กระทำการ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด  จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่

(ค)  ประวิงการกระทำ  อันมิชอบด้วยหน้าที่  เช่น  ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ  ไม่กระทำการ  หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  144  นี้  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย  จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม  กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา  144  เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144

นายแดงถูก  ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง  จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาว  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว  แต่  ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด  เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่  ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา  นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย  นายแดงทราบว่า  ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล  จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ  ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้  ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ)  ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  144  เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป  ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ  จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่  (ฎ.439/2469)

 

ข้อ  3  นายช้าแต่งกายเป็นพระภิกษุแสดงละคร  นายชั่วไปชมการแสดงเห็นบทบาทการแสดงสมจริง  รุ่งขึ้นจึงแต่งกายเป็นพระภิกษุบ้างเพื่อให้คนกราบไหว้  แล้วเดินไปในตลาด  ดังนี้  นายช้าและนายชั่วมีความผิดประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  208  ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุสามเณร  นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ  เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  ประกอบด้วย

1       แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาโดยมิชอบ

2       เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น

3       โดยเจตนา

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  คือ  แต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ  สามเณร  นักพรต  หรือนักบวชในศาสนาใด สำหรับภิกษุสามเณรนั้นหมายถึงภิกษุและสามเณรในพระพุทธศาสนา  ส่วนนักพรตหรือนักบวชอาจเป็นศาสนาอื่นก็ได้

โดยมิชอบ  หมายถึง  ไม่มีอำนาจแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายโดยมิชอบด้วยหลักของศาสนานั้นๆ  เช่น  ผู้ที่ไม่ได้อุปสมบทเป็นภิกษุโดยถูกต้องตามหลักของศาสนาพุทธ  ย่อมไม่มีอำนาจแต่งกายเป็นภิกษุ

การกระทำความผิดตามมาตรานี้  นอกจากมีเจตนาธรรมดาในการแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายดังกล่าวแล้ว  ต้องมีเจตนาพิเศษด้วย  คือ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น

การที่นายช้าและนายชั่วแต่งกายเป็นพระภิกษุโดยที่ทั้งสองคนมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุโดยถูกต้องตามกฎหมายและหลักของศาสนาพุทธ  ย่อมถือว่านายช้าและนายชั่วแต่งกายแสดงว่าเป็นภิกษุโดยมิชอบ  ซึ่งได้กระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ตามมาตรา  59  แต่สำหรับนายช้าได้แต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อแสดงละครให้สมบทบาท  ย่อมไม่ถือว่ามีเจตนาพิเศษให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนเป็นพระภิกษุ  การกระทำของนายช้าจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  จึงไม่ต้องรับผิด

ส่วนนายชั่วได้แต่งกายเป็นพระภิกษุเพื่อให้บุคคลอื่นได้กราบไหว้เสมือนว่าตนเป็นภิกษุ  การกระทำของนายชั่วจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  208  ทุกประการ  นายชั่วจึงต้องรับผิด

สรุป  นายชั่วมีความผิดตามมาตรา  208  ส่วนนายช้าไม่มีความผิด

 

ข้อ  4  พ่อค้าขายส่งดินสอดำ  บรรจุดินสอใส่กล่องๆละ  20  แท่ง  โดยระบุจำนวนดินสอไว้หน้ากล่องว่า  20  แท่ง  ตามความเป็นจริง  นายขาวต้องการดินสอดำจำนวนมากจึงไปที่ร้านของพ่อค้าดังกล่าว  เมื่อตรวจดูสภาพของสินค้าและการบรรจุกล่องเรียบร้อยน่าพอใจ  จึงตกลงซื้อจำนวน  1,000  กล่อง  โดยให้ส่งสินค้าไปที่บ้านของตน  พ่อค้าได้ส่งดินสอดังกล่าวไปตามคำสั่ง  แต่ก่อนส่งได้แอบเอาดินสอออกจากกล่องทุกกล่องๆละ  2  แท่ง  ดังนี้  พ่อค้ามีความผิดเกี่ยวกับการค้าอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ  ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดสภาพ  คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ  ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดตามมาตรา  271  ประกอบด้วย

1       ขายของ

2       โดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ

3       ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด  สภาพ  คุณภาพ  หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ

4       ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

5       โดยเจตนา

ข้อเท็จจริงเบื้องต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า  การกระทำของพ่อค้าไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341  เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าพ่อค้าได้ทำการหลอกลวงนายขาวด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริง  ซึ่งควรบอกให้แจ้งถึงขนาดว่าถ้าไม่หลอกลวงเขาจะไม่ซื้อของนั้นแต่อย่างใด  ทั้งในขณะทำสัญญาซื้อขาย  พ่อค้าก็บรรจุดินสอใส่กล่องๆละ  20  แท่ง  และระบุจำนวนดินสอไว้ตามความเป็นจริงด้วย

เมื่อการกระทำของพ่อค้าไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า  การขายของของพ่อค้านั้นมีการหลอกลวงด้วยประการใดๆ  ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อหรือไม่  เห็นว่า  การหลอกลวงที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  271  นี้  จะต้องมีอยู่ก่อนหรือในขณะที่มีการขาย  คือก่อนหรือขณะที่เกิดสัญญาซื้อขายนั่นเอง  แต่กรณีนี้มีการตกลงซื้อขายกันแล้ว  โดยนายขาวได้ตรวจดูสภาพสินค้าและการบรรจุกล่องเรียบร้อยน่าพอใจ  ไม่มีการหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อแต่อย่างใด  การที่พ่อค้าได้แอบเอาดินสอออกจากกล่องทุกกล่องๆละ  2  แท่งก่อนส่งมอบ  เป็นเพียงการหลอกในการส่งมอบของตามสัญญาซื้อขายให้รับชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้อง  หรือส่งมอบของที่ไม่ครบถ้วนด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  การกระทำของพ่อค้าจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  271  พ่อค้าไม่มีความผิดเกี่ยวกับการค้า  ส่วนการกระทำของพ่อค้าจะเป็นความผิดทางอาญาฐานอื่นหรือไม่  หรือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งหรือไม่  ไม่อยู่ในประเด็นที่ต้องวินิจฉัย

สรุป  พ่อค้าไม่มีความผิดเกี่ยวกับการค้า

Advertisement