ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 137) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่าง
ธงคำตอบ
มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ
อธิบาย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้ สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2 แก่เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4 โดยเจตนา
แจ้งข้อความ หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น อาจกระทำโดยวาจา โดยการเขียนเป็นหนังสือ หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้
ข้อความอันเป็นเท็จ หมายถึง ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง เช่น นาย ก ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน ทั้งๆที่นาย ก มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คือ นาง ค เช่นนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้
การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ
(ก) ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง
(ข) โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้
อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว เช่น ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า บิดาเป็นไทย ความจริงเป็นจีน ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 137 นี้แล้ว
สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137 (ฎ. 1274/2513)
ส่วนในคดีอาญา ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่ (ฎ.1093/2522) แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น เช่น เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น
“แก่เจ้าพนักงาน” เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้ ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เช่น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
“ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า “อาจทำให้เสียหาย” จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137
นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นางโท หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ น.ส.ตรีอีก โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ซึ่งทั้งนางโทและ น.ส.ตรี ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส ซึ่งกระทำโดยเจตนา เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้ นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137
แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส ดังนี้ การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎ.1237/2544)
ข้อ 2 อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่าง
ธงคำตอบ
มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ
อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2 ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3 แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4 เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
5 โดยเจตนา
ให้ หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป
ขอให้ หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
รับว่าจะให้ หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ
สำหรับสิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน สร้อย แหวน นาฬิกา รถยนต์ หรือ “ประโยชน์อื่นใด” นอกจากทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น
การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ในเรื่องเจตนา ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ
(ก) ให้กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด
(ข) ไม่กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทำ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน
ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144
นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม
แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ) ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ (ฎ.439/2469)
ข้อ 3 นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ จึงลอบเผาบ้านของนายดี ตำรวจดับเพลิงและชาวบ้านช่วยกันดับไฟและนายดีออกจากบ้านได้โดยปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย แต่นายดีนึกเสียดายเงินที่ซ่อนไว้ได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินแล้วออกมาไม่ได้ ถูกไฟลวกถึงแก่ความตายในกองเพลิง ดังนี้ นายโหดมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
มาตรา 218 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรียน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
ต้องระวางโทษ
มาตรา 224 วรรคแรก ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 หรือมาตรา 222 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
การวางเพลิงเผาทรัพย์ที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 218 นั้น ในเบื้องต้นการกระทำจะต้องครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 อันเป็นหลักทั่วไปก่อน กล่าวคือ
1 วางเพลิงเผา
2 ทรัพย์ของผู้อื่น
3 โดยเจตนา
เมื่อการกระทำครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 217 แล้วจึงมาพิจารณาว่าทรัพย์ที่วางเพลิงเผานั้นเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา 218 หรือไม่ ถ้าเป็นแล้ว ผู้กระทำมีความผิดตามมาตรา 218 อันเป็นลักษณะฉกรรจ์ ต้องรับโทษสูงกว่าที่ระบุไว้ในมาตรา 217
วางเพลิงเผา หมายถึง การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม แม้จะไหม้เพียงบางส่วนก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่ถ้าหากยังไม่เกิดไฟไหม้ขึ้น ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น
ทรัพย์ของผู้อื่น ถ้าเป็นทรัพย์ของตนเอง หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
โดยเจตนา หมายความว่า ผู้กระทำมีความต้องการที่จะเผาทรัพย์นั้นและรู้ว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่นด้วย
การที่นายโหดต้องการแก้แค้นนายดีคู่อริ จึงลอบเผาบ้านของนายดี ดังนี้เป็นกรณีที่ผู้กระทำมีความต้องการที่จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น โดยรู้อยู่แล้วว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น จึงเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217 แต่เนื่องจากทรัพย์ดังกล่าวเป็นบ้านของนายดี ซึ่งเป็นโรงเรือนอันเป็นที่อยู่อาศัย อันเป็นความผิดตามมาตรา 218(1) ดังนั้นนายโหดจึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามมาตรา 218(1)
ส่วนกรณีที่นายดีถึงแก่ความตายนั้น นายโหดจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 224 วรรคแรกหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่จะทำให้ผู้กระทำผิดตามมาตรา 218 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะการกระทำนั้น จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ คือ
1 ต้องเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 หรือมาตรา 222
2 การกระทำนั้นเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
3 ความตายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงหรือผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้
ดังนั้นแม้นายโหดจะได้กระทำความผิดตามมาตรา 218(1) แต่การที่นายดีได้วิ่งเข้าไปในบ้านเพื่อเอาเงินแล้วออกมาไม่ได้ ถูกไฟลวกถึงแก่ความตายในกองเพลิงนั้น การวิ่งเข้าไปในบ้านขณะที่เพลิงกำลังไหม้อยู่นั้น เป็นการสมัครใจของนายดีซึ่งเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายเอง หาใช่การวางเพลิงของนายโหดเป็นเหตุให้นายดีถึงแก่ความตายไม่ ดังนั้นเมื่อความตายของนายดีนั้นไม่ใช่ผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้น นายโหดจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 224 วรรคแรก คงมีความผิดเพียงมาตรา 218(1) เท่านั้น (ฎ.1412/2504 (ประชุมใหญ่))
สรุป นายโหดมีความผิดตามมาตรา 218(1) แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 224 วรรคแรก
ข้อ 4 นายหนึ่งกู้ยืมเงินนายสองจำนวน 10,000 บาท นายหนึ่งได้ทำสัญญากู้ส่งมอบให้นายสองเก็บไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์นายสองนำสัญญากู้มาดู ปรากฏว่าในสัญญากู้ไม่มีพยานเซ็นชื่อในท้ายสัญญา นายสองจึงไปขอร้องให้นายสามช่วยเซ็นชื่อในฐานะพยาน นายสามได้เซ็นชื่อของนายสามเอง ลงในท้ายสัญญากู้ จากนั้นได้เขียนข้อความต่อท้ายลายเซ็นมีข้อความว่า “พยานผู้ให้การรับรอง” ข้อเท็จจริงได้ความว่าการี่นายสองขอให้นายสามช่วยเซ็นชื่อเป็นพยานนั้น นายหนึ่งไม่ทราบเรื่องแต่ประการใด ดังนี้ นายสามมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
ในเรื่องการปลอมเอกสาร ที่เป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หมายความว่า มีเอกสารที่แท้จริงอยู่แล้ว ต่อมามีการเติม ตัดทอน หรือแก้ไขข้อความ เพื่อให้เข้าใจว่ามีการกระทำนั้นๆมาก่อนแล้ว ดังนั้นการเติม ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อกระทำต่อเอกสารที่แท้จริง ถ้ากระทำต่อเอกสารปลอม ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร
เติม หมายถึง การเพิ่มข้อความในเอกสารที่แท้จริง
ตัดทอน หมายถึง ตัดข้อความบางตอนออกจากเอกสารที่แท้จริง
แก้ไข หมายถึง การกระทำทุกอย่างอันเป็นการแก้ไขข้อความให้ผิดไปจากข้อความเดิม
นอกจากนี้การเติม ตัดทอน หรือแก้ไข ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อ ผู้กระทำไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้ ถ้าหากว่าผู้กระทำมีอำนาจที่จะกระทำได้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
อย่างไรก็ตามจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ผู้กระทำต้องกระทำโดยเจตนา และการกระทำนั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนด้วย แม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
การที่นายสามเซ็นชื่อในท้ายสัญญากู้พร้อมกับเขียนข้อความว่า “พยานผู้ให้การรับรอง” ถือได้ว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง และนายสามได้กระทำไปโดยไม่มีอำนาจเพราะนายหนึ่งไม่ทราบเรื่องแต่ประการใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคแรกเรื่องหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานด้วยแต่อย่างใด เมื่อมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมในหลักฐานนั้น แม้ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยานก็ใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นการที่นายสามเซ็นชื่อและเขียนข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง การกระทำดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายหนึ่งผู้กู้ยืมเงินได้ ดังนั้นนายสามไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 264 วรรคแรก (ฎ. 1126/2505)
เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคแรก จึงไม่จำต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 264 แต่อย่างใด แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 ก็ตาม
สรุป นายสามไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 264, 265