ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 136 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 ดูหมิ่น
2 เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
4 โดยเจตนา
“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท ต่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา หรือด้วยกิริยาท่าทาง ก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม ก็เป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ได้
อย่างไรก็ดี ถ้อยคำบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ คำหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์ หรือคำโต้แย้ง คำกล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยามสบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น
การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน เช่น จำเลยกล่าวต่อ ร.ต.อ.แดงว่า “ตำรวจเฮงซวย” ซึ่งในขณะนั้น ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะในขณะดูหมิ่นนั้น ร.ต.อ.แดง ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน
อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณีต่อไปนี้คือ
(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
“ซึ่งกระทำการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้
“เพราะได้กระทำการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 136
การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น โดยเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นว่า “มึงแกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นมึงทำไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136
แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตำรวจกำลังนั่งรับประทานอาหารกับภรรยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จำเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้ จำเลยจึงกล่าวว่า “กูจะเอามึงให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นเวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 136
ข้อ 2 อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ
อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2 ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3 แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4 เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
5 โดยเจตนา
ให้ หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป
ขอให้ หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
รับว่าจะให้ หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ
สำหรับสิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน สร้อย แหวน นาฬิกา รถยนต์ หรือ “ประโยชน์อื่นใด” นอกจากทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น
การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ในเรื่องเจตนา ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ
(ก) ให้กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด
(ข) ไม่กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทำ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน
ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144
นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม
แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ) ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ (ฎ.439/2469)
ข้อ 3 กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน 20 คน ไม่พอใจคำสั่งของนายจ้าง จึงมั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน ส่งเสียงเอะอะตึงตัง ตีปี๊บ จุดประทัด ชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจ รีบปิดบ้านและห้างร้าน รีบหนีกันอลหม่าน ดังนี้ กรรมกรดังกล่าวมีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 215 วรรคแรก ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 มั่วสุมกัน
2 ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
3 ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
4 โดยเจตนา
“มั่วสุมกัน” หมายถึง เข้ามารวมกัน เข้ามาชุมนุมกัน โดยการเข้ามารวมกันนี้ไม่จำต้องมีการนัดหมายหรือตกลงกันมาก่อนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการเข้ามามั่วสุมกันนี้กฎหมายกำหนดให้มีบุคคลจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ถ้าไม่ถึง 10 คน ก็ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดตามมาตรานี้
และการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปนั้น จะต้องมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปอีก จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ คือ ต้องมีการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทำไปโดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน 20 คน ได้มั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน ส่งเสียงเอะอะตึงตัง ตีปี๊บ จุดประทัด จนชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจรีบปิดบ้าน ปิดห้างร้าน และรีบหนีกันอลหม่าน การกระทำของกรรมกร 20 คนดังกล่าว ถือเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทำไปโดยเจตนา การกระทำของกรรมกร 20 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรกทุกประการ ดังนั้น กรรมกรดังกล่าวจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
สรุป กรรมกรดังกล่าวมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215
ข้อ 4 จำปีให้จำปูนกู้เงินไป 20,000 บาท โดยมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ไว้ ต่อมาจำปูนไม่ชำระเงินภายในกำหนดที่ตกลงกัน จำปีจึงทำสำเนาสัญญากู้ขึ้นฉบับหนึ่งมีใจความว่าจำปูนกู้เงินจำปีไป 20,000 บาท และเขียนชื่อจำปูนในช่องผู้กู้ เขียนชื่อจำปีในช่องผู้ให้กู้ กับเขียนชื่อบุคคลอีก 2 คนในช่องพยาน โดยจำปีลงนามรับรองสำเนาสัญญากู้นั้นว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง แล้วจำปีนำสำเนาสัญญากู้นั้นไปฟ้องต่อศาลเรียกเงิน 20,000 บาทจากจำปูน โดยแนบสำเนาสัญญากู้นั้นมาท้ายฟ้อง และบรรยายในฟ้องว่าต้นฉบับสูญหายไป จำปูนให้การปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญากู้ให้แก่จำปีไว้เลย ในชั้นสืบพยานจำปีได้อ้างสำเนากู้ฉบับนั้นเป็นพยานด้วย ดังนี้ การกระทำของจำปีมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดบ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำปีได้รับรองสำเนาสัญญากู้ที่ตนเองทำขึ้นว่าถูกต้องทั้งๆที่ต้นฉบับสัญญากู้ที่แท้จริงไม่มีนั้น ถือเป็นการปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว เมื่อจำปีได้กระทำไปโดยมีเจตนา จึงถือเป็นการปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก และเมื่อสัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำปีจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265
และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำปีได้นำสำเนาสัญญากู้นั้นไปยื่นฟ้องศาล และได้อ้างสำเนาสัญญากู้ฉบับนั้นเป็นพยานในชั้นสืบพยาน การกระทำของจำปีจึงถือเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา 268 ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏว่าจำปีเป็นทั้งผู้ปลอม และใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ลงโทษตามมาตรา 268 เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง
สรุป การกระทำของจำปีมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 และมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 268 เพียงกระทงเดียว