การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ดำเห็นคนร้ายแปลกหน้า 2 คน รุมทำร้ายขาว ดำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจกับ ร.ต.อ.ขยัน พนักงานสอบสวนว่า ตนเองเห็นคนร้าย 3 คน ไม่รู้จักชื่อรุมทำร้ายขาว ดังนี้ ดำจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญาตามมาตรา 172 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2 เกี่ยวกับความผิดอาญา
3 แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
4 ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
5 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดำได้เห็นคนร้ายแปลกหน้า 2 คน รุมทำร้ายขาว แต่ดำได้ไปแจ้งความว่า ตนเองเห็นคนร้าย 3 คน ซึ่งเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ และการแจ้งความว่ามีการรุมทำร้าย ถือว่าเป็นการแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา การแจ้งความเท็จเกี่ยวกับคดีอาญาดังกล่าวได้แจ้งแก่พนักงานสอบสวน คือ ร.ต.อ.ขยัน อีกทั้งการแจ้งความเท็จนี้ลักษณะของการกระทำอาจจะทำให้ผู้อื่นเสียหายได้ตามความรู้สึกของวิญญูชนและได้กระทำโดยเจตนา ดังนั้นการกระทำของดำจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวทุกประการ ดำจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172
สรุป ดำมีความผิดฐานแจ้งความเท็จคดีอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 172
ข้อ 2 หนึ่งไปแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.สอง พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ร.ต.อ.สองไม่ยอมรับแจ้งความของหนึ่ง เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่ง ร.ต.อ.สองจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กับ ร.ต.อ.สอง พนักงานสอบสวน แต่ ร.ต.อ.สองไม่ยอมรับแจ้งความของหนึ่ง เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่งนั้น เมื่อ ร.ต.อ.สองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยการไม่ยอมรับแจ้งความร้องทุกข์ของหนึ่ง เพราะเหตุไม่ชอบขี้หน้าหนึ่ง ถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้หนึ่งเกิดความเสียหาย และได้กระทำไปโดยมีเจตนา การกระทำของ ร.ต.อ.สองจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ร.ต.อ.สองจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
สรุป ร.ต.อ.สองมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ข้อ 3 ชาย 15 คน ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดกล่าวโจมตีและขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นได้เผาศาลลากลางและขู่ว่าถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ย้ายออกจากพื้นที่จะฆ่าให้ตาย ต่อมาความทราบถึงตำรวจ ตำรวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัว ปรากฏว่าชาย 15 คน ไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ ชาย 15 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 215 วรรคแรก ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
2 ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
3 โดยเจตนา
ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป
2 ผู้ใดไม่เลิก
3 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชาย 15 คน ได้ชุมนุมกันที่ศาลากลางจังหวัดและได้เผาศาลากลาง อีกทั้งได้ขู่ว่าจะฆ่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น การกระทำของชาย 15 คนดังกล่าว ถือว่าเป็นการมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทำไปโดยเจตนา การกระทำของชาย 15 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก ทุกประการ ชาย 15 คนจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
การกระทำของชาย 15 คนไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก
สรุป ชาย 15 คนมีความผิดฐานมั่วสุมกันทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216
ข้อ 4 จำเลยมีรถยนต์หนึ่งคันหมายเลขทะเบียน ก. 1234 ปรากฏว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของจำเลยหลุดหายไป จำเลยได้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวคนข้างบ้านหมายเลขทะเบียน ข. 5678 จากนั้นนำมาติดท้ายรถยนต์ของจำเลย ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ออกขับขี่ ท้ายที่สุดถูกตำรวจจับ ข้อเท็จจริงได้ความว่า แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่ทางราชการออกให้จริง ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยถอดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายขาวนำมาติดท้ายรถยนต์ของจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด และจำเลยไม่ได้เติม ตัดทอน หรือแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริง รวมทั้งจำเลยไม่ได้ประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารแต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร
สรุป จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร