ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ร้อยตำรวจตรีแดงออกตรวจท้องที่พบเห็นนายดำฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ร้อยตำรวจตรีแดงไม่ยอมจับกุมนายดำ นายเขียวจึงยื่นเงินให้ร้อยตำรวจตรีแดง 5,000 บาท เพื่อให้จับ ร้อยตำรวจตรีแดงรับเงินมาแล้วจึงจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี ดังนี้ ร้อยตำรวจตรีแดงมีความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ตามมาตรา 149 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
2 เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3 เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4 โดยเจตนา
เรียก หมายถึง การที่เจ้าพนักงานฯแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้
รับ หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว
ยอมจะรับ หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ
การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
(ก) เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
(ข) เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวยื่นเงิน 5,000 บาท ให้ร้อยตำรวจตรีแดง เพื่อให้จับนายดำ และร้อยตำรวจตรีแดงรับเงินแล้วจับกุมนายดำส่งสถานีตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง และได้กระทำโดยเจตนา ดังนั้น การกระทำของร้อยตำรวจตรีแดงจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 แม้ว่าการจับกุมนายดำจะชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม
สรุป ร้อยตำรวจตรีแดงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149
ข้อ 2 นายประทาน แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัย ข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัยแต่ประการใด โดยนายประทานก็รู้ ดังนี้ นายประทานมีความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมฐานใด หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 173 ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 173 นี้แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้ คือ
1 รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
2 แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา
3 ว่าได้มีการกระทำผิด
4 โดยเจตนา
ความผิดฐานแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้หมายความถึงการแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ในกรณีที่ความผิดอาญาไม่ได้เกิดขึ้นเลย แต่แจ้งว่าความผิดนั้นได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคดีอาญา ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องปรับตามบทมาตรา 172 มิใช่มาตรา 173 นี้
การแจ้งข้อความต่อเจ้าพนักงานตามมาตรา 173 นี้หมายความถึงเจ้าพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นใดนอกจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
การแจ้งตามมาตรา 173 นี้ อาจจะเสียหายแก่ใครหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะไม่ใช่องค์ประกอบแห่งความผิด เมื่อแจ้งโดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิดแล้ว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จ ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องได้กระทำโดยมีเจตนาด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายประทานแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัย ทั้งๆที่รู้ว่าไม่มีคนร้ายลักทรัพย์ที่บ้านของนายชัยแต่ประการใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายประทานรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่ไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น และได้กระทำไปโดยมีเจตนา การกระทำของนายประทานจึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ ดังนั้น นายประทานจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
สรุป นายประทานมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 173
ข้อ 3 นายสิงห์เช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัท ไทยเจริญ โดยสัญญาเช่าซื้อมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี หลังจากเช่าซื้อไปได้ 1 เดือน นายสิงห์เกิดความไม่พอใจในรถยนต์ นายสิงห์ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์ จากนั้นก็จุดไฟโยนลงไป ปรากฏว่าไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน ดังนี้ นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 217 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 วางเพลิงเผา
2 ทรัพย์ของผู้อื่น
3 โดยเจตนา
วางเพลิงเผา หมายถึง การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม เช่น ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ เป็นต้น
การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา “ทรัพย์ของผู้อื่น” เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น กล่าวคือ ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องกระทำ “โดยเจตนา” คือ มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์ และจุดไม้ขีดไฟโยนลงไปจนไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคันนั้น ถือได้ว่าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้นกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระราคาครบถ้วน เมื่อนายสิงห์ยังชำระราคาไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังเป็นของบริษัท ไทยเจริญ ซึ่งถือว่าเป็นของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อนายสิงห์ได้กระทำไปโดยมีเจตนา นายสิงห์จึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217
สรุป นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา 217
ข้อ 4 นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย ก นาย ก ได้ทำสัญญากู้ขึ้นมาเพื่อจะนำไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง โดยในสัญญากู้มีข้อความว่า “นายแดงกู้ยืมเงินจากนาย ก จำนวน 100,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี” ปรากฏว่า ในสัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้ลงชื่อนายแดงผู้กู้แต่ประการใด ต่อมานาย ก ทำเอกสารนี้หายไป จำเลยเก็บได้ จำเลยทำการเซ็นชื่อ “นายแดง” ลงในช่องผู้กู้ ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยทำการเซ็นชื่อ “นายแดง” ลงในช่องผู้กู้ในสัญญาที่ยังไม่ได้ลงชื่อนายแดงผู้กู้นั้น ถือได้ว่าเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร และการกระทำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก
และเมื่อเอกสารที่จำเลยปลอมคือสัญญากู้นั้น ถือว่าเป็นเอกสารสิทธิ ดังนั้นจำเลยจึงต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 265
สรุป จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265