ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ (มาตรา 144) จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ
อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2 ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3 แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4 เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
5 โดยเจตนา
ให้ หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทำได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป
ขอให้ หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงจะรับเงินก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
รับว่าจะให้ หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทำก็รับปากกับเจ้าพนักงานว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสำเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นจะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ
สำหรับสิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน สร้อย แหวน นาฬิกา รถยนต์ หรือ “ประโยชน์อื่นใด” นอกจากทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถยนต์โดยไม่เสียค่าเช่าหรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น
การกระทำตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทำต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้นและบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทำต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจหน้าที่หรือพ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ในเรื่องเจตนา ผู้กระทำจะต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทำไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ
(ก) ให้กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตำรวจจับกุมคนที่ไม่ได้กระทำความผิด
(ข) ไม่กระทำการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตำรวจจะจับกุมผู้กระทำผิด จึงให้เงินแก่ตำรวจนั้นเพื่อไม่ให้ทำการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทำ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน
ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันชอบด้วยหน้าที่แล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจไม่จับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย จำเลยให้เงินตำรวจเพื่อให้ทำการจับกุม กรณีจำเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สินมีมูลเหตุจูงใจให้กระทำการอันชอบด้วยหน้าที่
ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144
นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตอบตกลงตามที่นายแดงเสนอแต่อย่างใด เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อื่นใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 แม้ว่าเจ้าพนักงานนั้นจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม
แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจำเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกบุตรสาวของตนให้กับ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง (เบิกความเท็จ) ดังนี้นายแดงไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ (ฎ.439/2469)
ข้อ 2 อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ
อธิบาย
มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4 โดยเจตนา
เป็นเจ้าพนักงาน หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้
ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทำ “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว
โดยเจตนา หมายความว่า ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ
(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่
3 โดยทุจริต
4 โดยเจตนา
โดยทุจริต หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็น
ความผิดตามมาตรานี้
ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด
ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว มิได้นำเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ข้อ 3 นายสิงห์เช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัทไทยเจริญ โดยสัญญาเช่าซื้อมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี หลังจากเช่าซื้อไปได้ 1 เดือน นายสิงห์เกิดความไม่พอใจในรถยนต์ นายสิงห์ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์จากนั้นก็จุดไม้ขีดไฟโยนลงไป ปรากฏว่าไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน ดังนี้ นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 217 ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 217 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 วางเพลิงเผา
2 ทรัพย์ของผู้อื่น
3 โดยเจตนา
วางเพลิงเผา หมายถึง การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม เช่น ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ เป็นต้น
การทำให้เพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เช่น เจตนาจะเผาบ้านทั้งหลัง แต่ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านเพียงครึ่งหลังเพราะผู้เสียหายดับทัน กรณีเป็นความผิดสำเร็จแล้วมิใช่เพียงขั้นพยายาม แต่อย่างไรก็ตามหากยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น
การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา “ทรัพย์ของผู้อื่น” เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น กล่าวคือ ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด
นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องกระทำโดยเจตนา คือ มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์ได้เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทไทยเจริญ โดยสัญญาเช่าซื้อมีกำหนดระยะเวลา 4 ปีนั้น เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กรรมสิทธิ์ในรถ ยนต์จะโอนไปยังนายสิงห์ก็ต่อเมื่อนายสิงห์ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อ คือบริษัทไทยเจริญครบตามที่ตกลงกันแล้ว ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสิงห์ได้เช่าซื้อไปได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น ยังชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวจึงยังคงเป็นของบริษัทไทยเจริญ
การที่นายสิงห์ได้ใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์ จากนั้นก็จุดไม้ขีดไฟโยนลงไปทำให้ไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหาย การกระทำของนายสิงห์ถือว่าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของบริษัทไทยเจริญซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้อื่น และกระทำโดยเจตนา จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานวางเพลิงตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ ดังนั้นนายสิงห์จึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตาม ป.อาญา มาตรา 217
สรุป นายสิงห์มีความผิดฐานวางเพลิงตาม ป.อาญา มาตรา 217
ข้อ 4 นางสาว ข หลงรักนาย ก แต่นาย ก ไม่ได้รักด้วย วันเกิดเหตุนางสาว ข ฉุดนาย ก ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย จากนั้นได้กระทำชำเรานาย ก โดยที่นาย ก ไม่ได้สมัครใจ ดังนี้ นางสาว ข มีความผิดเกี่ยวกับเพศหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 276 วรรคแรก ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 วรรคแรก มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ
1 ข่มขืนกระทำชำเรา
2 ผู้อื่น
3 โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
4 โดยเจตนา
และตามมาตรา 276 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น” คำว่า “ผู้ใด” ตามนัยของมาตรานี้ กฎหมายมิได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นชายหรือหญิง ดังนั้นผู้กระทำที่จะมีความผิดตามมาตรานี้ อาจจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้
ข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง การบังคับจิตใจ หรือกระทำโดยผู้อื่นไม่สมัครใจ ถ้าผู้อื่นนั้นสมัครใจร่วมประเวณี ก็ไม่ถือว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา ส่วน “ผู้อื่น” นั้นจะเป็นบุคคลเพศใดก็ได้ แม้แต่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายก็ถือว่าเป็นผู้อื่น ตามนัยมาตรานี้เช่นเดียวกัน
การข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำต้องมีเจตนา ตามมาตรา 59 และการข่มขืนนั้นกระทำในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(ก) โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ
(ข) โดยใช้กำลังประทุษร้าย
(ค) โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้
(ง) โดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาว ข ฉุดนาย ก ไปโดยใช้กำลังประทุษร้าย และได้กระทำชำเรานาย ก โดยนาย ก ไม่ได้สมัครใจ และแม้จะเป็นกรณีที่หญิงข่มขืนกระทำชำเราชายก็ตาม เมื่อนางสาว ข ได้กระทำโดยเจตนา การกระทำของนางสาว ข จึงครบองค์ประกอบความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ ดังนั้นนางสาว ข จึงมีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา 276 วรรคแรก
สรุป นางสาว ข มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคแรก