การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  (มาตรา  137)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

อธิบาย 

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

 

ข้อ  2  ร.ต.อ.ประจักษ์  พนักงานสอบสวน  สอบสวนนายกระสือผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์  นายกระสือไม่รับสารภาพพูดจากวนประสาท ร.ต.อ.ประจักษ์โกรธจึงตบที่กกหูและต่อยที่ท้องของนายกระสือ  พร้อมทั้งพูดว่ามึงจะรับหรือไม่รับ  เดี๋ยวโดนอีกชุด  รับสารภาพซะ  จะเจ็บตัวทำไม  ดังนี้  ร.ต.อ.ประจักษ์จะมีความผิดอาญาฐานใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

 มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา  157  มีองค์ประกอบความผิดดังนี้  คือ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด”  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆ  จึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.อ.ประจักษ์  พนักงานสอบสวน  ทำการสอบสวนนายกระสือผู้ต้องหาคดีลักทรัพย์  แต่นายกระสือไม่รับสารภาพและพูดจากวนประสาท  ทำให้  ร.ต.อ.ประจักษ์โกรธจึงได้ใช้กำลังชกต่อยและพูดจาข่มขู่ให้นายกระสือรับสารภาพนั้น  ถือได้ว่า ร.ต.อ.ประจักษ์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายกระสือ  และได้กระทำไปโดยมีเจตนา  การกระทำของ  ร.ต.อ.ประจักษ์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้นทุกประการ  ดังนั้น  ร.ต.อ.ประจักษ์จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  157

สรุป  ร.ต.อ.ประจักษ์  มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  157

 

ข้อ  3  นายแก้วโกรธภริยา  จึงวางเพลิงเผาแพที่อยู่อาศัยของตนเอง  เพลิงลุกไหม้และลุกลามกำลังจะไหม้ถึงแพของคนอื่นที่อยู่ติดกัน แต่บังเอิญชาวบ้านเห็นเข้าจึงช่วยกันดับทัน  เพลิงจึงไหม้แต่แพของนายแก้ว  ดังนี้  นายแก้วมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก  เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  218  ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  218

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

และความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  ตามมาตรา  220  วรรคแรก  มีองค์ประกอบความผิด  ดังนี้

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง

3       จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

กระทำให้เกิดเพลิงไหม้  หมายถึง  เผาวัตถุใดๆให้ลุกไหม้ขึ้นมา  ซึ่งถ้าเพลิงยังไม่ลุกไหม้ขึ้นมา  ก็ไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น  จึงไม่ผิดตามมาตรานี้

แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  หมายถึง  กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุ  ซึ่งวัตถุในที่นี้อาจจะเป็นทรัพย์ก็ได้  หรือไม่ใช่ทรัพย์ก็ได้  เป็นวัตถุของใครก็ได้  หรือเป็นวัตถุที่ไม่มีเจ้าของก็ได้  และแม้ว่าวัตถุนั้นจะเป็นของตนเองก็ตาม

จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  หมายถึง  พฤติการณ์ของการกระทำไม่ใช่ผลของการกระทำ  กล่าวคือ  เพียงแต่มีเจตนากระทำให้เกิดเพลิงไหม้ แก่วัตถุ  และเพลิงไหม้นั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่นก็เป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแก้วโกรธภริยาจึงได้วางเพลิงเผาแพที่อยู่อาศัยของตนเอง  จนเกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นโดยเจตนา  และกำลังลุกลามไปไหม้แพของคนอื่นที่อยู่ติดกันนั้น  นายแก้วไม่มีความผิดตามมาตรา  217  เพราะไม่ได้เป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายแก้วได้กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุแม้เป็นของตนเองโดยเจตนา  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น  ดังนั้นการกระทำของนายแก้วจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  220  วรรคแรก  นายแก้วจึงมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  อันเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าทรัพย์ของผู้อื่นนั้นจะเป็นแพที่คนอยู่อาศัย  ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ระบุไว้ในมาตรา  218  ก็ตาม  แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการกระทำของนายแก้วดังกล่าวได้ทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่แพที่อยู่อาศัยของคนอื่นแต่อย่างใด  นายแก้วจึงไม่มีความผิดตามมาตรา  220  วรรคสอง

สรุป  นายแก้วไม่มีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตามมาตรา  217  แต่มีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุฯ  ตามมาตรา 220  วรรคแรก

 

ข้อ  4  นายแดงไม่เคยกู้เงินนาย  ก  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  นำกระดาษแผ่นหนึ่ง  เขียนข้อความว่า  นายแดงกู้เงินนาย  ก  100,000  บาท  จากนั้น  ได้เซ็นชื่อนายแดงในช่องผู้กู้  ต่อมานาย  ก  ทำเอกสารฉบับนั้นหายไป  จำเลยเป็นคนเก็บได้  จำเลยแก้ไขข้อความคำว่า  นาย  ก  เป็นคำว่า  จำเลย  ข้อความจึงกลายเป็นว่า  นายแดงกู้เงินจำเลย  100,000  บาท  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  นำกระดาษมาเขียนสัญญากู้ขึ้นเอง  โดยที่นายแดงไม่เคยกู้เงินจากนาย  ก  เลยนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  เอกสารการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

และการที่จำเลยเก็บเอกสารฉบับนั้นได้  และได้แก้ไขข้อความจากคำว่า  นาย  ก  เป็นคำว่า  จำเลยนั้น  ถึงแม้จำเลยจะไม่มีอำนาจที่จะกระทำก็ตาม  แต่การแก้ไขของจำเลยดังกล่าวเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่มีการปลอมมาก่อน  ซึ่งกรณีจะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้นั้นจะต้องเป็นการแก้ไขข้อความในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้น  ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  265

เมื่อจำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ถึงแม้จำเลยจะนำเอกสารดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากนายแดง  จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้เอกสารปลอมตามมาตรา  268

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Advertisement