การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

Advertisement

ข้อ  1  ดำขับรถยนต์มาทำธุระที่เขตบางกะปิ  รถยนต์ติดไฟแดงนานมากดำอารมณ์เสีย  พอรถยนต์แล่นถึงสี่แยกพบ  จ.ส.ต.เฉย  ตำรวจจราจรยืนโบกมือให้สัญญาณปล่อยรถ  ดำชะลอรถแล้วพูดใส่หน้า  จ.ส.ต.เฉย  ว่า  ไอ้ถ่อย  ไอ้เถื่อน  ปล่อยรถยังกะควายกินหญ้า”  ดำมีความผิดอาญาอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำพูดใส่หน้า  จ.ส.ต.เฉยว่า  ไอ้ถ่อย”  เป็นคำพูดที่ดูถูก  เหยียดหยาม  จ.ส.ต.เฉย  ถือเป็นการดูหมิ่น  ส่วนคำพูดที่ว่า  ไอ้เถื่อน ปล่อยรถยังกะควายกินหญ้า” กรณีถือเป็นเพียงคำพูดที่ไม่สุภาพ  ไม่ให้เกียรติ  ไม่สมควร  แต่ไม่เป็นการดูหมิ่น

เมื่อการกระทำของดำเป็นการพูดดูหมิ่น  จ.ส.ต.เฉย  เจ้าพนักงานตำรวจจราจรในขณะที่กำลังปฏิบัติหน้าที่จราจร  อันเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  การกระทำของดำครบองค์ประกอบความผิดตามหลักกฎหมายข้างต้นทุกประการ  ดำจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา  136

สรุป  ดำจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา  136

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  โดยทุจริต (มาตรา  157)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดอยู่  2  ความผิดด้วยกัน  กล่าวคือ  ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่  อันเป็นการมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น  ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่  ก็ไม่ผิดตามมาตรา  157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

3       โดยทุจริต

4       โดยเจตนา

โดยทุจริต  หมายถึง  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม  และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่  ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย  แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว  มิได้นำเงินลงบัญชี  ทั้งมิได้ดำเนินการให้  ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ  3  จำเลยกับนาย  ก  ไม่ถูกกันมาก่อน  วันเกิดเหตุจำเลยขับรถไปตามถนนเห็นรถของนาย  ก  จอดอยู่  จำเลยจึงขับรถไปจอดใกล้กับรถยนต์ของนาย  ก  โดยมีระยะห่างประมาณครึ่งเมตร  จำเลยต้องการที่จะเผารถยนต์ของนาย  ก  แต่แทนที่จะเทน้ำมันราดไปที่รถของนาย ก  จำเลยกลับเทน้ำมันราดไปที่รถของจำเลยเอง  จากนั้นจุดไม้ขีดไฟแล้วโยนลงไป  ปรากฏว่าไฟได้ไหม้รถของจำเลย  แล้วลุกลามไปไหม้รถของนาย  ก  เสียหายบางส่วน  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆแม้เป็นของตนเอง  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  เช่น  ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา  ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น  หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ  เป็นต้น

การทำให้เพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว  เช่น  เจตนาจะเผาบ้านทั้งหลัง  แต่ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านเพียงครึ่งหลังเพราะผู้เสียหายดับทัน  กรณีเป็นความผิดสำเร็จแล้วมิใช่เพียงขั้นพยายาม  แต่อย่างไรก็ตามหากยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา  ทรัพย์ของผู้อื่น  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  กล่าวคือ  ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย  ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย  ก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องกระทำโดยเจตนา  คือ  มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น  และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น  ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา  เช่น  วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การที่จำเลยจุดไฟเผารถของตนเองได้รับความเสียหายนั้น  แม้จะมีเจตนาเผารถของนาย  ก  (ผู้อื่น)  การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  217  เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิดคำว่า  ทรัพย์ของผู้อื่น 

(ฎ.389/2483)

อย่างไรก็ดี  การที่จำเลยจุดไฟเผารถของตนเอง  โดยมีเจตนาจะเผารถของนาย  ก  การเผารถของตนก็เพื่อให้ไฟลามไปไหม้รถของนาย  ก  ด้วย  ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาที่จะเผารถของนาย  ก  โดยตรง  เมื่อไฟได้ไหม้รถของนาย  ก  ได้รับความเสียหาย  การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา  217  ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของนาย  ก

การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา  220  เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา  220  หมายถึงว่าผู้กระทำมีเจตนาทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ  แม้เป็นของตนเอง  ซึ่งน่าจะเกิดอันตราย  จึงเห็นได้ชัดว่าผู้กระทำต้องไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยตรง  แต่กรณีตามอุทาหรณ์จำเลยประสงค์ที่จะเผารถของนาย  ก  โดยตรง  ต้องการให้รถของนาย  ก  ไฟไหม้ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  217  มิใช่มาตรา  220

สรุป

1       กรณีไฟไหม้รถของนาย  ก  การกระทำของจำเลยมีความผิดตามมาตรา  217

2       กรณีไฟไหม้รถของจำเลย  การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา  217

 

ข้อ  4  นายนพพงษ์เอานามบัตรที่พิมพ์ชื่อของพลตำรวจตรีขัตติยะมากรอกข้อความว่า  ผู้ถือนามบัตรนี้เป็นพรรคพวกกันขอให้ช่วยอนุเคราะห์ด้วย  เพื่อจะนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ทั้งนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากพลตำรวจตรีขัตติยะ  ดังนี้  นายนพพงษ์มีความผิดฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมเอกสารโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่นายนพพงษ์กรอกข้อความลงบนนามบัตรที่พิมพ์ชื่อ  พล.ต.ต.ขัตติยะ  ถือเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ  เพราะข้อความในเอกสารนั้นแสดงว่า  พล.ต.ต.ขัตติยะ  เป็นผู้เขียน  แต่ความจริงแล้วนายนพพงษ์เป็นผู้เขียน  จึงเป็นลักษณะของเอกสารปลอม  ซึ่งการกระทำของนายนพพงษ์เป็นการน่าจะเกิดความเสียหายแก่  พลต.ต.ต.ขัตติยะ  และเป็นการกระทำโดยเจตนา  ประกอบกับการที่ปลอมเอกสารก็เพื่อที่จะนำไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการติดต่อราชการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  อันเป็นเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  การกระทำของนายนพพงษ์จึงเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดโดยครบถ้วน  อันเป็นการกระทำผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

สรุป  การกระทำของนายนพพงษ์เป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก

Advertisement