ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 สิบตำรวจตรีดำออกตรวจท้องที่พบเห็นนายขาวฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่สิบตำรวจตรีดำไม่ยอมจับกุมนาย ก จึงยื่นเงินให้สิบตำรวจดำ 10,000 บาท เพื่อให้จับสิบตำรวจตรีดำรับเงินมาแล้วจึงจับกุมนายขาวส่งสถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี ดังนี้ สิบตำรวจตรีดำมีความผิดเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ เพราะเหตุใด
มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกนิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้น จะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบน ตามมาตรา 149 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
2 เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
3 เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
4 โดยเจตนา
เรียก หมายถึง การที่เจ้าพนักงานฯแสดงเจตนาให้บุคคลอื่นส่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้
รับ หมายถึง การที่บุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯได้รับเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นไว้แล้ว
ยอมจะรับ หมายถึง การที่บุคคลอื่นเสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงานฯ และเจ้าพนักงานฯ ตกลงยอมจะรับในขณะนั้นหรือในอนาคต แต่ยังไม่ได้รับ
การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
(ก) เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
(ข) เพื่อไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่
การที่นาย ก ยื่นเงิน 10,000 บาท ให้สิบตำรวจตรีดำ เพื่อให้จับนายขาวและสิบตำรวจตรีรับเงินแล้ว จับกุมนายขาวส่งสถานีตำรวจถือได้ว่าเป็นการรับทรัพย์สินเพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ซึ่งได้กระทำโดยเจตนา การกระทำของสิบตำรวจตรีดำจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149 แม้ว่าการจับกุมนายขาวจะชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม
สรุป สิบตำรวจตรีดำมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับสินบนตามมาตรา 149
ข้อ 2 นางแดงลักทรัพย์ของนายเขียว นายเขียวจึงฟ้องนางแดง แต่แทนที่จะฟ้องนางแดงว่าลักทรัพย์กลับฟ้องต่อศาลว่านางแดงชิงทรัพย์ ในชั้นพิจารณาของศาลนายเขียวได้อ้างตนเองเป็นพยานและเข้าเบิกความต่อศาลว่านางแดงชิงทรัพย์ของตน ดังนี้ นายเขียวมีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 175 ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นจริง ต้องระวางโทษ
มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายเขียวมีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามมาตรา 175 สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 เอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาล
2 ว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง
3 โดยเจตนา
นางแดงลักทรัพย์นายเขียว แต่นายเขียวฟ้องนางแดงต่อศาลว่าชิงทรัพย์จึงเป็นการเอาข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงกว่าที่เป็นจริง กล่าวคือ ความผิดอาญาฐานชิงทรัพย์เป็นการกระทำลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกายมีโทษหนักกว่าความผิดฐานลักทรัพย์ และได้กระทำโดยมีเจตนา นายเขียวจึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามมาตรา 175 เพราะการกระทำของนายเขียวครบองค์ประกอบความผิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การที่นายเขียวเบิกความต่อศาลในฐานะพยานว่า นางแดงชิงทรัพย์ของตนนั้น จะมีความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล ตามมาตรา 177 วรรคสอง ประกอบด้วย
1 เบิกความอันเป็นเท็จ
2 ในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล
3 ความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี
4 โดยเจตนา
การที่นายเขียวได้อ้างตนเป็นพยานและเข้าเบิกความต่อศาลว่านางแดงชิงทรัพย์ของตน จึงเป็นการให้ถ้อยคำแก่ศาลในการพิจารณาคดีอาญาในฐานะพยาน ซึ่งข้อความที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถือได้ว่าเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ เมื่อความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เพราะเป็นข้อความที่อาจมีน้ำหนักในการวินิจฉัยคดีของศาลหรือข้อความในประเด็นที่อาจทำให้คดีแพ้หรือชนะและนายเขียวรู้ว่าความที่จะเบิกนั้นเป็นเท็จด้วย ถือได้ว่ามีเจตนากระทำผิด ดังนั้นนายเขียวจึงมีความผิดอาญาฐานเบิกความเท็จในคดีอาญา ตามมาตรา 177 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่งด้วย
สรุป นายเขียวมีความผิดฐานฟ้องเท็จ ตามมาตรา 175 และมีความผิดฐานเบิกความเท็จคดีอาญา ตามมาตรา 177 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่ง
ข้อ 3 นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่และเด็กชายห้า อายุ 10 ปี ได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าจะไปปล้นทรัพย์ที่บ้านนายดี นายสองคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการกระทำครั้งนี้ และไม่ไปบ้านนายดีในวันนัด ส่วนหนึ่ง นายสาม นายสี่ และเด็กชายห้าได้ไปปล้นทรัพย์ตามแผนการดังกล่าว ดังนี้ บุคคลทั้งห้ามีความผิดอาญาฐานใดบ้าง
ธงคำตอบ
มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 210 วรรคแรก ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นซ่องโจร ตามมาตรา 210 วรรคแรก แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 สมคบกัน
2 ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3 เพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4 โดยเจตนา
การสมคบกัน ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทำความผิด
ดังนั้นถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปย่อมไม่ถือว่าเป็นการสมคบกัน เช่น ก ข ค ง และ จ ทั้ง 5 คน ได้ประชุมปรึกษากันแล้ว แต่ไม่ตกลงว่าจะกระทำความผิด กรณีนี้ไม่ถือว่า “สมคบกัน”
การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร เช่น ปรึกษาหารือกัน 5 คน แต่ปรากฏว่ามีการคบคิดและตกลงปลงใจร่วมกันที่จะกระทำความผิดเพียง 4 คน ดังนี้ยังไม่ถือว่าผิดฐานซ่องโจรเพราะเป็นการสมคบกันเพียง 4 คนเท่านั้น
เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 หมายความว่า ความผิดนั้นต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย เป็นต้น
ความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งขึ้นไป หมายความว่า เป็นอัตราโทษอย่างสูงที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทำความผิดทั้งนี้จะต้องมีกำหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย
โดยเจตนา หมายความว่า รู้สำนึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทำนั้นมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่
ตามอุทธาหรณ์ บุคคลทั้งห้าได้ปรึกษาหารือกันจะไปปล้นทรัพย์ที่บ้านนายดี แต่นายสองคัดค้านไม่เห็นด้วยและไม่ยอมไปในวันนัด แสดงว่านายสองไม่ได้ตกลงด้วยกับอีก 4 คน จึงไม่เรียกว่าร่วมสมคบด้วย เพราะคำว่าสมคบในความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 นั้นหมายความว่ามีบุคคลหลายคนร่วมปรึกษาหารือและตกลงกันเพื่อจะกระทำความผิด กรณีนี้ผู้ที่สมคบกันจึงมีเพียง 4 คน จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นซ่องโจร แต่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
ดังนั้น นายหนึ่ง นายสาม นายสี่และเด็กชายห้าไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 แต่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 ส่วนเด็กชายห้า ซึ่งมีอายุ 10 ปี แม้มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 73
นายสองไม่มีความผิดทางอาญาเพราะไม่ได้ร่วมสมคบและไม่ได้ทำการปล้นทรัพย์ด้วย
สรุป นายหนึ่ง นายสาม และนายสี่ ไม่มีความผิดฐานซ่องโจร แต่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ เด็กชายห้า ไม่มีความผิดฐานซ่องโจร มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ไม่ต้องรับโทษ นายสอง ไม่มีความผิดทางอาญา
ข้อ 4 จำเลยมีรถยนต์ 2 คัน คันที่หนึ่งหมายเลขทะเบียน ก. 1234 คันที่สองหมายเลขทะเบียน ก. 5678 ปรากฏว่ารถยนต์คันที่หนึ่งได้เสียภาษีรถยนต์แล้ว ส่วนคันที่สองยังไม่ได้เสียภาษี จำเลยนำแผ่นป้ายเสียภาษีรถยนต์คันที่หนึ่งไปถ่ายเอกสารภาพสี จากนั้นนำไปติดคันที่สอง จำเลยนำรถคันที่สองออกขับขี่ถูกตำรวจจับ ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ
มาตรา 268 ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
การที่จำเลยนำแผ่นป้ายเสียภาษีรถยนต์คันที่หนึ่งไปถ่ายเอกสารภาพสีจากนั้นนำไปติดคันที่สอง ถือได้ว่าเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยไม่มีอำนาจ เมื่อจำเลยนำไปติดคันที่สองเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น จำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก (ฎ.2463/2548)
เมื่อป้ายเสียภาษีรถยนต์เป็นเอกสารราชการ จำเลยจึงมีความผิดตามมาตรา 265
การที่จำเลยนำรถคันที่มีแผ่นป้ายภาษีปลอม อันเกิดจากการกระทำผิดตามมาตรา 265 ออกขับขี่โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถือได้ว่าเป็นการใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268
สรุป จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 265 และมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268