การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 137) ให้นักศึกษาอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ
แนวคำตอบ
หลักกฎหมายมีดังนี้
(1) แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
(2) แก่เจ้าพนักงาน
(3) ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
(4) เจตนา (นัย มาตรา 137)
ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต (มาตรา 157) ให้นักศึกษาอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ
แนวคำตอบ
ความผิดที่ 1
หลักกฎหมาย
(1) เป็นเจ้าพนักงาน
(2) ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
(3) เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
(4) เจตนา
ความผิดที่ 2
หลักกฎหมาย
(1) เป็นเจ้าพนักงาน
(2) ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
(3) โดยทุจริต
(4) เจตนา (นัย มาตรา 157)
ข้อ 3. นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และเด็กชายห้า อายุ 6 ขวบ ได้ประชุมปรึกษาหารือและตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้าโดยตกลงกันว่าจะเริ่มขายวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ปรากฏว่าวันที่ 1 ตุลาคม 2551 บุคคลทั้งห้าถูกตำรวจจับกุมเสียก่อน จงวินิจฉัยว่า บุคคลทั้งห้ามีความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบโดยละเอียด)
แนวคำตอบ
วางหลักกฎหมาย ป.อาญา มาตรา 210
แม้บุคคลทั้งห้าได้ประชุมปรึกษาหารือและตกลงใจร่วมกันที่จะขายยาบ้า ซึ่งถือว่าสมคบกันตั้งแต่ห้าคนแล้วก็ตาม แต่ความผิดที่จะกระทำนั้นไม่ได้บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพราะการขายยาบ้าอันเป็นยาเสพติดนั้นไม่ได้บัญญัติเป็นความผิดไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแต่ประการใด บุคคลทั้งห้าจึงไม่มีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210
ข้อ 4. จำเลยเก็บธนบัตรปลอมฉบับละ 100 บาทได้ใบหนึ่ง โดยจำเลยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม จากนั้นจำเลยได้ตกแต่ง ดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท ดังนี้จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเงินตราหรือไม่ เพราะเหตุใด
แนวคำตอบ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือทำปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเงินตรา”
มาตรา 241 บัญญัติว่า “ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสำคัญสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตร นั้น ๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานแปลงเงินตรา”
กรณีตามตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยเก็บธนบัตรปลอมฉบับละ 100 บาท ได้ใบหนึ่ง ธนบัตรปลอมดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งของ เมื่อจำเลยได้ตกแต่ง แก้ไข เพิ่มเติม จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท จึงเป็นการเอาสิ่งของมาทำเทียมเพื่อให้เหมือนของจริงโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตราตามมาตรา 240
อนึ่ง การกระทำของจำเลยไม่มีความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241 เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241 จะต้องเป็นการตกแต่ง ดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ธนบัตรของจริง ให้มีมูลค่าสูงขึ้น แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำต่อธนบัตรปลอม จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ มาตรา 241
สรุป จำเลยมีความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240