การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ให้นักศึกษาเลือกทำคำตอบเพียงข้อเดียว โดยให้อธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป และยกตัวอย่างประกอบ
ก) อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (ตามมาตรา 136) หรือ
ข) อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ (มาตรา 137)
(ก) มาตรา 136 ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 136 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 ดูหมิ่น
2 เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
4 โดยเจตนา
“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือด่าแช่ง ต่อผู้ถูกกระทำ ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น “อ้ายเย็ดแม่” “ตำรวจชาติหมา” หรือด้วยกิริยาท่าทาง ก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม ก็เป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ได้
อย่างไรก็ดี ถ้อยคำบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ คำหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์ หรือคำโต้แย้ง คำกล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยามสบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น
การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ซึ่งก็คือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน
อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณีต่อไปนี้คือ
(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
“ซึ่งกระทำการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้
“เพราะได้กระทำการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 136
การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น โดยเจตนา ตามมาตรา 59 กล่าวคือ ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นว่า “มึงแกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นมึงทำไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจาพนักงาน ตามมาตรา 136
แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตำรวจกำลังนั่งรับประทานอาหารกับภรรยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จำเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้ จำเลยจึงกล่าวว่า “กูจะเอามึงให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นเวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามมาตรา 136
(ข) มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ
ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้ สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
2 แก่เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
4 โดยเจตนา
แจ้งข้อความ หมายถึง การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น อาจกระทำโดยวาจา โดยการเขียนเป็นหนังสือ หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้
ข้อความอันเป็นเท็จ หมายถึง ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง เช่น นาย ก ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว ข โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน ทั้งๆที่นาย ก มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว คือ นาง ค เช่นนี้เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้
การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137 นี้อาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ
(ก) ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง
(ข) โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้
อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว เช่น ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า บิดาเป็นไทย ความจริงเป็นจีน ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 137 นี้แล้ว
สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137 (ฎ. 1274/2513)
ส่วนในคดีอาญา ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่ (ฎ.1093/2522) แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น เช่น เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น
“แก่เจ้าพนักงาน” เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้ ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย เช่น นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้ ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
“ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย” การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า “อาจทำให้เสียหาย” จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือ ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามมาตรา 137
นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ นางโท หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ น.ส.ตรีอีก โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ซึ่งทั้งนางโทและ น.ส.ตรี ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส ซึ่งกระทำโดยเจตนา เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้ นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามมาตรา 137
แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส ดังนี้ การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ (ฎ.1237/2544)
ข้อ 2 อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต (มาตรา 157)
ธงคำตอบ
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ
อธิบาย
มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4 โดยเจตนา
เป็นเจ้าพนักงาน หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมายถึง การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้
ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทำ “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว
โดยเจตนา หมายความว่า ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ
(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
1 เป็นเจ้าพนักงาน
2 ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่
3 โดยทุจริต
4 โดยเจตนา
โดยทุจริต หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็น
ความผิดตามมาตรานี้
ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด
ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น
ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว มิได้นำเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดำเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ข้อ 3 กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน 20 คน ไม่พอใจคำสั่งของนายจ้าง จึงมั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน ส่งเสียงเอะอะตึงตัง ตีปิ๊บ จุดประทัด ชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจรีบปิดบ้านและห้างร้าน รีบหนีกันอลหม่าน ดังนี้ กรรมกรดังกล่าวมีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 215 วรรคแรก ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
ความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1 มั่วสุมกัน
2 ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
3 ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
4 โดยเจตนา
มั่วสุมกัน หมายถึง การชุมนุมกัน หรือมารวมกันซึ่งการมาชุมนุมกันนี้อาจเกิดขึ้น โดยนัดหมายกันมาก่อนหรือโดยมิได้นัดหมายกันก็ได้
การมั่วสุมกันที่จะเป้นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการมั่วสุมกัน “ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” ถ้าต่ำกว่า 10 คนย่อมไม่เป้นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ประการสำคัญก็คือผู้ที่มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนนั้นจะต้องมีการตกลงร่วมใจที่จะกระทำผิดด้วยกัน (ฎ.593/2492)
ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือวิธีอื่นใด และหมายความถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือวิธีอื่นอันคล้ายคลึงกัน
ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หมายถึง การแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจาว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เช่น ขู่ว่าจะต่อยเตะ หรือยิงให้ตาย เป็นต้น
การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หมายถึง การกกระทำทุกอย่างอันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง เช่น การชุมนุมส่งเสียงเอ็ดอึง เป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ
กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน 20 คน ซึ่งไม่พอใจคำสั่งของนายจ้างจึงมั่วสุมกัน ชุมนุมกัน ซึ่งเป็นการชุมนุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยมีเจตนาตกลงร่วมใจที่จะกระทำผิดด้วยกัน ส่งเสียงเอะอะตึงตัง ตีปิ๊บ จุดประทัดชาวบ้านร้านตลาดต่างตกใจรีบปิดบ้านและห้างร้าน รีบหนีกันอลหม่าน จึงเป็นการกระทำการอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว กรรมกรดังกล่าวจึงมีความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก
สรุป กรรมกรดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา 215 วรรคแรก
ข้อ 4 จำเลยมีรถยนต์ 2 คัน คันแรกหมายเลขทะเบียน ก 1234 คันที่สองหมายเลขทะเบียน ก 5678 ปรากฏว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์คันแรกหลุดหายไป จำเลยนำแผ่นเหล็กมาตัดให้มีขนาดและรูปร่างเท่ากับแผ่นป้ายทะเบียน จากนั้นใช้สีเขียนข้อความว่า “ก 1234” ลงบนแผ่นเหล็ก หลังจากเขียนเสร็จจึงนำแผ่นเหล็กมาติดไว้ท้ายรถยนต์คันแรก ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ออกขับขี่ถูกตำรวจจับ ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 264 วรรคแรก ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
การที่จำเลยนำแผ่นเหล็กมาตัดให้มีขนาดและรูปร่างเท่ากับแผ่นป้ายทะเบียน จากนั้นใช้สีเขียนข้อความว่า “ก 1234” ลงบนแผ่นเหล็ก การกระทำของจำเลยเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพราะเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ โดยมีเจตนาและได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แต่การกระทำของจำเลยไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เนื่องจากหมายเลขทะเบียนที่เขียนขึ้นเองนั้นตรงกับหมายเลขทะเบียนที่จำเลยนำไปติด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามมาตรา 264 วรรคแร
สรุป จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร