การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายเบี้ยวกู้ยืมเงินนายซื่อโดยทําสัญญากู้ยืมกันไว้ เมื่อถึงกําหนดชําระเงินตกลงกันไม่ได้ ทั้งคู่ จึงไปหา ร.ต.อ.สะอาด ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนให้ช่วยตัดสิน ร.ต.อ.สะอาดตัดสินให้นายเบี้ยว ใช้เงินคืนนายซื่อ นายเบี้ยวจึงด่า ร.ต.อ.สะอาดต่อหน้าว่า “ไอเย็ดแม่มึง มึงลําเอียงเข้าข้างไอ้ซื่อ ตัดสินไม่ยุติธรรม” ดังนี้ นายเบี้ยวมีความผิดต่อเจ้าพนักงานประการใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1 ดูหมิ่น
2 เจ้าพนักงาน
3 ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4 โดยเจตนา
“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือ ด่าแช่ง ต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอว่า “อ้ายเย็ดแม่” “ตํารวจชาติหมา” หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น
การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงาน อยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน
อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ
2 กรณี ต่อไปนี้คือ
(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่
ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือ เกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้
“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แล้ว
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเบี้ยวด่า ร.ต.อ.สะอาดต่อหน้าว่า “ไอเย็ดแม่มึง มึงลําเอียงเข้าข้าง ไอ้ซื่อ ตัดสินไม่ยุติธรรม” นั้น แม้ถ้อยคําดังกล่าวจะเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาทอันถือว่าเป็นการดูหมิ่น ร.ต.อ.สะอาดซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และได้กระทําโดยเจตนาก็ตาม แต่เมื่อ ร.ต.อ.สะอาดเป็นพนักงานสอบสวน คดีอาญาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่และอํานาจตัดสินคดีแพ่งแต่อย่างใด การกระทําของนายเบี้ยวจึงไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น เจ้าหนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ ดังนั้น นายเบี้ยวจึงไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
สรุป นายเบี้ยวไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
ข้อ 2 นายจันทร์และนางแรมได้รับที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของบิดาร่วมกันจํานวน 1 แปลง และ มีการนําออกให้ผู้อื่นเช่าทํานาแล้วตกลงเอาค่าเช่ามาแบ่งปันกัน แต่นายจันทร์เก็บเงินค่าเช่าจากผู้เช่าแล้วไม่ยอมแบ่งให้กับนางแรม เมื่อถูกนางแรมทวงถามฝ่ายนายจันทร์กลับท้าให้นางแรมไปฟ้องเอา นางแรมจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจันทร์เป็นจําเลยต่อศาลในข้อหายักยอกเงินค่าเช่านา ตาม ป.อ. มาตรา 352 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลจึงรับไว้พิจารณา ต่อมานายจันทร์ กลับเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางแรมต่อศาลเดียวกันในข้อหาฟ้องเท็จตาม ป.อ. มาตรา 175 กล่าวหาว่า นางแรมเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องตนต่อศาล แต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของนายจันทร์ไม่มีมูลจึง ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า นายจันทร์มีความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมตามประมวล กฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 175 “ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทําความผิดอาญา หรือว่ากระทํา ความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
ความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175 มีองค์ประกอบดังนี้ คือ
1 เอาความอันเป็นเท็จ
2 ฟ้องผู้อื่นต่อศาล
3 ว่ากระทําความผิดอาญา หรือว่ากระทําความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์เก็บเงินค่าเช่าที่ดินจากผู้เช่าแล้วไม่ยอมแบ่งให้กับนางแรมตามข้อตกลง เมื่อถูกนางแรมทวงถามฝ่ายนายจันทร์กลับท้าให้นางแรมไปฟ้องเอานั้น พฤติการณ์ของนายจันทร์ ย่อมทําให้นางแรมเข้าใจได้ว่านายจันทร์เบียดบังเอาเงินค่าเช่าที่ดินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ดังนั้น การที่นางแรม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจันทร์เป็นจําเลยต่อศาลในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลกล่าวหานายจันทร์ไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการเอาความอันเป็นเท็จฟ้องนายจันทร์แต่อย่างใด
ต่อมาการที่นายจันทร์กลับมาเป็นโจทก์ฟ้องนางแรมต่อศาลเดียวกันโดยกล่าวหาว่านางแรมเอาความอันเป็นเท็จมาฟ้องตนต่อศาล ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่นํามาฟ้องนางแรมนั้นเป็นความเท็จ การกระทําของนายจันทร์ จึงเป็นฟ้องเท็จตามมาตรา 175 และเมื่อนายจันทร์ฟ้องเท็จแล้ว แม้ศาลจะได้ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม การกระทําของนายจันทร์ก็เป็นความผิดสําเร็จตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ดังนั้น นายจันทร์จึงมีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175
สรุป นายจันทร์มีความผิดฐานฟ้องเท็จตามมาตรา 175
ข้อ 3 ชาวบ้าน 20 คน ได้จัดขบวนแห่นาคเพื่อจะไปอุปสมบทที่วัดแห่งหนึ่ง ระหว่างทางที่ขบวนแห่นาคมาถึงหน้าตลาด จําเลยเมาสุราได้ยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด เป็นเหตุให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับศาสนาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 207 “ผู้ใดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือ กระทําพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษ….”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนตามมาตรา 207 ประกอบด้วย
1 ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชน
2 เวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทําพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ
3 โดยชอบด้วยกฎหมาย
4 โดยเจตนา
สําหรับการก่อให้เกิดความวุ่นวายที่จะมีความผิดดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องเกิดในเวลาประชุมกัน ในเวลานมัสการ หรือในเวลากระทําพิธีกรรม และต้องเป็นเรื่องตามศาสนาด้วย เช่น เวลาสวดมนต์ไหว้พระ เวลาทําพิธีบรรพชาอุปสมบท และไม่จํากัดสถานที่ว่าจะต้องทําในสถานที่ใด อาจจะเป็นในบ้านก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยยิงปืนขึ้นฟ้า แม้จะทําให้ขบวนแห่นาคเกิดความโกลาหลวุ่นวาย แต่เมื่อปรากฏว่าการแห่นาคเป็นเพียงการกระทําตามประเพณีนิยม ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา การกระทําของจําเลย จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 207 เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา 207 ได้นั้น จะต้องเป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทําพิธีกรรมทางศาสนา
สรุป จําเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับศาสนาตามมาตรา 207
ข้อ 4 นางสาวหมิงมีรถยนต์ 3 คัน คันที่หนึ่งยี่ห้อ Audi หมายเลขทะเบียน ตก 5555 คันที่สองยี่ห้อ BMW หมายเลขทะเบียน สธ 9999 และคันที่สามยี่ห้อ Maserati ยังไม่มีหมายเลขทะเบียน
นางสาวหมิงได้ขับรถยนต์ยี่ห้อ Audi ผ่านมหาวิทยาลัยรามคําแหงซึ่งมีน้ำท่วมขังอยู่จนเป็นเหตุให้ ป้ายทะเบียนหลุดหายไป เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้ทําแผ่นป้ายทะเบียนขึ้นมาเองโดยมีตัวอักษรและ ตัวเลข ตก 5555 และนําไปติดไว้กับรถยนต์คันดังกล่าว
ในเวลาต่อมา นางสาวหมิงได้นําแผ่นป้ายทะเบียน สธ 9999 ของรถยนต์ยี่ห้อ BMW ซึ่งเป็น รถยนต์คันเก่าและไม่ค่อยได้ใช้งานไปติดไว้กับรถยนต์ยี่ห้อ Maserati ที่เพิ่งซื้อมาใหม่
ให้วินิจฉัยว่า นางสาวหมิงมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอน ข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสาร ที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”
มาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ…
มาตรา 268 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1 กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3 ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4 โดยเจตนา
“ตาม อุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีแรก การที่นางสาวหมิงได้ทําแผ่นป้ายทะเบียนปลอมขึ้นใหม่โดยมีตัวอักษรและตัวเลข ตก 5555 เหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนเดิมที่หลุดหายไปนั้น แม้จะเป็นการปลอมเอกสารที่ทางราชการทําขึ้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และได้กระทําโดยเจตนาก็ตาม แต่การที่นางสาวหมิงได้นําแผ่นป้ายทะเบียนปลอมมาติดไว้กับรถยนต์ยี่ห้อ Audi คันดังกล่าวของนางสาวหมิงเองนั้น ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้นนางสาวหมิงจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และเมื่อ นางสาวหมิงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยต่อไปว่าได้กระทําความผิดตามมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคหนึ่งหรือไม่
กรณีที่ 2 การที่นางสาวหมิงได้นําแผ่นป้ายทะเบียน สธ 9999 ของรถยนต์ยี่ห้อ BMW ไปติดไว้กับ รถยนต์ยี่ห้อ Maserati เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีหมายเลขทะเบียน สธ 9999 นั้น เมื่อแผ่นป้าย ทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์คันอื่น และข้อเท็จจริง ก็ไม่ปรากฏว่านางสาวหนึ่งได้ทําการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขหมายเลขทะเบียนให้ผิดไปจากของจริง แต่อย่างใด ดังนั้นแม้การกระทําของนางสาวหมิงน่าจะเกิดความเสียหายแก่ราชการก็ตาม กรณีนี้นางสาวหมิง ก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และเมื่อนางสาวหมิงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยต่อไปว่าได้กระทําความผิดตามมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคหนึ่งหรือไม่
สรุป นางสาวหมิงไม่มีความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารทั้ง 2 กรณี