การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษ”
อธิบาย
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4. โดยเจตนา
“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือด่าแช่งต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอ หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยิน ไม่เห็น หรือว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตามก็เป็นความผิด ตามมาตรา 136 นี้ได้
อย่างไรก็ดีถ้อยคําบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคําไม่สุภาพ คําหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือ เป็นคําปรารภปรับทุกข์ หรือคําโต้แย้ง คํากล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทําให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น
การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน เช่น จําเลยกล่าวต่อ ร.ต.อ.แดงว่า “ตํารวจเฮงซวย” ซึ่งในขณะนั้น ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทําธุรกิจส่วนตัว ดังนี้ จําเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะในขณะที่ดูหมินนั้น ร.ต.อ.แดงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน
อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณี ต่อไปนี้คือ
(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่ ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือ เกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้
“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วัน นายขาว พบเจ้าพนักงานตํารวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้นายขาวมีความผิดฐาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136
การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “โดยเจตนา” กล่าวคือ เป็นการกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
ตัวอย่าง ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงาน ตํารวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตํารวจคนนั้นว่า “แกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นทําไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคําดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทําต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทําการ ตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อํานาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตํารวจกําลังนั่งรับประทานอาหารกับภริยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จําเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตํารวจแต่ไม่ได้ จําเลยจึงกล่าวว่า “กูจะเอาให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคําดังกล่าวจะมีลักษณะ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นเวลานอกราชการ อันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136
ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร (มาตรา 264 วรรคหนึ่ง) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร…”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว ความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบของความผิดดังนี้ คือ
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา
1. กระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
ผู้กระทําจะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งนี้ได้ จะต้องมีการกระทําอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ คือ
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
“ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ” หมายความว่า ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดเชื่อว่ามีผู้อื่นทําเอกสารนั้นขึ้น โดยที่ไม่มีเอกสารอันแท้จริงอยู่เลย หรือโดยมีเอกสารอันแท้จริงอยู่ก็ได้ แต่ผู้กระทําไม่มีอํานาจที่จะกระทําได้ เพราะ “การทําเอกสารปลอมขึ้นแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด” หมายความว่า ทําเอกสารปลอมขึ้นมา แต่เพียงบางส่วนโดยผู้กระทําไม่มีอํานาจที่จะทําได้ เช่น เอกสารที่ทําขึ้นแท้จริง แต่ยังไม่เสร็จ ผู้กระทําไปปลอมข้อความต่อไปจนเสร็จ หรือการทําเอกสารปลอมขึ้นแต่ยังไม่เสร็จ ก็ถือเป็นการปลอมเอกสารบางส่วนเช่นกัน
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง
การเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริงหมายความว่า มีเอกสารแท้จริงอยู่แล้ว ผู้ปลอมได้เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ใน เอกสารที่แท้จริงนั้น โดยทําให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีการเติมหรือตัดทอนหรือแก้ไขมาแต่เดิม ดังนั้น การกระทําแก่เอกสารปลอม ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร
ซึ่งการเติม ตัดทอน หรือแก้ไขข้อความนั้น จะต้องเป็นการกระทําในส่วนที่เป็น สาระสําคัญของเอกสารที่แท้จริงนั้นด้วย และผู้กระทําไม่มีอํานาจที่จะกระทําได้ ดังนั้น หากเป็นการเติมหรือตัดทอน หรือแก้ไขข้อความที่ไม่มีความสําคัญ ซึ่งจะเติมหรือแก้ไขหรือไม่ ความหมายก็คงเดิม หรือผู้กระทํามีอํานาจที่จะ กระทําได้แล้วย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
การประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารนั้น จะกระทําต่อเอกสารที่ แท้จริงหรือเอกสารปลอมก็ได้ เพราะกฎหมายใช้คําว่า “ในเอกสาร” ไม่ใช่ “ในเอกสารที่แท้จริง”
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวนั้น จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารได้ จะต้องกระทําโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย กล่าวคือ เพียงแต่น่าจะเกิดความเสียหายเท่านั้น แม้จะยังไม่เกิดความเสียหาย ก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว แต่ถ้าการกระทําดังกล่าวไม่อยู่ในประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
การปลอมเอกสารที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทําจะต้องมีมูลเหตุจูงใจหรือเจตนาพิเศษ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารที่ปลอมนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีผู้หลงเชื่อตามเอกสารที่ปลอมหรือไม่ก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว
4. โดยเจตนา
การกระทําตาม 1. 2. และ 3. นั้น ผู้กระทําจะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องได้กระทําโดยเจตนา กล่าวคือ มีเจตนาในการปลอมเอกสารดังกล่าว และรู้ด้วยว่าตนไม่มี อํานาจที่จะกระทําได้
ตัวอย่าง การกระทําที่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
นายดําไม่เคยกู้เงินจําเลย วันเกิดเหตุจําเลยนํากระดาษมาแผ่นหนึ่งเขียนข้อความลงไปว่านายดํากู้ยืมเงินจําเลย 100,000 บาท จากนั้นจําเลยก็เซ็นชื่อคําว่า “ดํา” ลงไปในช่องผู้กู้ หลังจากที่จําเลยเขียนข้อความดังกล่าวเสร็จแล้วได้นําสัญญาฉบับนั้นไปเรียกเก็บเงินจากนายดํา ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าจําเลย ไม่มีอํานาจที่จะกระทําได้ การกระทําของจําเลยจึงถือเป็นการทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ มีความผิดตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง
ตัวอย่าง การกระทําที่ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
จําเลยแก้ตัวเลขในสลากกินแบ่ง 1 ตัว ให้เป็นหมายเลขที่ถูกรางวัลเพื่อให้เพื่อนเลี้ยงอาหารจําเลย แล้วจําเลยทิ้งสลากกินแบ่งในถังขยะในบ้าน มีผู้เก็บสลากกินแบ่งนั้นไปขอรับรางวัลนอกความรู้เห็นของจําเลย ดังนี้ การหลอกให้เลี้ยงอาหารเป็นการล้อเล่นระหว่างเพื่อนฝูง ซึ่งทํากันอยู่เป็นปกติ ไม่เป็นความเสียหายแก่ ประชาชนหรือเพื่อนของจําเลย จําเลยย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร (ฎีกาที่ 1568/2521)
ข้อ 3. หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เเละหกนักศึกษารุ่นพี่นั่งประชุมปรึกษากันว่าจะรับน้องใหม่กันอย่างไร หนึ่งเสนอความเห็นว่ารับน้องใหม่ปีนี้ต้องเอาคืนเพราะปีที่แล้วถูกรุ่นพี่รับหนักมาก ปีนี้น้องใหม่คนไหนไม่ร่วมมือกับพวกเรา ให้ซ้อมเตะ กระทืบได้เลย ก่อนซ้อมก็ให้เอาถุงผ้าคลุมหัวจะได้ไม่เห็นหน้าคนซ้อม ทุกคนที่ประชุมกันพูดว่าเอาด้วย ยกเว้นหกพูดว่าทําอย่างนี้ไม่ได้ พวกเราโตๆ กันแล้ว รับน้องแบบสุภาพเรียบร้อยดีกว่า หนึ่งโกรธไล่หกให้กลับบ้าน ดังนี้ หนึ่งและหก จะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 210 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิดฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นช่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. สมคบกัน
2. ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
4. โดยเจตนา
“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ
(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด
การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร
“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น
“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูง เป็นอัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทําความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย
“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และหกได้ประชุมกันว่าในการรับน้องใหม่ปีนี้ น้องใหม่คนไหนไม่ร่วมมือให้ซ้อมเตะและกระทืบได้เลยนั้น แม้ว่าหกจะคัดค้านไม่เห็นด้วย แต่ก็ถือว่าได้มีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปแล้ว และเมื่อมีเจตนาสมคบกันเพื่อกระทําความผิดฐานทําร้ายผู้อื่นตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 295 ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 และเป็นความผิดที่มีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ดังนั้น หนึ่ง สอง สาม สี่ และห้าจึงมีความผิดฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง แม้ว่าทั้ง 5 คน จะยังมิได้กระทําความผิดตามที่สมคบกันก็ตาม ส่วนหกนั้นเมื่อได้คัดค้านไม่เห็นด้วย จึงไม่ถือว่า หกได้สมคบกันกับทั้ง 5 คน แต่อย่างใด หกจึงไม่มีความผิดฐานซ่องโจร
สรุป
หนึ่งมีความผิดอาญาฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ส่วนหกไม่มีความผิด อาญาฐานใดเลย
ข้อ 4. จ.ส.ต.ขยันตํารวจสายตรวจเดินตรวจท้องที่เห็นดํากับขาววัยรุ่นเดินผ่านมา จึงขอคุมตัวดําเพราะดําหน้าคล้ายผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล และถือโอกาสแกล้งจับขาวเพราะโกรธขาวที่ไม่ยอมให้ยืมเงินไปเล่นการพนัน ดังนี้ จ.ส.ต.ขยันจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา
“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ หรือเจ้าพนักงานตํารวจตรวจค้นตัวผู้ต้องสงสัย ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่กลับคุมตัวไปอีกสถานที่หนึ่ง เป็นต้น
ซึ่งการจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้นั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุจูงใจพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว
“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีการขอคุมตัวดํา การที่ จ.ส.ต.ขยันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจสายตรวจได้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเดินตรวจท้องที่ เมื่อเห็นดําซึ่งมีหน้าคล้ายผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจึงได้ขอคุมตัวดํานั้นถือว่าเป็นกรณี ที่เจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบแล้ว เพราะเจ้าพนักงานตํารวจมีอํานาจที่จะจับหรือควบคุมตัวผู้ต้องหา ตามหมายจับของศาล อีกทั้งการกระทําของ จ.ส.ต.ขยันก็มิได้เป็นการกระทําเพื่อแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่ดําแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้ จ.ส.ต.ขยันจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157
กรณีการจับขาว การที่ จ.ส.ต.ขยันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยการขอคุมตัวดําไว้ และได้ถือโอกาสแกล้งจับขาวซึ่งเดินมากับดํา เพราะโกรธขาวที่ไม่ยอมให้ยืมเงินไปเล่นการพนันนั้นจะเห็นได้ว่า กรณีการที่ จ.ส.ต.ขยันได้จับขาวนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ขาวแล้ว และเมื่อได้กระทําโดยเจตนา การกระทําของ จ.ส.ต.ขยันจึงครบองค์ประกอบตามมาตรา 157 ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น จ.ส.ต.ขยันจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157
สรุป
จ.ส.ต.ขยันมีความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 (กรณีแกล้งจับขาว)