การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา
ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. อย่างไรเป็นความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144) และอย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136) จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่าง
ธงคําตอบ

Advertisement

1. ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน (มาตรา 144)
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษ..”

อธิบาย
ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังกล่าว สามารถแยกองค์ประกอบ ความผิดได้ดังนี้

1. ผู้ใด
2. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
3. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
4. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
5. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
6. กระทําโดยเจตนา

“ให้” หมายถึง มีการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และเจ้าพนักงานได้รับเอาไว้แล้ว ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้กระทําได้ให้แก่เจ้าพนักงานเอง หรือเจ้าพนักงานได้เรียกเอาและผู้นั้นได้ให้ไป
“ขอให้” หมายถึง เสนอจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์แก่เจ้าพนักงาน เช่น เอ่ยปากขอให้เงินแก่เจ้าพนักงาน แม้เจ้าพนักงานยังไม่ได้ตกลงว่าจะรับก็เป็นความผิดสําเร็จแล้ว

“รับว่าจะให้” หมายถึง เจ้าพนักงานเป็นฝ่ายเรียกก่อน แล้วผู้กระทําก็รับปากกับเจ้าพนักงาน ว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เป็นความผิดสําเร็จทันทีนับแต่รับว่าจะให้ ส่วนทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น จะให้แล้วหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสําคัญ

สิ่งที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้นั้นจะต้องเป็น “ทรัพย์สิน” เช่น เงิน แหวน รถยนต์ เป็นต้น หรือ “ประโยชน์อื่นใด” ที่ไม่ใช่ทรัพย์สิน เช่น ให้อยู่บ้านหรือให้ใช้รถโดยไม่เสียค่าเช่า หรือยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย เป็นต้น

การกระทําตามมาตรานี้ต้องเป็นการกระทําต่อ “เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล” เท่านั้น และบุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ด้วย ถ้าหากกระทําต่อบุคคลอื่นนอกจากนี้แล้ว หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีอํานาจหน้าที่หรือพ้นจากอํานาจหน้าที่ย่อมไม่เป็น ความผิดตามมาตรานี้

ในเรื่องเจตนา ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 กล่าวคือรู้ว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าพนักงาน หรือสมาชิกแห่งสภา ถ้าผู้กระทําไม่รู้ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ทั้งนี้ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุ ชักจูงใจเพื่อการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วย คือ

(ก) ให้กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้เงินเพื่อให้ตํารวจจับคนที่ไม่ได้กระทําความผิด
(ข) ไม่กระทําการ อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ตํารวจจะจับกุม ผู้กระทําผิด จึงให้เงินแก่ตํารวจนั้นเพื่อไม่ให้ทําการจับกุมตามหน้าที่
(ค) ประวิงการกระทํา อันมิชอบด้วยหน้าที่ เช่น ให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานสอบสวนให้ระงับการสอบสวนไว้ก่อน

ดังนั้นถ้าหากมีเหตุจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันชอบด้วยหน้าที่แล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 นี้ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจไม่จับกุมผู้กระทําผิดกฎหมาย จําเลยให้เงินตํารวจ เพื่อให้ทําการจับกุม กรณีนี้จําเลยไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการให้ทรัพย์สิน มีมูลเหตุจูงใจให้กระทําการอันชอบด้วยหน้าที่

ตัวอย่างความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

นายแดงถูก ส.ต.อ.ขาวจับกุมในข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง จึงเสนอจะยกลูกสาวของตน ให้กับ ส.ต.อ.ขาว เพื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่ ส.ต.อ.ขาวยังไม่ได้ตกลงตามที่นายแดงเสนอ เช่นนี้ถือว่านายแดงขอให้ประโยชน์อันใดนอกจากทรัพย์สินแก่ ส.ต.อ.ขาวเจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยเจตนา นายแดงจึงมีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 อันเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

แต่ถ้ากรณีเป็นว่านายแดงถูกฟ้องเป็นจําเลย นายแดงทราบว่า ส.ต.อ.ขาวจะต้องไปเป็นพยานตามหมายเรียกของศาล จึงขอยกลูกสาวให้ ส.ต.อ.ขาวเพื่อให้ ส.ต.อ.ขาวเบิกความผิดจากความจริง ดังนี้นายแดง ไม่มีความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 เพราะการเบิกความเป็นหน้าที่อย่างเดียวกับประชาชน ทั่วไป ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ จึงมิใช่การให้ประโยชน์อันใดเพื่อจูงใจให้กระทําการด้วยหน้าที่อันมิชอบ (คําพิพากษาฎีกาที่ 439/2469)

2. ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน (มาตรา 136)
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตาม หน้าที่ ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้ 1. ผู้ใด
2. ดูหมิน
3. เจ้าพนักงาน
4. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
5. กระทําโดยเจตนา

“ดูหมิ่น” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือ ด่าแช่งต่อผู้ถูกกระทํา ซึ่งอาจจะกระทําโดยวาจา กิริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ การดูหมิ่นด้วยวาจา เช่น พูดจาด่าทอ หรือด้วยกิริยาท่าทางก็เช่น ยกส้นเท้าให้ หรือถ่มน้ำลายรด เป็นต้น

ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยิน ไม่เห็น หรือว่าเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตามก็เป็นความผิด ตามมาตรา 136 นี้ได้

อย่างไรก็ดีถ้อยคําบางอย่างนั้น แม้ว่าจะเป็นคําไม่สุภาพ คําหยาบ ไม่สมควรจะกล่าว หรือ เป็นคําปรารภปรับทุกข์ หรือคําโต้แย้ง คํากล่าวติชมตามปกติ หากไม่ทําให้ผู้เสียหายถูกดูถูก เหยียดหยาม สบประมาท หรือได้รับความอับอายขายหน้า ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “เจ้าพนักงาน” ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิด ตามมาตรา 136 ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงาน อยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตําแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน เช่น จําเลยกล่าวต่อ ร.ต.อ.แดงว่า “ตํารวจเฮงซวย” ซึ่งในขณะนั้น ร.ต.อ.แดงได้ลาออกจากราชการเพื่อไปทําธุรกิจส่วนตัว ดังนี้ จําเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน เพราะในขณะที่ดูหมิ่นนั้น ร.ต.อ.แดงไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน

อนึ่ง การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 นี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ 2 กรณี ต่อไปนี้คือ
(ก) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือ
(ข) ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่

“ซึ่งกระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทําการตามหน้าที่ ซึ่งกฎหมายได้ให้อํานาจไว้ ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทําการนอกเหนืออํานาจหน้าที่หรือ เกินขอบเขต ย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

“เพราะได้กระทําการตามหน้าที่” หมายความว่า ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทําการตามหน้าที่แล้ว เช่น เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายแดง แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง ต่อมาอีก 3 วัน นายขาว พบเจ้าพนักงานตํารวจผู้นั้นโดยบังเอิญ จึงด่าทอดูหมิ่น เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน เช่นนี้นายขาวมีความผิดฐาน ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการดูหมิ่น “โดยเจตนา” กล่าวคือ เป็นการ กล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมินเป็นเจ้าพนักงาน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่าง ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136
นายดวงดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้ ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุม นายดวงไม่พอใจ จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตํารวจคนนั้นว่า “แกล้งจับกูคนเดียว คนอื่นทําไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคําดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทําต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทําการ ตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อํานาจไว้โดยเจตนา นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า ขณะเจ้าพนักงานตํารวจกําลังนั่งรับประทานอาหารกับภริยาที่บ้านพัก โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ จําเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตํารวจ แต่ไม่ได้ จําเลยจึงกล่าวว่า “กูจะเอาให้ย้ายภายในเจ็ดวัน อ้ายย้ายยังไม่แน่ ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ” เช่นนี้แม้ถ้อยคําดังกล่าวจะมีลักษณะ เป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่ แต่เป็นเวลานอกราชการ อันเป็นการส่วนตัว จึงถือไม่ได้ว่าจําเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ตามมาตรา 136

 

ข้อ 2. หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และหกไม่พอใจที่นักศึกษารุ่นน้องถูกคู่อริยิงตายจึงปรึกษากันว่าจะทําอย่างไรดี หนึ่งเสนอว่าต้องแก้แค้นเอาคืนเจอพวกมันที่ไหนฆ่ามันเลย ทุกคนจับมือตกลงเอาด้วย ยกเว้นหก ที่ไม่เอาด้วยโดยบอกว่าไม่ใช่วิธีที่คนเรียนหนังสือเขาทํากัน ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน หนึ่งได้สติ โทรศัพท์ไปบอกทุกคนว่าที่ตกลงกันจะไปฆ่า ยกเลิก หกมันพูดถูก แต่สอง สาม และสี่ไม่ยอมเลิก ดังนี้ ทุกคนจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 210 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานเป็นซ่องโจร ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ 1. ผู้ใด
2. สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
3. เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2
4. ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
5. กระทําโดยเจตนา

“การสมคบกัน” ที่จะเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจรนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สําคัญ 2 ประการ คือ
(ก) จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน และ
(ข) จะต้องมีการตกลงร่วมกันว่าจะกระทําความผิด

การสมคบกันนั้น จะต้องสมคบกัน “ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป” จึงจะเป็นความผิด ดังนั้นจะมากกว่า 5 คน หรือ 5 คนพอดี ก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่าห้าคนแล้วไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร

“เพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2” หมายความว่า ความผิดนั้น ต้องเป็นความผิดตามภาค 2 ได้แก่ ความผิดตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 366 เช่น ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆ่าคนตาย วางเพลิงเผาทรัพย์ เป็นต้น

“ความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป” หมายความว่า โทษอย่างสูง เป็นอัตราโทษอย่างสูงตามที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ ซึ่งมิใช่โทษที่ศาลจะลงแก่ผู้กระทําความผิด ทั้งนี้จะต้องมีกําหนดโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปด้วย

“โดยเจตนา” หมายความว่า รู้สํานึกว่าเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แต่ไม่จําเป็นต้องรู้ว่าความผิดที่จะกระทํานั้นมีโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปหรือไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า และหก ไม่พอใจที่นักศึกษารุ่นน้องถูกคู่อริยิงตาย จึงปรึกษากันว่าจะทําอย่างไรดี โดยหนึ่งเสนอว่าต้องแก้แค้นเอาคืนเจอพวกมันที่ไหนฆ่ามันเลย ทุกคนจับมือตกลง เอาด้วย ยกเว้นหกที่ไม่เอาด้วยนั้น เมื่อการสมคบกันเพื่อที่จะฆ่าคู่อร์นั้นเป็นการสมคบกันโดยมีจํานวน 5 คนแล้ว

และเป็นการสมคบกันเพื่อกระทําความผิดฐานฆ่าคนตายซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 และความผิดนั้นมีกําหนดโทษจําคุกอย่างสูงตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และเมื่อได้กระทําโดยเจตนา และโดยมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อกระทําความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 จึงครบองค์ประกอบของ ความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ดังนั้น หนึ่ง สอง สาม สี่ และห้าจึงมีความผิดฐานซ่องโจร ตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง

แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าทั้ง 5 คน จะยังมิได้กระทําความผิดตามที่สมคบกัน เนื่องจากต่อมาหนึ่งได้โทรศัพท์ไปบอกทุกคนว่าที่ตกลงกันว่าจะไปฆ่านั้นให้ยกเลิกก็ตาม เพราะความผิดอาญา ฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่งนั้น ย่อมถือว่าเป็นความผิดสําเร็จแล้วนับตั้งแต่ที่ได้มีการสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อไปกระทําความผิดฯ ดังกล่าว ส่วนหกนั้นเมื่อได้คัดค้านไม่เห็นด้วย จึงไม่ถือว่าหกได้สมคบกันกับ ทั้ง 5 คน แต่อย่างใด ดังนั้น หกจึงไม่มีความผิดฐานซ่องโจร

สรุป
หนึ่ง สอง สาม สี่ และห้า มีความผิดอาญาฐานซ่องโจรตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ส่วนหกไม่มีความผิดอาญาฐานใดเลย

 

ข้อ 3. นายสาและนางสีจดทะเบียนสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย นายสาและนางสีได้ร่วมกันซื้อบ้านหลังหนึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ขนาด 2 ห้องนอน นายสาและนางสีนอนคนละห้อง วันเกิดเหตุ นายสา จุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป ปรากฏว่าบุหรี่ไหม้พื้นห้องแล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสา นายสารู้สึกตัวตื่นขึ้นดับไฟได้ทันก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกําลังนอนหลับอยู่ในเวลานั้น ดังนี้ นายสามีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 225 “ผู้ใดกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทําโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225 ประกอบด้วย
1. กระทําให้เกิดเพลิงไหม้
2. โดยประมาท
3. เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

“กระทําให้เกิดเพลิงไหม้” หมายถึง กระทําให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์หรือวัตถุใด ๆ อาจเป็นทรัพย์ของตนเอง หรือทรัพย์ของผู้อื่น หรือวัตถุที่ไม่มีเจ้าของ

“โดยประมาท” หมายถึง การกระทําความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทําโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทําอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

กระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท เช่น ใช้เตาไฟฟ้าทําอาหารแล้วลืมถอดปลั๊กออกทําให้เกิดเพลิงไหม้ จุดบุหรี่สูบบนที่นอนแล้วหลับไป ทําให้บุหรี่ไหม้ที่นอน เป็นต้น

“เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น” คือ การทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้น ต้องเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายและต้องเสียหายจริง ๆ ประการหนึ่ง หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่นอีกประการหนึ่งจึงจะมีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสาจุดบุหรี่สูบในห้องนอนแล้วเผลอหลับไป ทําให้บุหรี่ไหม้พื้นห้อง แล้วลุกลามไหม้ห้องของนายสานั้น การกระทําของนายสาถือว่าเป็นการกระทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทแล้ว และแม้ว่านายสาจะรู้สึกตัวตื่นขึ้นและดับไฟได้ทันก่อนที่จะลุกลามไปไหม้ห้องของนางสีซึ่งกําลังนอนหลับอยู่ใน เวลานั้น การกระทําของนายสาที่ทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทนั้นได้เข้าองค์ประกอบของความผิดที่ว่า น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่นแล้ว แม้ว่าตามข้อเท็จจริงนางสีจะไม่ได้รับอันตรายใดๆ ก็ตาม ดังนั้นการกระทําของ นายสาจึงครบองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 225 นายสาจึงมีความผิดฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท ตามมาตรา 225

สรุป
นายสามีความผิดฐานทําให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทตามมาตรา 225

 

ข้อ 4. นางสาววุ้นเส้นมีรถยนต์ 3 คัน คันที่หนึ่งยี่ห้อ Audi หมายเลขทะเบียน ตก 5555 คันที่สองยี่ห้อ Benz หมายเลขทะเบียน ตด 8888 คันที่สามยี่ห้อ BMW ยังไม่มีหมายเลขทะเบียน นางสาววุ้นเส้นได้ขับรถยนต์ยี่ห้อ Audi ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยรามคําแหงซึ่งมีน้ำท่วมขังอยู่จนเป็นเหตุให้แผ่นป้ายทะเบียนหลุดหายไป เมื่อกลับถึงบ้านจึงได้ทําแผ่นป้ายทะเบียนปลอมขึ้นมา โดยมีตัวอักษรและตัวเลข ตก 5555 เหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนเดิมที่หลุดหายไป และนําไปติดไว้ กับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริง ในเวลาต่อมา นางสาววุ้นเส้นได้นําแผ่นป้ายทะเบียน ตด 8888 ของรถยนต์ยี่ห้อ Benz ซึ่งเป็นรถยนต์คันเก่าและไม่ค่อยได้ใช้งานไปติดไว้กับรถยนต์ยี่ห้อ BMW ที่เพิ่งซื้อมาใหม่เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีหมายเลขทะเบียน ตด 8888 ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางสาววุ้นเส้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือ ตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม ในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่า เป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ”

มาตรา 265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 268 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทําความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษ ยังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ”

วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย
1. กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ
(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
3. ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
4. โดยเจตนา กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีแรก การที่นางสาววุ้นเส้นได้ทําแผ่นป้ายทะเบียนปลอมขึ้นใหม่โดยมีตัวอักษรและ ตัวเลข ตก 5555 เหมือนกับแผ่นป้ายทะเบียนเดิมที่หลุดหายไปนั้น แม้จะเป็นการปลอมเอกสารที่ทางราชการทําขึ้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และได้กระทําโดยเจตนาก็ตาม แต่การที่นางสาววุ้นเส้นได้นําแผ่นป้ายทะเบียนปลอมมาติดไว้กับรถยนต์ยี่ห้อ Audi คันดังกล่าวของนางสาววุ้นเส้นเองนั้น ไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ดังนั้นนางสาววุ้นเส้นจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และเมื่อนางสาววุ้นเส้นไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยต่อไปว่าได้กระทําความผิดตาม มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคหนึ่งหรือไม่

กรณีที่ 2 การที่นางสาววุ้นเส้นได้นําแผ่นป้ายทะเบียน ตด 8888 ของรถยนต์ยี่ห้อ Benz ไปติดไว้กับรถยนต์ยี่ห้อ BMW เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวมีหมายเลขทะเบียน ตด 8888 นั้น เมื่อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์คันอื่น และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่านางสาววุ้นเส้นได้ทําการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขหมายเลขทะเบียนให้ผิดไปจากของจริงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้การกระทําของนางสาววุ้นเส้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ราชการก็ตาม กรณีนี้ นางสาววุ้นเส้นก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง และเมื่อนางสาววุ้นเส้นไม่มีความผิด ฐานปลอมเอกสารแล้ว จึงไม่จําต้องวินิจฉัยต่อไปว่าได้กระทําความผิดตามมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคหนึ่งหรือไม่

สรุป
นางสาววุ้นเส้นไม่มีความผิดอาญาฐานปลอมเอกสารทั้ง 2 กรณี

Advertisement