การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2007 กฎหมายอาญา 2
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. ดําขับรถมอเตอร์ไซด์ไม่สวมหมวกกันน็อก รถไม่มีป้ายทะเบียน ขับเปลี่ยนเลนกะทันหัน จ.ส.ต.เฉย ตํารวจจราจรซึ่งโบกรถอยู่หน้า กกท. เห็นเหตุการณ์ เรียกดําให้หยุดรถ ขอดูใบขับขี่ แจ้งข้อหาขับรถผิดกฎจราจรให้ดําทราบ ดําโกรธพูดว่าไอ้สัตว์ เก่งแต่จับมอเตอร์ไซด์ เฮงซวย แม่งเดี่ยวกับกูไม๊ จ.ส.ต.เฉยไม่โต้ตอบ ถ่ายคลิปไว้ แดงแม่ของดําเห็นเหตุการณ์ตลอด เดินเข้าไปพูดกับ จ.ส.ต.เฉยว่า จ่าฯ สงสารเถอะเขายังอายุน้อย เอาทุเรียนลูกนี้ไปกินแล้วปล่อยเขาไปเอาบุญ จ.ส.ต.เฉยไม่รับ ดังนี้ ดําและแดงจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

Advertisement

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 136 “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 144 “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทําการตามหน้าที่
4. โดยเจตนา

ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 มีองค์ประกอบของความผิด ดังนี้
1. ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้
2. ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด
3. แก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล
4. เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิ่งการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่
5. โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดําพูดกับ จ.ส.ต.เฉยว่าไอ้สัตว์ เก่งแต่จับมอเตอร์ไซด์ เฮงซวย แม่งเกี่ยวกับกูไม๊นั้น คําพูดต่างๆ ที่ดําพูด ถือว่าเป็นคําพูดที่เป็นการดูถูกเหยียดหยาม จ.ส.ต.เฉย เจ้าพนักงาน ซึ่งกระทําการตามหน้าที่ และเมื่อดําด่าด้วยความโกรธจึงเป็นการกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผล เมื่อการกระทําของดําครบองค์ประกอบของความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 ดังนั้น ดําจึงมีความผิดอาญา ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136

ส่วนการที่แดงแม่ของดํา เดินเข้าไปพูดกับ จ.ส.ต.เฉยว่า จ่าฯ สงสารเถอะเขายังอายุน้อย เอาทุเรียนลูกนี้ไปกินแล้วปล่อยเขาไปเอาบุญ แต่ จ.ส.ต.เฉยไม่รับนั้น การกระทําของแดงถือเป็นการเสนอจะให้ ซึ่งเป็นการ “ขอให้” ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทําการอันมิชอบด้วยหน้าที่แล้ว และเมื่อแดง ได้กระทําไปโดยเจตนาประสงค์ต่อผล การกระทําของนายแดงจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานให้สินบน แก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144 ดังนั้น แดงจึงมีความผิดอาญาฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

สรุป
ดํามีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 ส่วนแดงมีความผิดฐานให้สินบน แก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 144

 

ข้อ 2. อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยทุจริต (มาตรา 157) จงอธิบาย

หลักกฎหมาย ยกตัวอย่างและเหตุผลประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ”

อธิบาย
มาตรานี้ กฎหมายบัญญัติการกระทําอันเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้น ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
4. โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอัน มิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การงดเว้นกระทําการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น

ดังนั้นถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่ หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จําเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอ ที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําต้องปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
1. เป็นเจ้าพนักงาน
2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
3. โดยทุจริต
4. โดยเจตนา
“โดยทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเอง หรือผู้อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทําขาดเจตนาทุจริตแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม และโดยไม่ต้องคํานึงถึงว่าจะเกิดความเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทําโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็น ความผิด

“ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจํานวน ที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะ ในการรังวัดแล้ว มิได้นําเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดําเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ 3. นายสุดหล่อเช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัทออโต้คาร์ โดยสัญญาเช่าซื้อมีกําหนดระยะเวลา 2 ปี หลังจากเช่าซื้อไปได้ 1 เดือน นายสุดหล่อเกิดความไม่พอใจในรถยนต์ จึงใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์ จากนั้นก็จุดไฟโยนลงไป ปรากฏว่าไฟไหม้รถยนต์ได้รับความเสียหายทั้งคัน ดังนั้น นายสุดหล่อมีความผิดฐานวางเพลิงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 217 “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย ความผิดตามมาตรา 217 ดังกล่าว แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. วางเพลิงเผา
2. ทรัพย์ของผู้อื่น
3. โดยเจตนา
“วางเพลิงเผา” หมายถึง การกระทําให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ไม่ว่าจะกระทําด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม เช่น ใช้ไม้ขีดไฟจุดไฟเผา ใช้เลนส์ส่องทํามุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันเพื่อให้เกิดไฟ เป็นต้น ซึ่งการทําให้เกิดเพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือเป็นความผิดสําเร็จแล้ว

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา “ทรัพย์ของผู้อื่น” เท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ ดังนั้นถ้าเป็นการวางเพลิงเผาทรัพย์ ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องกระทํา “โดยเจตนา” คือ มีเจตนาหรือ มีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุดหล่อได้เช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงมาจากบริษัทออโต้คาร์ และเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อรถยนต์นั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อจนกว่าผู้เช่าซื้อจะชําระราคาครบถ้วน เมื่อนายสุดหล่อยังชําระราคาไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังเป็นของบริษัทออโต้คาร์ ซึ่งถือว่าเป็นของผู้อื่น ดังนั้นการที่นายสุดหล่อใช้น้ำมันเบนซินราดไปที่รถยนต์และจุดไฟโยนลงไป ทําให้ไฟไหม้รถยนต์ ได้รับความเสียหายทั้งคัน จึงถือว่านายสุดหล่อได้วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแล้ว และเมื่อนายสุดหล่อได้กระทําไปโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผล นายสุดหล่อจึงมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217

สรุป
นายสุดหล่อมีความผิดอาญาฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นตามมาตรา 217

 

ข้อ 4. จําเลยเก็บธนบัตรปลอม ฉบับละ 100 บาท ได้ใบหนึ่ง โดยจําเลยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม จากนั้นจําเลยได้ตกแต่ง ดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท ดังนี้จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับเงินตราหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 240 “ผู้ใดทําปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา ไม่ว่าจะปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อํานาจให้ออกใช้ หรือทําปลอมขึ้นซึ่งพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสําคัญ สําหรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้น ๆ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเงินตรา ต้องระวางโทษ”

มาตรา 241 “ผู้ใดแปลงเงินตรา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อํานาจให้ออกใช้ หรือแปลงพันธบัตรรัฐบาล หรือใบสําคัญสําหรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงกว่าจริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานแปลงเงินตรา ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย
ความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240 แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้
1. ทําปลอมขึ้น
2. ซึ่งเงินตรา ไม่ว่าเพื่อให้เป็นเหรียญกษาปณ์ ธนบัตร หรือสิ่งอื่นใดซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือ ให้อํานาจให้ออกใช้หรือพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสําคัญสําหรับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล
3. โดยเจตนา

“ทําปลอมขึ้น” หมายความว่า การเอาสิ่งของมาทําเทียมขึ้นเพื่อให้เหมือนของจริง ซึ่งเมื่อผู้กระทําได้กระทําการปลอมขึ้นเพื่อให้เป็นเงินตราหรือธนบัตรก็ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้แล้ว ส่วนบุคคลอื่น จะหลงเชื่อว่าเป็นของแท้หรือไม่ ไม่สําคัญ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยเก็บธนบัตรปลอมฉบับละ 100 บาท ได้ใบหนึ่ง ธนบัตรปลอม ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นสิ่งของเมื่อจําเลยได้ตกแต่ง แก้ไข เพิ่มเติม จนกลายเป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท จึงเป็นการเอาสิ่งของมาทําเทียมเพื่อให้เหมือนของจริงโดยไม่มีอํานาจ การกระทําของจําเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240

อนึ่ง การกระทําของจําเลยไม่มีความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241 เพราะการที่จะเป็นความผิดฐานแปลงเงินตราตามมาตรา 241 จะต้องเป็นการตกแต่ง ดัดแปลง แก้ไข เพิ่มเติม ธนบัตรของจริง ให้ผิดไปจากเดิม เพื่อให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีมูลค่าสูงขึ้น แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทําต่อธนบัตรปลอม จึงไม่เข้า หลักเกณฑ์มาตรา 241

สรุป
จําเลยมีความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240

Advertisement